ลั่นกลองรบอย่างเป็นทางการสำหรับแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ‘CHANGAN’ หลังจากได้แถลงข่าวเปิดตัวบริษัท ‘Touch the Future’ – the 2023 Changan Southeast Asia press conference ไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พร้อมทั้งประกาศแผนธุรกิจในไทย
นอกจากจะนำรถยนต์ไฟฟ้า 2 รุ่น ภายใต้แบรนด์น้องใหม่ ‘DEEPAL’ ในรุ่น DEEPAL L07 และ DEEPAL S07 มายลโฉมพร้อมเปิดจองในงานแล้ว ยังได้นำรถยนต์ดังจากจีนอีกสองแบรนด์มาร่วมโชว์ ได้แก่ AVATR ในรุ่น AVATR 11 และ AVATR 12 และ NEVO
ด้วยศักยภาพของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไทยที่มุ่งมั่นที่จะสร้างประเทศไทยเป็นหมุดหมายแรกของแผน Vast Ocean Plan พร้อมเป้าหมายระยะยาวที่จะขยายอิทธิพลไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวาทั่วโลก ผ่านวิสัยทัศน์ ‘Build a World-Class Auto Brand’ ไปพร้อมๆ กับการเดินหน้าสร้างสรรค์นิยามใหม่แก่ภูมิทัศน์ยานยนต์โลก
วันนี้ THE STANDARD มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ จู หัวหรง ประธานบริษัท Changan Automobile ก่อนใคร ถึงแผนธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทย
รู้จัก CHANGAN ค่ายยักษ์จีน EV ท็อป 5
ก่อนจะไปถึงแผนธุรกิจ ชวนทำความรู้จักกันก่อน ‘Changan Automobile’ (ฉางอาน) ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1862 ถึงตอนนี้ก็อายุยาวนานกว่า 162 ปีแล้ว ถือเป็นแบรนด์ท็อป 5 ในจีน ในภาษาจีนคำว่า ‘ฉาง’ แปลว่า ความยั่งยืน ส่วนคำว่า ‘อาน’ แปลว่า ความปลอดภัย รวมกันแล้วความหมายของ ‘CHANGAN’ จึงหมายถึงความปลอดภัยที่ยั่งยืน ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
CHANGAN เป็นบริษัทที่ไม่หยุดพัฒนา ได้วิจัยและผลิตรถยนต์มาแล้วหลายต่อหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์โดยสารทั่วไป รถบรรทุกใช้ในเชิงพาณิชย์ รวมถึงเป็นแบรนด์แรกๆ ในจีนที่พัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทั้ง BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV)
นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับบริษัทพันธมิตร พัฒนานำเอาเทคโนโลยีรถยนต์ใหม่ๆ ป้อนตลาดอยู่เสมอ ซึ่งฉางอานให้ความสำคัญกับการขับขี่สะดวกสบาย สมรรถนะสูง ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโลก และมีความปลอดภัย
ที่ผ่านมา CHANGAN ขายรถยนต์มากกว่า 25 ล้านคัน ผ่านผู้แทนจำหน่ายใน 63 ประเทศ ด้วยผู้แทนจำหน่าย 9,300 รายทั่วโลก ปัจจุบัน CHANGAN มีฐานการผลิต 22 แห่งทั่วโลก สามารถผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 2 ล้านคันต่อปี บริษัทมีทรัพย์สินมูลค่ารวมประมาณ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มีพนักงานรวมกันทั่วโลกราวๆ 50,000 คน
ดังนั้น การเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า CHANGAN ที่ประเทศไทย เป็นอีกก้าวสำคัญของบริษัท รวมถึงประเทศไทย ที่หวังให้ไทยก้าวสู่ EV Hub ในภูมิภาคอาเซียน
จุดเริ่มต้นของ CHANGAN สู่ไทย กับเหตุผลที่เลือกแบรนด์ DEEPAL ประเดิม 2 รุ่น
จู หัวหรง ระบุว่า CHANGAN ได้เข้ามาศึกษาตลาดจากกลุ่มผู้บริโภคกว่า 100,000 ราย เป็นระยะเวลากว่า 3 ปีแล้ว ก่อนที่จะมีการเปิดตัวแบรนด์รถยนต์ในวันนี้ โดย CHANGAN เลือก 2 รุ่นแรกเปิดตัวในประเทศไทย เป็นรถยนต์ที่สร้างขึ้นบนแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้า EPA1 ที่ออกแบบเพื่อแบรนด์ DEEPAL ‘ดีพอล’ โดยเฉพาะ ที่สะท้อนไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ผ่านการผสมผสานเทคโนโลยี
“2 รุ่น DEEPAL L07 และ DEEPAL S07 เป็นแบรนด์ที่เน้นความทันสมัย มีเทคโนโลยีและดีไซน์ที่เข้ากับคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ชื่นชอบเทคโนโลยีล้ำสมัย สดใส สนุกสนาน และเราต้องการสร้างแบรนด์ DEEPAL ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าระดับพรีเมียมในราคาที่จับต้องได้”
เลือกไทยเป็นฐานผลิต ประเทศแรกที่ตั้งโรงงานประกอบรถยนต์นอกประเทศจีน
ฉางอานเลือกไทยเป็น Vast Ocean Plan นอกจากจะมีความสัมพันธ์อันดีที่มีมายาวนานแล้ว การได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านนโยบาย 30@30 ตลอดจนมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล ตั้งแต่แพ็กเกจ EV3.0 และ EV3.5 ก็ช่วยดึงดูดการลงทุนของเรา และมาตรการเหล่านี้ยิ่งช่วยกระตุ้นผู้ซื้อและนักลงทุนผลักดันตลาดให้สามารถเติบโตได้อีก
“และถึงแม้จะไม่มีนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐ CHANGAN ก็มีแผนทำตลาดในไทยอยู่แล้ว และมองไว้ว่าไทยจะเป็นตลาดสำคัญของฉางอาน และเรายังมองไปถึงการวิจัยพัฒนา (R&D) โดยสนับสนุนต่อยอดองค์ความรู้ให้กับคนไทย สร้างงานคนไทย เรียกง่ายๆ ว่า เราตั้งใจลงทุนระยะยาว หรือลงทุนถาวรเลยก็ว่าได้”
ด้วยปัจจัยที่กล่าวมา เมื่อมาดูปัจจัยทรัพยากร แรงงานมีคุณภาพ ภูมิศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนสิ่งแวดล้อม จึงตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานผลิต และอย่างที่บอก เราใช้เวลาถึง 3 ปีในการวิจัยตลาดการบริโภคยานยนต์ EV ของไทยจนค้นพบว่า
“ไทยเป็นประเทศที่มีแนวโน้มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งหากเทียบรถยนต์น้ำมัน อัตราการสิ้นเปลืองรถที่ใช้น้ำมันนั้น EV ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 80%”
โดยในระยะแรก เราทุ่มลงทุนกว่า 8.8 พันล้านบาท ระยะที่ 2 คาดว่าจะอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนพื้นที่ตั้งโรงงานนั้น อยู่บนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม WHA พื้นที่กว่า 1,500 ไร่ จังหวัดระยอง ซึ่งขณะนี้ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเป็นที่เรียบร้อย ขณะเดียวกันในส่วนของแบตเตอรี่ยังเป็นการนำเข้า แต่อนาคตมีแผนมองหาพาร์ตเนอร์เพื่อลงทุนด้านแบตเตอรี่อย่างแน่นอน
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เราพร้อมวางแผนการผลิตรองรับในทุกขั้นตอน โดยในช่วงระยะแรกจะมีกำลังในการผลิตรถยนต์สูงถึง 100,000 คันต่อปี ส่วนระยะที่ 2 เพิ่มกำลังผลิต 200,000 คันต่อปี และคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568”
โดยโรงงานแห่งนี้จะเป็นฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาเพื่อขายในไทย และส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้ ที่ใช้รถพวงมาลัยขวาทั้งหมด และโรงงานแห่งนี้จะยังไม่ได้ผลิต DEEPAL L07 และ DEEPAL S07 ส่วนจะเป็นรุ่นใดนั้นขอยังไม่เปิดเผย
ดีไซน์โดดเด่น เสมือนโลกอนาคต เบื้องหลังได้รับแรงบันดาลใจมาจากอะไร?
เคลาส์ ซิซิโอรา รองประธานบริหาร Changan Automobile บอกว่า ปรัชญาการออกแบบของเรามุ่งเน้นให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานเป็นหลัก และคำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ เข้าใจผู้ใช้งานและเชื่อมโยงเข้ากับความต้องการที่แท้จริง แล้วจึงยกระดับเทคโนโลยีและเครื่องมืออัจฉริยะเพื่อสร้างระบบนิเวศยานยนต์ที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ที่สำคัญเมื่อนำมาจำหน่ายในไทย ระบบการสื่อสารทั้งหมดเป็นภาษาไทย
ผู้ออกแบบคือ เคลาส์ ซิซิโอรา รองประธานบริหาร Changan Automobile
โดย DEEPAL มุ่งมั่นที่จะผสมผสานระหว่างความเป็นมนุษย์ ธรรมชาติ และเทคโนโลยีได้อย่างลงตัว แสดงให้เห็นถึงปรัชญาด้านการออกแบบอันน่าหลงใหลที่ CHANGAN ใช้ชื่อว่า Symbiotic Aesthetics
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา Changan Automobile รวบรวมแรงบันดาลใจในการดีไซน์จากเทรนด์การออกแบบที่เป็นที่นิยม ตลอดจนเฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถด้านการออกแบบกว่า 600 ชีวิตจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อสร้างทีมออกแบบชั้นนำในระดับนานาชาติ พร้อมจัดตั้งศูนย์การออกแบบถึง 4 แห่ง ได้แก่ เมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน ประเทศอิตาลี ประเทศญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร
เคลาส์บอกอีกว่า “แรงบันดาลใจในการดีไซน์ของฉางอานนั้นมาจากแนวคิดที่เราต้องกล้า กล้าทำอะไรที่แตกต่าง ความกล้าเท่านั้นที่จุดประกายให้เราออกแบบเพื่อสร้างความโดดเด่น เพราะถ้าไม่แตกต่างแล้วก็เหมือนกันไปหมด ความโดดเด่นจะทำให้เข้ามานั่งในใจของลูกค้า นอกจากนี้ เราไม่ได้ขายความสวยอย่างเดียว แต่เราเป็นมากกว่านั้น ทั้งความคุ้มค่าของราคา ดีไซน์ ต้องควบคู่ไปกับการใช้งานที่ยั่งยืน”
สำหรับความพิเศษ 2 รุ่น ความแตกต่างคร่าวๆ มีดังนี้
DEEPAL L07 ได้รับรางวัล Red Dot Award 2023 Product Design Award
- DEEPAL L07 รถยนต์ Intelligent Sport Fastback EV คันแรกในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของ CHANGAN ได้รับรางวัล Red Dot Award 2023 Product Design Award (ชื่อที่ได้รับรางวัล: SL03) โดดเด่นด้วยการออกแบบภายนอกและภายในที่พิถีพิถันจากการรังสรรค์ของทีมดีไซน์ระดับโลก
- เป็นแพลตฟอร์มใหม่ของ CHANGAN ถูกออกแบบมาเฉพาะ DEEPAL
- ขับเคลื่อนด้วยล้อหลัง (Rear Wheel Drive: RWD)
- ห้องโดยสารอัจฉริยะ
- มีระบบจดจำตำแหน่งเบาะคนขับ เบาะปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง
- ออกแบบให้มีการกระจายน้ำหนักที่สมดุลทั้ง 4 ล้อ (50:50)
- ประสิทธิภาพขั้นสูง อัจฉริยะขั้นสูง และสมรรถนะขั้นสูง เหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน
- แพลตฟอร์ม EPA1 มาพร้อมระบบการจัดการแบตเตอรี่ดิจิทัลแบบ IBC (Intelligent Battery Control)
- มีระบบติดตามประสิทธิภาพแบตเตอรี่ การเตือนภัยด้านความเสี่ยง และการจัดการระบบชาร์จแบตเตอรี่
- ในประเทศไทยมีจำหน่ายทั้งหมด 5 สี ได้แก่ สีขาว, สีดำ, สีเทา, สีน้ำเงิน และสีเขียว
สมรรถนะ (Performance)
- กำลังสูงสุด (กิโลวัตต์/พีเอส) 190/258
- ความจุแบตเตอรี่ (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) 66.8
- DEEPAL S07 รถยนต์ Smart Lifestyle SUV ที่สะท้อนไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ผ่านการผสมผสานเทคโนโลยีการขับขี่ที่ล้ำสมัยเข้ากับการออกแบบที่เรียบหรู
DEEPAL S07 รถยนต์ Smart Lifestyle SUV
- เป็นแพลตฟอร์มใหม่ของ CHANGAN ถูกออกแบบมาเฉพาะ DEEPAL ขับเคลื่อนล้อหลัง (Rear Wheel Drive: RWD)
- ออกแบบให้มีการกระจายน้ำหนักที่สมดุลทั้ง 4 ล้อ (50:50) เป็นแพลตฟอร์มที่มีความปลอดภัยขั้นสูง
- ประสิทธิภาพขั้นสูง อัจฉริยะขั้นสูง และสมรรถนะขั้นสูง เหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน
- ระบบการจัดการแบตเตอรี่ดิจิทัลแบบ IBC (Intelligent Battery Control) ผสานการทำงานระหว่างการวิเคราะห์บนระบบคลาวด์ ทำให้แม่นยำ
- มีการติดตามประสิทธิภาพแบตเตอรี่ การเตือนภัย และการจัดการระบบชาร์จแบตเตอรี่
- ในประเทศไทยมีจำหน่ายทั้งหมด 6 สี ได้แก่ สีขาว, สีดำ, สีเทา, สีส้ม, สีเหลือง และสีเขียว
- เบาะคนขับปรับไฟฟ้า 6 ทิศทาง พร้อมปุ่มดันหลังปรับไฟฟ้า 4 ทิศทาง (6-Way Power Adjustment)
- เบาะผู้โดยสารด้านหน้าปรับไฟฟ้า 4 ทิศทาง (4-Way Power Adjustment Front Passenger Seat)
- ปุ่ม Shortcut บนพวงมาลัย 2 ปุ่ม เลือกได้ 4 ฟังก์ชัน
- ห้องโดยสารอัจฉริยะ (Intelligent Cabin)
- ระบบจอแสดงผลการขับขี่บนกระจกบังลมหน้าแบบ AR-HUD
- Apple CarPlay แบบไร้สาย (Wireless Apple CarPlay)
สมรรถนะ (Performance)
- กำลังสูงสุด (กิโลวัตต์/พีเอส) 190/258
- ความจุแบตเตอรี่ (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) 66.8
วางกลยุทธ์ ‘บริการหลังการขายต้องมาเป็นอันดับแรก’
จู หัวหรง ย้ำว่า การทำตลาดในไทย CHANGAN จะเน้นไปที่กลยุทธ์เรื่องของการบริการหลังการขายมาเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยเรื่องคุณภาพของตัวรถ และราคาที่จับต้องได้ เนื่องจาก CHANGAN มีการผลิตเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ต้นทุนต่ำได้ รวมทั้งมีเทคโนโลยีล้ำสมัยเป็นจุดแข็งอยู่ในมือ
พร้อมทั้งเตรียมขยายโชว์รูมและศูนย์บริการวางไว้ที่ 40 แห่งภายในปีนี้ และจะขยายเป็น 100 แห่งในปี 2567 โดยจะมีรูปแบบการขายครบทุกช่องทาง ทั้งออฟไลน์และออนไลน์
“ทำให้วันนี้ DEEPAL L07 และ DEEPAL S07 ลูกค้าชื่นชอบและเชื่อมั่น จนมียอดจองสิทธิ์ในงานเข้ามาแล้วจำนวนมาก แม้จะยังไม่มีการประกาศราคาอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะประกาศในงาน Motor Expo 2023 ครั้งที่ 40 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 11 ธันวาคม 2566 แต่ก่อนจะถึงสิ้นปี เราวางเป้าหมายการจำหน่ายหลังจากเปิดตัวเอาไว้ที่ 20,000-30,000 คัน และอนาคตจะส่งอีก 2 แบรนด์เข้ามาทำตลาดในไทย คือ NEVO และ AVATR อีกด้วย”
CHANGAN ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน CSR
รถยนต์ไฟฟ้าถือว่าเป็น Green สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ช่วยให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ส่งผลให้ตลาดเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว ดีต่อผู้ใช้และต่อโลกในเรื่องของการลดการปล่อยมลพิษ ที่จีนเราทุ่มเทไปกับการทำวิจัยเพื่อผลักดันสังคมสีเขียว นอกจากนี้เราได้จัดกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคมทุกมิติ ทั้งสร้างงานสร้างอาชีพให้กับสถานศึกษา นักศึกษาจบใหม่ แน่นอนว่าหาก CHANGAN มาลงทุนในไทยแล้ว จะต้องมีแผนเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้เช่นกัน ซึ่งอนาคตจะต้องร่วมมือกับดีลเลอร์ต่อไป
สุดท้ายทำไมต้องเลือกเป็นเจ้าของแบรนด์ฉางอาน
ท่ามกลางการแข่งขันที่ท้าทายมากขึ้น CHANGAN เป็นแบรนด์น้องใหม่ในไทย เรายังคงเป็นแบรนด์ที่ไม่หยุดพัฒนา เราไม่ได้สวยแค่ดีไซน์ แต่ยังดูแลลูกค้า มีบริการหลังการขายพร้อมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการ ความน่าเชื่อถือ ราคาที่คุ้มค่า คุณภาพ และความยั่งยืน หากคนไทยมีโอกาสได้เดินทางไปจีน อยากให้มาชมเทคโนโลยีที่ฉงชิ่ง และทำความรู้จัก DNA บริษัทของเรา