ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองสถานการณ์การเมืองไทยล่าสุด หลังมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่และอยู่ในช่วงจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม เหตุไม่กระทบกระบวนการงบประมาณมากนัก ย้ำ แนวคิดแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตแบบเฉพาะเจาะจง (Targeted) ไปยังกลุ่มเปราะบางส่งผลต่อเศรษฐกิจสูงกว่า
วันนี้ (21 สิงหาคม) ปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวระหว่างงานแถลงข่าวผลการประชุมนโยบายการเงิน ครั้งที่ 4/2567 เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยล่าสุด หลังมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่และอยู่ในช่วงจัดตั้ง ครม. ชุดใหม่
โดยระบุว่า ในภาพใหญ่ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการงบประมาณ ‘มากนัก’ เว้นแต่จะเกิดปัญหาอื่นๆ ทำให้การจัดตั้ง ครม. ล่าช้า เนื่องจากงบประมาณปี 2567 ส่วนใหญ่ผ่านกระบวนการต่างๆ ไปหมดแล้ว
ย้ำดิจิทัลวอลเล็ตแจกกลุ่มเปราะบางได้ผลดีกว่า
ปิติกล่าวอีกว่า ในการประชุม กนง. ทุกรอบก็จะมีการพูดคุยถึงมาตรการภาครัฐและมาตรการทางการคลังต่างๆ อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นปัจจัยที่สำคัญ รวมถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่ง กนง. ก็พยายามอัปเดตตลอด
“ถ้าตามการประเมินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตรูปแบบเดิมก่อนหน้านี้ ธปท. ประเมินว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะอยู่ที่ปีหน้า และมีผลต่อเศรษฐกิจไม่เยอะมาก โดยเฉพาะหากงบทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต้องไปเบียดงบจากการใช้จ่ายภาครัฐประเภทอื่นๆ ก็จะทำให้ผลสุทธิต่อเศรษฐกิจไม่ได้เยอะ”
พร้อมระบุว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ก็ต้องมีการประเมินใหม่ โดยย้ำว่า ตามการประมาณการปัจจุบัน ธปท. คาดการณ์ว่า GDP ไทยปีนี้จะโต 2.6% และ 3% ในปีหน้า ยังไม่รวมผลจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
ถ้าเปลี่ยนรูปแบบไปให้กลุ่มเฉพาะเจาะจงมากขึ้นจะเกิดผลต่อเศรษฐกิจมากกว่า เนื่องจากกลุ่มเปราะบางมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม การแจกเงินแบบเฉพาะเจาะจงย่อมมาพร้อมกับเม็ดเงินที่ลดลงด้วย ถ้ามีการลดสเกลลงมามาก ผลกระทบสุทธิก็อาจน้อยกว่าด้วย
ปิติยังกล่าวว่า อีกประเด็นสำคัญคือรูปแบบการแจก โดยถ้าเป็นเงินโอนให้กับประชาชน ผลทวีคูณทางเศรษฐกิจ (Multipier) ‘จะจำกัด’ หรือ ‘ไม่สูงนัก’ เมื่อเทียบกับรัฐบาลใช้จ่ายหรือบริโภคเอง เนื่องจากเงินอาจถูกทอนไปกับเรื่องอื่นๆ เช่น การออม เป็นต้น ทำให้แรงกระตุ้นมีน้อยกว่า
ดังนั้นจึงต้องจับตารอดูความชัดเจนของรูปแบบโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอีกที