ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟในไทยเป็นตลาดที่หอมหวาน จากแนวโน้มที่มีการเติบโตเฉลี่ย 2–3% ต่อปี แม้จะมีคู่แข่งจากจีนเข้ามา แต่ Dairy Queen ยังครองแชมป์อันดับหนึ่งด้วยส่วนแบ่ง 70–80% พ่วงด้วย McDonald’s, KFC, Burger King, CP และ IKEA ที่ส่งซอฟต์เสิร์ฟโคนราคาถูกเข้ามาร่วมสนามการแข่งขัน
ไม่เว้นแม้แต่ ‘ชาวเกาะ’ ภายใต้ อำพลฟูดส์ได้กระโดดเข้ามาชิมลางในตลาดนี้ด้วยเช่นกัน THE STANDARD WEALTH มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการกลุ่มอำพลฟูดส์ ถึงเบื้องหลังว่าทำไมถึงสนใจย่างกรายเข้ามาในตลาดนี้
ดร.เกรียงศักดิ์ เริ่มสนทนาว่า จากอินไซต์ที่พบว่าความเข้าใจผิดของผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่ากะทิมีไว้ทำอาหารคาวและหวานเท่านั้น ทั้งที่เบื้องหลังของไอศกรีมหลายแบรนด์ชั้นนำระดับโลก ส่วนใหญ่เลือกใช้กะทิแทนนมวัว ด้วยจุดเด่นด้านรสชาติ เนื้อสัมผัส และคุณสมบัติของไขมันจากมะพร้าวที่ช่วยให้ไอศกรีมอยู่ตัวได้นานโดยไม่ต้องพึ่งสารเพิ่มความคงตัว
ดร.เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ กลุ่มอำพลฟูดส์
สิ่งที่ตั้งใจให้เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนมุมมอง ให้ผู้บริโภครู้ว่าไอศกรีมที่ทำจากกะทิไม่เพียงแต่อร่อย แต่ยังดีต่อสุขภาพและต้นทุนต่ำ จึงเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจแฟรนไชส์ชาวเกาะไอศกรีมกะทิสด
สูตรสำเร็จพร้อมขายใน 1 นาที แฟรนไชส์เริ่มต้น 35,000 บาท
ทั้งนี้บริษัทได้พัฒนาสูตรไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟสำเร็จรูปบรรจุในกล่อง UHT เพียงตัดกล่องเทใส่เครื่อง ก็ได้ไอศกรีมพร้อมเสิร์ฟภายใน 1 นาที โดยมีต้นทุนไม่ถึง 5 บาทต่อโคน ขายได้ในราคา 10 บาท ทำให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกระดับ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนเป็นหลัก
ปัจจุบันไอศกรีมมีเพียงรสกะทิ แต่สูตรอื่นอย่าง ชาไทย ช็อกโกแลต มะม่วง ทุเรียน ตอนนี้พัฒนาสำเร็จแล้ว อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากอย.ก่อนทยอยวางขายต่อไป
สำหรับแฟรนไชส์แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ทั้งแบบตั้งเครื่องตั้งโต๊ะและเครื่องตั้งพื้น ค่าแฟรนไชส์เริ่มต้น ราคา 35,000 บาท และ ราคา 39,000 บาท ผู้ลงทุนสามารถคืนทุนได้ภายใน 3 เดือน เพียงขายไอศกรีมได้วันละ 100 เสิร์ฟ ไม่มีค่าลิขสิทธิ์ โดยแบรนด์ชาวเกาะจะสนับสนุนเครื่อง อุปกรณ์ วัตถุดิบ และมีการอบรมก่อนเปิดให้บริการ
ตลาดเป้าหมายหลักคือโรงเรียน ซึ่งมีอยู่กว่า 50,000 แห่งทั่วประเทศ ล่าสุดได้เริ่มทดลองที่โรงเรียนในจังหวัดพะเยา พบว่าได้รับผลตอบรับดีเกินคาด และนอกจากโรงเรียนแล้วยังมีแผนขยายแฟรนไชส์เข้าสู่ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ มินิมาร์ท รวมถึงตู้คีออสด้วยเช่นกัน
ไม่ใช่แค่หารายได้แต่เป็นการรีเฟรชแบรนด์ไปด้วยกัน
ยอมรับว่าครั้งแรกของการทำธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หลังจากที่นำโมเดลแฟรนไชส์ไปเปิดตัวในงาน THAIFEX 2568 ที่ผ่านมา กระแสตอบรับดีเกินคาด แต่อีกด้านทำให้เห็นว่าต้องปรับจูนเรื่องระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะเดียวกันเริ่มมีผู้ประกอบการจากจีนและกัมพูชาเริ่มติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์แล้ว ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสเนื่องจากชาวจีนชื่นชอบมะพร้าวและสินค้าไทยอยู่แล้ว ประกอบกับร้านอาหารไทยที่มีมากกว่า 10,000 แห่งในจีนก็จะเป็นช่องทางที่จะขยายธุรกิจแฟรนไชส์ไอศกรีมชาวเกาะไปได้
อย่างไรก็ตามการเปิดตัวแฟรนไชส์ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟครั้งนี้ ไม่เพียงแค่เพิ่มรายได้ให้กับบริษัท แต่ยังช่วยรีเฟรชแบรนด์ชาวเกาะให้ดูสดใหม่ เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น จากภาพจำเดิมที่หลายคนมองว่าเป็นแบรนด์เก่าแก่อยู่มานาน
ส่วนแผนงานในอนาคตยังเตรียมเปิดร้านคาเฟ่ขายไอศกรีมและน้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของมะพร้าว เช่น น้ำมะพร้าวรสบ๊วย เลมอน น้ำผึ้ง ที่พัฒนาจากทีม R&D โดยจะเน้นเปิดในย่านออฟฟิศใจกลางเมืองที่มีทราฟฟิกหนาแน่น คาดว่าจะช่วยทำให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เข้าถึงได้มากขึ้น
ใช้กลยุทธ์ ‘ป่าล้อมเมือง’ สู้ศึกซอฟต์เสิร์ฟแบรนด์จีน
แม้วันนี้ตลาดไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟจะมีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะแบรนด์จีนที่กระจายตัวในห้างสรรพสินค้าอย่างรวดเร็ว แต่สำหรับแบรนด์ชาวเกาะ จะเลือกกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง เน้นเจาะต่างจังหวัดก่อนและจะขยายสู่พื้นที่เมืองตามลำดับ โดยตั้งเป้าจะขยายร้านแฟรนไชส์ไอศกรีมกะทิสดชาวเกาะให้ได้ 10,000 แห่งภายใน 3 ปี
“เราอาจจะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดซอฟต์เสิร์ฟ แต่ต้องบอกว่า อำพลฟูดส์ มีความพร้อมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ อีกทั้งยังมีศูนย์กระจายสินค้าครอบคลุมทั่วประเทศถึง 94 แห่ง ตลอดจนตัวแทนขายอีก 1,000 คนที่จะมาช่วยสนับสนุนระบบแฟรนไชส์ ซึ่งมั่นใจว่าการสร้างระบบบริการหลังการขายที่ดี จะเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของความยั่งยืนให้ธุรกิจใหม่” ดร.เกรียงศักดิ์ ย้ำ
อำพลฟูดส์ ไม่ได้มีแค่กะทิ
พร้อมกันนี้ ดร.เกรียงศักดิ์ ยังอัปเดตถึงภาพรวมธุรกิจ ปัจจุบันสินค้าแบรนด์ภายใต้กลุ่มอำพลฟูดส์ที่วางตลาดในไทยมีหลากหลาย เริ่มตั้งแต่ กะทิชาวเกาะยูเอชที น้ำแกงพร้อมปรุงรอยไทย น้ำข้าวกล้องวีฟิต เครื่องปรุงลดโซเดียมยี่ห้อกู๊ดไลฟ์ เครื่องปรุงสูตรตำรับจีน ตรามังกรสมบูรณ์ เป็นต้น และยังมีการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวไปที่ประเทศจีนด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังเน้นสร้างพันธมิตรกับกลุ่มธุรกิจ SMEs โดยได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดหลักสูตรอบรม Food Work ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้ SMEs เข้ามาเป็นพันธมิตรกับอำพลฟูดส์ และบริษัทจะช่วยสนับสนุนด้านของโครงสร้างในการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า ถือเป็นการสร้างการเติบโตร่วมกัน