×

สื่อเปลี่ยน คนต้องปรับ เรียนนิเทศฯ จะตกงานไหม? แล้วจะอยู่รอดกันอย่างไร

14.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins read
  • ท่ามกลางสถานการณ์สื่อที่ผันผวน ‘คนทำงานสื่อ’ ก็เผชิญกับแรงกระแทกในการทำงานไม่ต่างกัน ทั้งคนหน้าเก่า หน้าใหม่ ล้วนต้องปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง มิเช่นนั้นแล้วอาจตกขบวนรถไฟสายนี้แบบบอบช้ำ
  • ผู้นำองค์กรสื่อ ทั้งสื่อออนไลน์ เอเจนซี โปรดักชันเฮาส์ เหมือนจะเห็นตรงกันว่า การเลือกคนที่จบใหม่มาทำงาน ล้วนดูจากแพสชัน ความตั้งใจ ความอยากเรียนรู้ และความสามารถที่จะปรับตัวเองให้เข้ากับโอกาสที่ได้รับ

‘เรียนนิเทศศาสตร์มา 4 ปี อยากรู้ว่าอุตสาหกรรมสื่อต้องการคนแบบไหน ทิศทางเปลี่ยนไปอย่างไร ห้ามพลาดกับงานสัมมนาดีๆ เพื่อปรับตัวและเตรียมความพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมสื่อยุคดิจิทัล’

 

ข้อความเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจ เข้าร่วมฟังเสวนาในหัวข้อ ‘Change to Shine: สื่อเปลี่ยน คนต้องปรับ’ ซึ่งจัดโดยคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยคณะนักศึกษาปริญญาเอก รุ่น 9-10 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

THE STANDARD มุ่งหน้าไปที่งานนี้เพื่อร่วมฟังและหาคำตอบจากกูรู ที่ทิ้งคำถามเชิญชวนไว้อย่างน่าสนใจ ต่ออนาคตของคนที่กำลังเรียนจบและกำลังจะก้าวเข้าสู่วงการนี้

 

 

ความท้าทายช่วงเปลี่ยนผ่านสื่อเก่า-สื่อใหม่

ศรีสุดา วินิจสุวรรณ์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจเนื้อหา Tencent Thailand ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ เช่น Joox และ Sanook มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสื่อมวลชนหลายสิบปี เริ่มต้นจากการเป็นนักข่าวในองค์กรที่เรียกว่าเป็น Traditional Media หรือที่เรียกว่าสื่อดั้งเดิม ประเภท หนังสือพิมพ์ ทีวี ว่าในแง่ของการทำงานระหว่างอยู่สื่อเก่าหรือสื่อใหม่ (New Media) ไม่รู้สึกว่ามีอะไรเปลี่ยน เพราะแต่ละสื่อมีการเปลี่ยนแปลงในตัวของมันเอง สำหรับเว็บไซต์ Sanook ก้าวมาถึงตอนนี้ก็ 20 ปีแล้ว แต่ถ้าเรายังทำงานเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อนก็คงอยู่ไม่ได้ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีและการแข่งขันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และค่อนข้างเร็ว ความรู้และทักษะหลากหลายขึ้น เพราะฉะนั้นคนที่จะเข้ามาทำงานด้านนี้ก็ต้องปรับตัวเองอยู่ตลอดให้พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

 

ความท้าทายของการรับเด็กใหม่ หรือรับพนักงานใหม่เข้าทำงานก็เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ศรีสุดาเล่าว่า ทุกวันนี้เธอก็ยังต้องสัมภาษณ์คนเข้าทำงานใหม่ทุกวัน

 

“ทำไมบริษัทที่อยู่มานานต้องรับคนใหม่ทุกวัน แล้วคนที่ออกไป ไปไหน เหตุผลก็อาจเพราะว่าเขามีเป้าหมายใหม่ในชีวิต หรือบริษัทอาจจะปรับองค์กร ส่วนตัวเวลารับคนเข้าทำงานไม่เคยดูเกรด ไม่ดูสถาบัน และบอกเลยว่าไม่ใช่ปัจจัยหลัก สิ่งที่เราทำคือ ดูประสบการณ์ เราเป็นนักศึกษาจบใหม่ ก็อาจจะดูไม่มีประสบการณ์ แต่มันมีหลายปัจจัยที่เราดูประกอบกัน”

 

 

ศรีสุดาเล่าว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยมีประสบการณ์อยากย้ายงานใหม่ แต่ก็จะรู้สึกว่าสู้เด็กในวัยที่กำลังมีไฟไม่ได้ แต่สุดท้ายสิ่งสำคัญสำหรับคนวัยทำงานหลายสิบปีอย่างเธอก็คือ ประสบการณ์ที่มากกว่า และที่มากกว่าไปอีกก็คือ คนวัยนี้ได้สะสมคอนเน็กชันที่สำคัญกับวิชาชีพไว้มาก แต่ก็ต้องปรับตัวเองให้ฮึกเหิม พร้อมที่จะอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

 

โลกยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ‘โซเชียลมีเดีย’ เขามามีบทบาทสำคัญ และถูกตั้งคำถามด้วยว่า ใช้เป็นปัจจัยในการรับคนเข้าทำงานไหม

 

สำหรับศรีสุดา เธอบอกว่า “เราจะดูในขั้นตอนท้ายๆ ของการที่ต้องเลือกพนักงานคนนั้น เพื่อใช้เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจ ประสบการณ์ความสนใจของเขาคืออะไร”

 

ภาษาเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องให้ความสำคัญ ต้องพัฒนาทักษะในด้านนี้ด้วย

 

การรู้เยอะหลากหลาย เป็นสิ่งจำเป็น ให้ดึงความเปลี่ยนแปลงให้เข้าถึงความรู้ให้มาก ขวนขวายพาตัวเองให้ไปถึงที่ที่เราอยากไป

 

 

เด็กใหม่ต้องหา ‘ต่อมคัน​’ ตัวเองให้เจอ

โอลิเวอร์-กิตติพงษ์ วีระเตชะ ประธานอำนวยการ วายแอนด์อาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเอเจนซีโฆษณา เล่าว่า สำหรับการทำงานของเด็กใหม่ อยากให้เรียนรู้การทำงาน ไม่ต้องแคร์ว่าจะทำผิดหรือถูก บางครั้งเมื่อเราเรียนรู้ว่าทำผิด ต่อไปก็ต้องให้ผิดน้อยลง และทำให้แม่นยำขึ้น

 

“เราต้องการเด็กที่มีมุมมองและมีความคิดเป็นของตนเอง อยากให้น้องใหม่รู้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของทีม ซึ่งต้องแชร์ความคิดให้มาก ความคิดเหล่านั้นอาจจะซ่อนสิ่งที่เป็นมุมการทำงานที่เจ๋งก็ได้ อย่ากลัวที่จะออกความเห็น อย่าไปคิดว่าตัวเองจะถูกเจ้านายหาว่าโง่ ส่วนเจ้านายก็ต้องใจกว้าง ต้องกระเหี้ยนกระหือรือที่อยากจะทำงาน เราต้องทำงานให้สนุก ถ้าเจอเด็กเข้ามานิ่งๆ เงียบๆ ตัวเขาเองก็จะลำบากมาก พูดง่ายๆ คือเราอยากเห็นแพสชันของเขา”

 

โอลิเวอร์บอกอีกว่า สิ่งสำคัญของเด็กใหม่เรื่องต่อมาคือการปรับตัว ซึ่งมันไม่มีวิธีการแก้ปัญหาที่สมบูรณ์แบบ เราต้องให้ความสำคัญกับการปรับตัว ต้องทำให้เร็ว โลกยุคใหม่ไม่ได้แข่งว่าใครอยู่มานานกว่า มันอยู่ที่ว่าใครปรับตัวได้ดีกว่าและเร็วกว่า ไม่ได้แปลว่าเด็กใหม่ไม่มีโอกาส ต้องหาต่อมคันของเราให้เจอ ปรับตัวให้ได้ให้เร็ว

 

“ยุคนี้เป็นยุคของเด็กที่ได้โอกาสมาง่าย แต่เราต้องการคนที่มีความหลากหลาย เราให้น้ำหนักกับความหลากหลาย เอาความแตกต่างมารวมกัน กระบวนการคัดเลือกคนที่มาจากปฏิกิริยาหมู่ทำให้สกรีนคนได้ง่ายมากขึ้น เอาคนที่สัมภาษณ์งานในตำแหน่งเดียวกันมารวมกัน แล้วเราจะเห็นปรากฏการณ์จากหมู่คนที่รวมกัน”

 

โอลิเวอร์บอกว่า คนที่คิดเป็นแต่ถ่ายทอดความคิดไม่เป็น ไม่ได้หมายความว่าเขาโง่ และพยายามอย่าไปแก้จุดอ่อน แต่ต้องเสริมความเเข็งแกร่งให้เขา ที่สำคัญ นิเทศศาสตร์สำหรับเขาไม่ใช่แค่การสื่อสาร แต่ต้องมีทักษะที่สวมหมวกด้านอื่นด้วย

 

“ตอนนี้ เรากำลังเจอความท้าทายของสปีด แต่การทำงานเราต้องรู้จักผิดชอบชั่วดี ต้องแยกแยะได้ สื่อเองก็ต้องใส่ใจและโปร่งใสต่อการนำเสนอ มีจริยธรรมในการทำงาน เพราะ ‘คุณไม่มีโอกาสครั้งที่ 2 ในการสร้างความประทับใจในครั้งแรก’

 

 

แรงบันดาลใจ ความอยาก คือต้นทุนโดยแท้

วรปรียา อู่เจริญ Talent Director บริษัท แมคแคน เวิลด์กรุ๊ป (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเลือกคนเข้าทำงานนั้นต้องแมตช์ทั้งคนทำงานและองค์กร รวมไปถึงลูกค้า การสกรีนคนมาทำงานจึงต้องดูลูกค้าและตัวบุคลิกของคนทำงานด้วย

 

สำหรับโซเชียลมีเดียนั้น วรปรียาบอกว่า “มันเป็นดาบสองคมของการคอมเพลน เราต้องใช้เพื่อให้มันเกิดประโยชน์ และระมัดระวังต่อการสื่อสาร เพราะมันอาจจะนำมาซึ่งปัญหาในอนาคตเหมือนกัน โดยเฉพาะในองค์กรเรามีข้อห้ามเด็ดขาดต่อเรื่องนี้”

 

การทำงานนอกจากเรื่องทักษะแล้ว แพสชันก็สำคัญไม่แพ้กัน สำหรับคนที่จะเข้ามาทำงานสื่อก็ต้องมี เพราะการมีแรงบันดาลใจหรือความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำงานด้านสื่อจะเป็นแรงผลักดันในการสร้างสรรค์งานได้ดี ไม่ใช่คิดถึงเรื่องของเงินค่าตอบแทนเป็นหลักเท่านั้น

 

วรปรียาบอกว่า สำหรับเด็กที่เรียนจบใหม่ บริษัทเอเจนซีเป็นความใฝ่ฝันของหลายคนที่อยากจะเข้ามาทำงาน เพราะจะได้แต่งตัวอิสระ แต่งหน้าจัด ซึ่งสมัยก่อนจะเข้ามาทำงานได้ต้องมีคนรู้จักชักชวนเข้ามา แต่ในปัจจุบันจะต้องมีความรอบรู้ในด้านใดด้านหนึ่ง และมีความอยากเรียนรู้ อยากทำ อยากทุ่มเท อยากสร้างสรรค์ และนำเสนอออกมาให้เห็น

 

ส่วนเรื่องเกรดเฉลี่ยและสถาบันที่จบมานั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกัน ต้องดูว่าคนนั้นจบอะไรมา และตอบโจทย์ต่องานหรือไม่ เด็กบางคนไม่ได้จบตรงสายที่เรียนมาแต่อยากทำโฆษณามาก มาขอฝึกก็มี เพราะฉะนั้นเกณฑ์สำคัญอยู่ที่ความอยาก และเราต้องแสดงออกมาให้องค์กรเห็นว่าเราอยากทำงานนี้

 

 

ตอบตัวเองให้ได้ว่าอยู่ส่วนไหนขององค์กร

นนทวัฒน์ เขคม บริษัท โธธ โซเชียล จำกัด ผู้ให้บริการจัดการข้อมูลออนไลน์ครบวงจร เล่าว่า บริษัทตนเองมีคนสายอื่นทำงานแทนคนนิเทศฯ เยอะมาก โดยเฉพาะคนจบวิศวะ แล้วทำได้ดีกว่ามีเยอะมาก ในช่วง 5-10 ปีมานี้ แม้คนกลุ่มนี้จะไม่ได้มีพื้นฐานทางนิเทศศาสตร์ก็จริง แต่เขามีความตั้งใจเรียนรู้สูงมาก และทำงานได้ดีมาก ตอนนี้คนเริ่มมาแย่งงานเด็กนิเทศฯ บางคนบอกอีกไม่นานกลัวจะไม่มีที่ยืน

 

“คนที่รู้ว่าตัวเองอยากจะเดินไปทางไหน มันจะชัดเจนกว่า มันทำให้คนเรียนรู้ได้เร็ว เพราะเขาพยายามไปยังจุดที่เขาต้องการ ส่วนการทำงานในองค์กร จุดสำคัญคือการทำงานร่วมกัน การที่เราจะไปถึงจุดที่ก้าวหน้ามากกว่าคนอื่น ต้องเอาหัวมารวมกัน ต้องทำงานเป็นทีม ให้เกียรติกัน”

 

จากประสบการณ์ของนนทวัฒน์ เขาพบว่าคนที่ทำกิจกรรมเยอะ แล้วบอกได้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนของการทำกิจกรรม มันจะทำให้เรารู้ตัวเอง ส่วนการคัดคนเข้าทำงานเกรดสำคัญอยู่บ้าง แต่ไม่เท่ากับแพสชันและประสบการณ์ของเขาที่ผ่านมา

 

“เราชอบคนมีประสบการณ์ เพราะบางทีการรับเด็กใหม่ มักจะมีความรู้สึกกับองค์กรอีกแบบ คืออยากจะรู้ อยากจะย้าย หญ้าที่อื่นเขียวกว่าสนามตัวเองเสมอ เราเชื่อว่าคนที่มีประสบการณ์เขาจะเห็นทางและปรับตัว และรู้ว่าจะทำงานกับเราแบบไหน”

 

สำหรับการคัดคนเข้าร่วมทีม นนทวัฒน์บอกว่า เขาให้ทีมเป็นคนเลือกเอง คนของคุณคุณเลือกเอง ดูแลเอง ทีมจะได้เรียนรู้ว่าคนแบบไหนที่ทีมต้องการ และที่สำคัญคือ ต้องทำให้ทีมเชื่อว่าคุณสามารถเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรได้

 

 

ชอบคนที่ ‘ขยี้โอกาส’ ของตัวเอง

วีรยุทธ ล้อทองพานิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิ้งค์ วิ้งค์ โปรดักชั่น จำกัด เล่าประสบการณ์ในการพบเจอกับเด็กใหม่ที่จะก้าวเข้ามาทำงานร่วมกับเขาว่า เขามองเป็นเรื่องของขบวนรถไฟ และเด็กใหม่ที่ต้องวิ่งขึ้นขบวนให้ได้

 

“เราไม่ต้องการเด็กที่พร่ำบ่น เราเจอเด็กที่ถามว่า ทำไมมาฝึกงานไม่มีโต๊ะ คือเราเองก็ยังไม่มีเลย ทัศนคติแบบนี้ก็บอกอะไรเกี่ยวกับตัวเด็กได้มาก แค่รับเข้าฝึกงานก็บุญแล้ว” วีรยุทธบอกพร้อมด้วยเสียงหัวเราะ และเขาบอกอีกว่า

 

“ผมตัดสินใจเลือกเด็กจากการฝึกงาน เลือกจากความตั้งใจ และสิ่งที่คุณอยากจะเรียนรู้เพิ่มเติมคือสิ่งสำคัญ ชอบเด็กที่ขยี้โอกาสของตนเอง โอกาสมาแล้วต้องคว้าไว้ เมื่อเราเจอเด็กที่ทัศนคติดี และทำงานดี เราจะรู้สึกหวงแหนเขามาก เราจะรั้งให้เขาอยู่กับเราให้ได้นานที่สุด

 

“เด็กฝึกงานคนไหนมีศักยภาพจะทาบทามไว้ โดยไม่สนใจว่าจะจบจากสถาบันใด และมีเกรดเฉลี่ยเท่าไร ถ้านิสัยดี แต่ผลงานไม่ดี ก็ไม่ได้เหมือนกัน”

 

อ่านมาจนจบถึงตรงนี้ ลองสำรวจตัวเองดูว่า ‘เรา’ มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการไหม แล้วจะปรับตัวเพื่อหางาน และอยู่รอดต่อไปในอนาคตอย่างไร ขอให้โชคดี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X