DSI ส่งทีมไปรับตัว ชนินทร์ เย็นสุดใจ ผู้ต้องหาคดีโกงหุ้น STARK ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หลังหนีคดีมายาวนาน ลุยส่งฟ้องดำเนินคดีทันที พร้อมยื่นคัดค้านการประกันตัว หวั่นหลบหนี
แหล่งข่าวระดับสูงในตลาดทุนให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ได้รับข้อมูลยืนยันจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ว่า ในวันนี้ (22 มิถุนายน) DSI ส่งทีมงานเดินทางไปรับตัวและจับกุม ชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีทุจริตภายในของ STARK ซึ่งหลบหนีคดีอยู่ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) หลังจากได้ประสานกับทางการของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศต้นทางที่จับกุม
ทั้งนี้ คาดว่าทีม DSI ที่เดินทางไปรับตัวจะนำชนินทร์เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ (23 มิถุนายน) เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป
“หลังจากได้ตัว ชนินทร์ เย็นสุดใจ กลับมาก็จะส่งฟ้องในวันจันทร์ (24 มิถุนายน) ทันที รวมถึงจะยื่นเรื่องขอคัดค้านการประกันตัวด้วย เพื่อป้องกันผู้ต้องหาจะหลบหนีอีก”
ทั้งนี้ คดีของ STARK มีจุดเริ่มต้นความเสียหายตั้งแต่ที่ STARK มีปัญหาไม่ส่งรายงานงบการเงินไตรมาส 1/66 ส่งผลให้ผู้เสียหายจากหุ้นกู้จำนวนหนึ่งติดต่อเข้ามาเพื่อขอคำปรึกษา ซึ่งเคยมีประสบการณ์ได้รับความเสียหายในคดีอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับ STARK จึงเห็นว่ากรณีของ STARK ที่มีปัญหาการทุจริตภายในบริษัทมีความเสี่ยงจะนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ (Default) ของหุ้นกู้ STARK ทั้งหมดจำนวน 5 รุ่น มูลค่ารวมกว่า 9,000 ล้านบาท
DSI ได้แจ้งข้อกล่าวหาบุคคลธรรมดากับนิติบุคคลรวมทั้งสิ้นจำนวน 11 ราย ได้แก่
- ชนินทร์ เย็นสุดใจ ผู้ต้องหาที่ 1
- วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ผู้ต้องหาที่ 2
- ชินวัฒน์ อัศวโภคี ผู้ต้องหาที่ 3
- ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ ผู้ต้องหาที่ 4
- กิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม ผู้ต้องหาที่ 5
- บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น ผู้ต้องหาที่ 6
- บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ต้องหาที่ 7
- บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด ผู้ต้องหาที่ 8
- บริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ต้องหาที่ 9
- บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้ต้องหาที่ 10
- ยสบวร อำมฤต ผู้ต้องหาที่ 11
โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวหา วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ตามมาตรา 312 และมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/7 ประกอบมาตรา 89/24 มาตรา 278 มาตรา 281/10 ประกอบมาตรา 300 และมาตรา 306 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 กล่าวหาตามมาตรา 307, 308, 311 และ 312 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 352 และ 353
ขณะที่มีทรัพย์สินที่อายัดโดย DSI คิดเป็นมูลค่ารวม 349.32 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมที่ดินและรถยนต์ แบ่งเป็นบัญชีธนาคารจำนวนเงินรวม 127.65 ล้านบาท, บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ บล.เครดิต สวิส (ประเทศไทย) จำกัด ของชนินทร์ เย็นสุดใจ คิดเป็นเงินไทยจำนวน 218.43 ล้านบาท, เงินสดจำนวนเงินรวม 1.75 ล้านบาท, บัญชีสินทรัพย์ดิจิทัล คิดเป็นเงินไทยจำนวน 1.55 ล้านบาท, ที่ดินจำนวนรวม 11 แปลง และรถยนต์ของชนินทร์ เย็นสุดใจ จำนวน 4 คัน ยี่ห้อ Rolls-Royce 2 คัน Bentley 1 คัน และ Mercedes-Benz 1 คัน โดยในส่วนของทรัพย์สินได้ส่งข้อมูลให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
ขณะนี้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษอยู่ระหว่างการสอบปากคำพยานบุคคลเพิ่มเติม ได้แก่ พยานกลุ่มกรรมการตรวจสอบ / กรรมการอิสระ, พยานพนักงานบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด รวมทั้งอยู่ระหว่างการพิจารณาบุคคลที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม และจะดำเนินการส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษไปยังพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไปภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
โดยจากพยานหลักฐาน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากลุ่มผู้ต้องหาได้ร่วมกันลงข้อความอันเป็นเท็จในบัญชีและงบการเงิน เพื่อให้ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น มีผลประกอบการที่ดี และนำงบการเงินที่มีการตกแต่งดังกล่าวมาใช้สำหรับการออกหุ้นกู้เพื่อเสนอขายแก่ประชาชนจำนวน 3 ชุด ในปี 2564-2565 รวมเป็นเงิน 9,198 ล้านบาท รวมทั้งยังใช้ดำเนินการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ในปี 2565 อีกจำนวน 5,580 ล้านบาท ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริต หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง รวมเป็นความเสียหายจำนวน 14,778 ล้านบาท