×

Chanel จับมือ Farfetch สร้างประสบการณ์ใหม่กับเทคโนโลยีคล้าย AR

20.02.2018
  • LOADING...

บทบาทของร้านค้าปลีก หรือที่เรียกกันว่า Physical Store กำลังเป็นที่ถกเถียงในอุตสาหกรรมแฟชั่น เนื่องจากลูกค้าสมัยนี้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ามิลเลนเนียลส์ที่หันมาช้อปออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ส่งผลต่อยอดขายอย่างมหาศาล แค่ในกรุงเทพฯ เอง เราก็ได้เห็นแบรนด์ระดับลักชัวรีเข้าออกเป็นว่าเล่น ล่าสุดแบรนด์มหาอำนาจจากฝรั่งเศสอย่าง Chanel ตัดสินใจลงทุนสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ กับบริษัทออนไลน์แฟชั่นยักษ์ใหญ่ Farfetch ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับบริษัทอื่นเป็นครั้งแรก เพื่อหวังสร้างสรรค์ประสบการณ์ให้กับผู้ซื้อที่เดินเข้าร้าน

 

Farfetch เป็นหนึ่งในออนไลน์แพลตฟอร์มแฟชั่นที่ใหญ่สุดของโลก ก่อตั้งในปี 2007 โดยซีอีโอและนักธุรกิจชาวโปรตุเกส José Neves พร้อมคอนเซปต์การเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและกว่า 700 ร้านค้าทั่วโลก โดยใช้ Farfetch เป็นคนจัดส่งสินค้า ต่อมาทางบริษัทก็ขยายตัวเรื่อยๆ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ลอนดอน ร่วมถึงออฟฟิศตามหัวเมืองสำคัญ อาทิ นิวยอร์ก, โตเกียว, มอสโก และเซี่ยงไฮ้ โดยทุกวันนี้ Farfetch มีพนักงานกว่าพันคน ได้ซื้อธุรกิจห้างดัง Browns ที่ลอนดอน และมีการทำโปรเจกต์พิเศษกับผู้เล่นสำคัญในวงการอย่าง Condé Nast บริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ของอเมริกา, JD.com เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเบอร์ 2 ของประเทศจีน ที่ลงทุนเงินราว 397 ล้านเหรียญให้กับ Farfetch และล่าสุดก็แบรนด์ Chanel

 

Bruno Pavlovsky ประธานของ Chanel ย้ำชัดเป็นอย่างแรกว่า การร่วมมือในครั้งนี้ไม่ได้แปลว่าทางแบรนด์จะเปลี่ยนใจและเริ่มหันมาขายเสื้อผ้าหรือกระเป๋าบนเว็บไซต์ Farfetch เพราะยังมีจุดยืนเดิมที่เชื่อในประสบการณ์การเข้าร้านจริงๆ ที่มีเกือบ 200 สาขาทั่วโลก แต่การร่วมมือครั้งนี้เป็นการลงทุนกับทีมงาน Farfetch ให้คิดค้นเทคโนโลยีต่างๆ ที่เชื่อมโยงความต้องการของลูกค้า Chanel กับสินค้าและร้านค้า

 

เทคโนโลยีที่พูดถึงนี้ได้แรงบันดาลใจจากเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ซึ่งทางเว็บไซต์ Business of Fashion ได้เรียกชื่อใหม่ว่า Augmented Retail โดย Jose Neves ผู้ก่อตั้ง Farfetch ได้บรรยายถึงลองเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ว่า

 

“สำหรับลูกค้า Chanel ที่มีฐานข้อมูลไม่ว่าจะจับจ่ายสินค้าที่เซี่ยงไฮ้หรือที่ไหน เธอหรือเขาสามารถไปสาขาลอสแอนเจลิส เดินเข้าไปในร้านแล้วพบว่าทางร้านมีข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าคนนั้นไว้พร้อม ทั้งไซส์เสื้อผ้า สไตล์ที่ชอบ ส่วนลูกค้าวีไอพีเลือกนัดหมายเวลากับช่างตัดเย็บของแบรนด์ล่วงหน้าได้” นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้นผ่านแอปพลิเคชันของ Chanel ที่มีการปรับปรุงใหม่ ส่วนลูกค้าคนไหนที่ต้องการเก็บข้อมูลไว้เป็นส่วนตัว ก็สามารถกด ‘Do Not Disturb’ ในแอปพลิเคชันได้ด้วย

 

Jose Neves ผู้ก่อตั้ง Farfetch และ Bruno Pavlovsky ประธานของ Chanel

 

การร่วมมือในครั้งนี้ก็ถือว่าสำคัญมากในเชิงธุรกิจของ Chanel เพราะเป็นการแจกฐานข้อมูลลูกค้าบางส่วนให้กับคนนอก (Farfetch) เป็นครั้งแรก แต่ก็ยังสะท้อนว่าทางแบรนด์ยังคงไม่ขอตามคู่แข่งสำคัญในเครือ LVMH (Louis Vuitton), Kering (Gucci) หรือ Hermès ที่หันมาขายสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยทุกวันนี้ Chanel ขายแต่สินค้าแว่นตา น้ำหอม และความงามทางออนไลน์เท่านั้น ซึ่งนักวิชาการมีการคาดการณ์มูลค่าของแบรนด์ทุกวันนี้อยู่ที่ราว 20 พันล้านเหรียญ ตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1909 โดย Coco Chanel

 

ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีออนไลน์อย่างเดียวที่ Chanel ลงทุน แต่ออฟไลน์ทางแบรนด์ก็เพิ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าจะมอบเงิน 25 ล้านยูโรในการซ่อมแซมบูรณาการ Grand Palais กรุงปารีส หนึ่งในสถานที่จัดงานสำคัญและเก่าแก่สุดของโลกที่สร้างเมื่อปี 1900 และทาง Chanel ได้ใช้เป็นสถานที่จัดแฟชั่นโชว์ตั้งแต่ปี 2005 พร้อมโชว์สุดตระการตา โดยการซ่อมแซมจะเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 2020 และคาดว่าจะใช้เวลา 4 ปี

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X