×

เขื่อนเจ้าพระยาทยอยปรับการระบายน้ำเพิ่ม เตรียมรับฝนที่ตกช่วง 3-9 ก.ย. นี้ ขณะที่ กทม. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่

โดย THE STANDARD TEAM
03.09.2024
  • LOADING...

วันนี้ (3 กันยายน) กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา เวลา 07.00 น. เขื่อนเจ้าพระยาทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดในอัตราระหว่าง 1,400-1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) รองรับปริมาณน้ำจากทางตอนบน และฝนที่ตกเพิ่ม 3-9 กันยายน 2567

 

สถานี C2 อำเภอเมืองนครสวรรค์

ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,547 ลบ.ม./วินาที

แนวโน้ม: เพิ่มขึ้น

ระดับน้ำ: ต่ำกว่าตลิ่ง 4.09 เมตร

 

สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท

ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,449 ลบ.ม./วินาที

แนวโน้ม: เพิ่มขึ้น

ระดับน้ำท้ายเขื่อน: เพิ่มขึ้นจากเดิม 18 เซนติเมตร

 

เตือนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่ม

  • บ้านบางพุทรา อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 76 เซนติเมตร
  • บ้านบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 64 เซนติเมตร
  • วัดอินทาราม (คลองโผงเผง) จังหวัดอ่างทอง ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 38 เซนติเมตร
  • วัดโพธิ์ (คลองบางบาล) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 23 เซนติเมตร
  • วัดประดู่โลกเชฏฐ์ ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา, ตำบลลาดชิด, ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 30 เซนติเมตร

 

กรมชลประทานขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย และพื้นที่เสี่ยง ขนย้ายของยกขึ้นที่สูงเพื่อป้องกันความเสียหาย และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไป หากระดับน้ำทางตอนบนเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะ

 

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยารายงานพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ระบุว่า ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น

 

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย

 

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

 

โดยกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising