เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยมี บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 13,128,100 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 4.38% ซึ่งส่งผลให้เถ้าแก่น้อยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 3
ภายหลังการปรับโครงสร้างดังกล่าว ส่งผลให้ลำดับผู้ถือหุ้น 3 อันดับแรก เปลี่ยนแปลงไปดังต่อไปนี้
- บริษัท เจ้าสัว กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด จำนวน 136,800,000 หุ้น สัดส่วน 45.60%
- LGT BANK (SINGAPORE) LTD2 จำนวน 16,000,000 หุ้น สัดส่วน 5.33%
- เถ้าแก่น้อย TKN จำนวน 13,128,100 หุ้น สัดส่วน 4.38%
ทั้งนี้ เจ้าสัวฯ ย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอำนาจการควบคุม โครงสร้างคณะกรรมการและผู้บริหาร ตลอดจนนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทแต่อย่างใด
ด้าน ณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ CHAO กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ทั้งสองบริษัทอยู่ในตลาดขนมขบเคี้ยวเหมือนกัน และมีการพูดคุยกับทีมผู้บริหารเถ้าแก่น้อยมาแล้วหลายปีแล้ว การที่เถ้าแก่น้อยเข้ามาถือหุ้นเจ้าสัวถือเป็นสัญญาณบวกเพื่อหาโอกาสสร้างการเติบโตร่วมกัน
ในมุมของกลยุทธ์ ‘เจ้าสัว’ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกาะไปตามเทรนด์ผู้บริโภค เบื้องต้นอยู่ระหว่างการเตรียมพัฒนาสินค้าร่วมกันกับเถ้าแก่น้อย คาดว่าจะได้เห็นในปีนี้
รวมถึงการเดินหน้าบุกตลาดต่างประเทศต่อไป หลังจากปีที่ผ่านมาได้ส่งออกไปกว่า 20 ประเทศ แต่จากนี้เมื่อมีเถ้าแก่น้อยเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจจะช่วยให้เจ้าสัวแข็งแกร่งมากขึ้น เนื่องจากเถ้าแก่น้อยนั้นมีจุดแข็งด้านการทำตลาดในต่างประเทศ ซึ่งจุดแข็งเหล่านั้นจะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เจ้าสัวสามารถขยายไปในประเทศที่มีโอกาสในการเติบโตมากขึ้น
ณภัทรกล่าวต่อถึงผลกระทบจากกำแพงภาษีทรัมป์ ที่ผ่านมาเจ้าสัวโฟกัสตลาดจีนกับสหรัฐฯ อย่างมาก โดยหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขึ้นภาษีรอบใหม่ แรกๆ ก็มองว่าเจ้าสัวจะกระทบมาก แต่เมื่อมาดูที่สัดส่วนส่งออกเรายังถือว่าน้อยอยู่ประมาณ 6% โดยช่วงนี้ยังอยู่ระหว่างรอความชัดเจนด้านภาษี
ขณะเดียวกันบริษัทได้ปรับแผนงานเพื่อรองรับกับความท้าทายที่เกิดขึ้น จากนี้จะกระจายความเสี่ยง หันไปโฟกัสตลาดใหม่ๆ เช่น ยุโรปและออสเตรเลีย ซึ่งมองว่ายังมีอีกหลายๆ ประเทศที่มีศักยภาพเติบโตสูง
“เรียกได้ว่าจากที่ทั้งสองบริษัทเคยเป็นคู่แข่งกันในตลาดขนมขบเคี้ยวไทย มาวันนี้ได้เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ธุรกิจกันซึ่งจะทำให้ทั้งสองบริษัทสามารถขยายพอร์ตโฟลิโอของตัวเองไปอีกหมวดหมู่ได้” ณภัทรย้ำ
เมื่อมาดูภาพรวมตลาดขนมขบเคี้ยวไทยมูลค่า 50,400 ล้านบาท คาดว่าปี 2568 จะโตอยู่ที่ 2% ถือว่าโตน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่เติบโต 6% เนื่องจากผู้บริโภคลดการจับจ่าย รวมถึงงานอีเวนต์ใหญ่ๆ เริ่มลดลง ทำให้บรรยากาศการซื้อสินค้ากลุ่มขนมไม่คึกคักอย่างที่ควรจะเป็น
อีกทั้งความเสี่ยงในระยะยาวของผู้เล่นในตลาด ทั้งต้องเผชิญกับการแข่งขันสูง และเตรียมเจอกับภาษีความเค็ม ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ดังนั้นการเร่งขยายไปตลาดประเทศก็เป็นโอกาสในการเร่งสร้างรายได้ด้วยเช่นกัน