×

คอลเล็กชัน Métiers d’Art ของ CHANEL คืออะไร และทำไมแฟชั่นโชว์ล่าสุดต้องไปจัดที่เมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัล

23.12.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เมื่อปี 2002 Karl Lagerfeld และทีมงานของเขา ซึ่งร่วมไปถึงมือขวาอย่าง Virginie Viard มีไอเดียที่อยากยกระดับคอลเล็กชัน Pre-Fall ของแบรนด์ด้วยการเรียกว่า Métiers d’Art ที่จะหาจุดตรงกลางระหว่างเสื้อผ้า Ready to Wear และ Haute Couture โดยความพิเศษจะอยู่ที่ว่าทุกชิ้นจะมีการดีไซน์ที่ใช้งานฝีมือ Craftsmanship ของเวิร์กช็อปต่างๆ ที่ทาง CHANEL ได้เข้ามาดูแลกิจการ
  • ทาง Virginie Viard เผยว่าเธออยากจะมาจะจัดโชว์ที่เมืองดาการ์กว่า 3 ปีแล้ว โดยสิ่งที่ทำให้เธอสปาร์กไอเดียนี้ขึ้นมาก็เพราะเพื่อนฝูงและคนที่เธอร่วมงานด้วยที่ CHANEL ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าประเทศเซเนกัลกำลังเป็นอีกหนึ่ง Cultural Hub ของทวีปแอฟริกาที่น่าติดตาม 
  • งาน Métiers d’Art 2022/23 ที่ดาการ์ทาง CHANEL ก็ได้จัดเป็นเฟสติวัลยาว 3 วันที่มองเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม (Cultural Exchange) แบบ 360 องศา ซึ่งนอกเหนือจากตัวแฟชั่นโชว์เอง ก็มีอีกหลากหลายกิจกรรมที่ทางแบรนด์ได้ชวนชาวเซเนกัลที่คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์ ดนตรี เต้น หรือวรรณกรรมได้มามีส่วนร่วม 
  • หลังจากนี้ทาง CHANEL จะต่อยอดและสานสัมพันธ์กับเมืองดาการ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม – 31 มีนาคม 2023 ทางแบรนด์ก็จะจัดนิทรรศการชื่อ la Galerie du 19M ที่พิพิธภัณฑ์ Théodore Monod African Art Museum ในเมืองดาการ์ ซึ่งจะพูดถึงเรื่องราวความสำคัญของงานฝีมือและไฮไลต์ผลงานของชาวเซเนกัลด้วย

 

วันที่ 6 ธันวาคม 2022 ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวันที่ต้องถูกจารึกในประวัติศาสตร์แฟชั่น เพราะ CHANEL ได้กลายเป็นแบรนด์ลักชัวรีเจ้าแรกที่ได้ปักหมุดไปจัดรันเวย์โชว์ ณ ภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮารา ที่เมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัล สำหรับคอลเล็กชัน Métiers d’Art 2022/23 ซึ่งก็ได้รับคำชมอย่างล้นหลามกับทั้งผลงานการดีไซน์เสื้อผ้าของ Virginie Viard และที่มากไปกว่านั้นกับการที่ CHANEL ดันเพดานและสร้างมาตรฐานใหม่กับการทำอีเวนต์แบบ Destination Show ที่ไม่ได้สวยแค่เปลือกนอกและฟู่ฟ่าตามที่คาดหวังได้จากแบรนด์ลักชัวรี แต่เปลือกในก็งดงาม มีคุณค่า และช่วยขับเคลื่อนสังคมได้ไปอีกขั้น

 

แต่ทำไมถึงแฟชั่นโชว์ Métiers d’Art 2022/23 ของ CHANEL ถึงสำคัญขนาดนี้ และเราได้เรียนรู้บทเรียนอะไรบ้าง ทาง THE STANDARD POP จะมาถอดรหัสให้รู้กัน

 

แฟชั่นโชว์ Métiers d’Art 2022/23 

 

คอลเล็กชัน Métiers d’Art คืออะไร

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 32 ปีที่แล้วช่วงกลางปี 1990 ทาง CHANEL ได้เป็นแบรนด์ลักชัวรีเจ้าแรกที่ตัดสินใจจัดแฟชั่นโชว์ Cruise Collection ในรูปแบบ Destination Show ที่วนเวียนไปจัดตามหัวเมืองสำคัญทั่วโลก ซึ่งในตอนนั้นทาง Karl Lagerfeld ก็เลือกสำนักงานใหญ่ของ CHANEL ที่ถนน Rue Cambon กรุงปารีส เพื่อจัดโชว์ 

 

12 ปีต่อมาทาง Karl Lagerfeld และทีมงานของเขา ซึ่งร่วมไปถึงมือขวาอย่าง Virginie Viard ก็มีไอเดียที่อยากยกระดับคอลเล็กชัน Pre-Fall ของแบรนด์ด้วยการเรียกว่า Métiers d’Art ที่จะหาจุดตรงกลางระหว่างเสื้อผ้า Ready to Wear และ Haute Couture ซึ่งคอลเล็กชันนี้จะมีวางขายในร้านทั่วโลกช่วงเดือนมิถุนายน แต่ความพิเศษจะอยู่ที่ว่าทุกชิ้นจะมีการดีไซน์ที่ใช้งานฝีมือ Craftsmanship ของเวิร์กช็อปต่างๆ ที่ทาง CHANEL ได้เข้ามาดูแลกิจการและอยู่ภายใต้หน่วยงาน Paraffection 

 

โดยสำหรับคอลเล็กชัน Métiers d’Art ก็มีแค่ CHANEL เป็นแบรนด์เดียวของโลกที่ทำ และทุกปีก็จะจัดแฟชั่นโชว์ในรูปแบบ Destination Show ทั่วโลกเช่นกันช่วงต้นเดือนธันวาคม ซึ่งก็เคยจัดมาแล้วที่นิวยอร์ก เซี่ยงไฮ้ โรม ดัลลัส เอดินบะระ และแน่นอนปารีส บ้านเกิดของแบรนด์เอง ซึ่งก็เป็นเมืองแรกที่จัดโชว์เมื่อปี 2002 ณ สำนักงานใหญ่ของแบรนด์เหมือนกับโชว์แรกของ Cruise Collection ซึ่งก็สำคัญมากสำหรับแบรนด์ CHANEL ที่พอจะทำอะไรขึ้นมาใหม่ก็ต้องเริ่ม ณ สถานที่ที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับ Gabrielle Chanel ผู้ก่อตั้งแบรนด์

 

ดีเทลคอลเล็กชัน Métiers d’Art 2022/23 

 

หน่วยงาน Paraffection ของ CHANEL คืออะไร

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1985 ทาง CHANEL ได้เข้าซื้อกิจการแบรนด์ Desrues ที่โดดเด่นในเรื่องการทำ Costume Jewelry เป็นเวิร์กช็อปแรก และต่อมาในปี 1996 ทาง CHANEL ก็ได้เข้ามาดูแลกิจการแบรนด์ Maison Michel ที่ถนัดเรื่องหมวกและ Maison Lemarié ที่ถนัดเรื่องขนนกเช่นกัน

 

แต่เพื่อบริหารจัดการเวิร์กช็อปเหล่านี้ให้ง่ายขึ้น ทาง CHANEL เลยจัดตั้งหน่วย Paraffection ขึ้นมาในปี 1997 เพื่อดูแลภายใต้ร่มเดียวกัน โดยเหตุผลสำคัญที่ทาง CHANEL ได้ซื้อกิจการเวิร์กช็อปต่างๆ ก็เพื่ออยากสืบทอดและรักษาคงไว้ของเรื่องราว Craftsmanship ที่แต่ละแบรนด์มีความช่ำชองและแทบจะหาที่ไหนไม่ได้แล้วบนโลกนี้ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่วงการแฟชั่นได้หันมาใช้เทคโนโลยีมายิ่งขึ้นแทนงานฝีมือ

 

มาวันนี้หน่วย Paraffection ก็มีมากกว่า 40 เวิร์กช็อปกับช่างฝีมือ Artisan กว่า 6,000 ชีวิต ซึ่งในปี 2021 ทาง CHANEL ก็ได้เปิดตึก Le19M ซึ่งมีขนาด 25,500 ตารางเมตร ในย่าน Aubervilliers ตรงชานเมืองของกรุงปารีส เพื่อให้ 11 เวิร์กช็อปอยู่ร่วมกัน และเป็นที่ฝึกฝนของคนรุ่นใหม่ที่อยากมาเป็นช่างฝีมือ โดยเวิร์กช็อปที่มาอยู่ภายใต้ Paraffection ก็ยังคงได้รับอิสระเต็มที่ที่จะร่วมงานกับแบรนด์คู่แข่งได้ 

 

การแสดงของ Obree Daman ก่อนเริ่มแฟชั่นโชว์

 

แล้วทำไมโชว์คอลเล็กชัน Métiers d’Art 2022/2023 ต้องไปจัดที่เมืองดาการ์

 

ต้องยอมรับว่าตอนที่ CHANEL ประกาศครั้งแรกว่าจะจัดมาจัดแฟชั่นโชว์คอลเล็กชัน Métiers d’Art 2022/23 ที่ดาการ์ เมืองหลวงประเทศเซเนกัล ข่าวนี้ก็สร้างความแปลกใจให้หลายคน เพราะโชว์นี้ถือว่าจะเป็นโชว์ Métiers d’Art ครั้งแรกของ Virginie Viard ในฐานะอาร์ทิสติกไดเรกเตอร์ที่จะจัดข้างนอกประเทศฝรั่งเศส ซึ่งหลายคนก็คงคิดว่าน่าจะเป็นหัวเมืองสำคัญของประเทศพัฒนาแล้ว โดยต้องหรูหราอลังการแน่นอน และมี Top Spender ต่างพาเหรดมากันใน Total Look ของคอลเล็กชันล่าสุดเหมือนที่เราเคยเห็นมา

 

แต่หากมองลึกลงไป เราเชื่อว่า Virginie Viard กำลังอยากสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับแบรนด์ CHANEL และวงการแฟชั่น ที่เธอที่ไม่อยากถูกเปรียบเทียบอีกต่อไปและอยู่ภายใต้ร่มเงาของ Gabrielle Chanel และ Karl Lagerfeld เหมือนทุกครั้ง ซึ่งประเทศเซเนกัลก็ไม่ได้มีจุดเชื่อมโยงอะไรกับสองคนนี้เลย หรือ CHANEL เองก็ไม่ได้มีร้านเป็นของตัวเองอยู่ที่นั่น

 

ทาง Virginie Viard ได้เผยว่าเธออยากจะมาจะจัดโชว์ที่เมืองดาการ์กว่า 3 ปีแล้ว แต่ต้องเลื่อนมาตลอดเพราะสถานการณ์โควิด โดยสิ่งที่ทำให้เธอสปาร์กไอเดียนี้ขึ้นมาก็เพราะเพื่อนฝูงและคนที่เธอร่วมงานด้วยที่ CHANEL ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าประเทศเซเนกัลกำลังเป็นอีกหนึ่ง Cultural Hub ของทวีปแอฟริกาที่น่าติดตาม ทั้งในเชิงดนตรี ศิลปะ ภาพยนตร์ หรือแฟชั่นเอง 

 

ซึ่งหากเรามองในบริบทสังคม เราก็จะเห็นว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคนก็ได้เริ่มสนใจเรื่องทวีปแอฟริกามากขึ้นเรื่อยๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับแค่ประวัติศาสตร์ความเป็นมา หรือที่ตั้งภูมิศาสตร์ที่คุณสามารถไปเที่ยวชมเสือดาวที่ซาฟารีได้ แต่คนสนใจเรื่องธุรกิจที่เกิดขึ้นในทวีปอย่างเช่นการส่งออก และที่โดดเด่นมากคือผลงานเชิงความคิดสร้างสรรค์ของคนท้องถิ่น ซึ่งในสื่อเองก็ถูกไฮไลต์ในรายการชื่อดังอย่าง Inside Africa ของ CNN หรือทางศิลปินอย่างสองพี่น้อง Beyoncé และ Solange Knowles ก็ได้มาถ่ายมิวสิกวิดีโออยู่บ่อยครั้ง

 

การแสดงเต้นชื่อ Slow Dance ออกแบบโดย Germaine Acogny และ Dimitri Chamblas

 

การเป็นมากกว่าแฟชั่นโชว์ทั่วไปที่เราคุ้นเคยจาก CHANEL

 

“ต่อไปเราไม่สามารถที่จะเดินทางไปจัดแฟชั่นโชว์ 20 นาทีที่อีกฟากฝั่งของโลกและจบแค่นั้นพอ” Bruno Pavlovsky ประธานฝั่งแฟชั่นของ CHANEL ได้ให้สัมภาษณ์กับทางเว็บไซต์ WWD ถึงการต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดการจัดแฟชั่นโชว์ในครั้งนี้

 

โดยหากใครได้ติดตามแฟชั่นโชว์ของ CHANEL มานานหลายปี โดยเฉพาะกับโชว์ Métiers d’Art หรือ Cruise ก็จะค่อนข้างเดาได้ว่าฟอร์แมตงานจะเป็นยังไงและมีอะไรเกิดบ้าง โดยหลายครั้งก็เป็นงานหนึ่งวันจบกับตัวโชว์เองและอาฟเตอร์ปาร์ตี้ที่มีศิลปินเบอร์ใหญ่มาแสดง

 

แต่กับงาน Métiers d’Art 2022/23 ที่ดาการ์ทาง CHANEL ก็ได้จัดเป็นเฟสติวัลยาว 3 วันที่มองเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม (Cultural Exchange) แบบ 360 องศา ซึ่งนอกเหนือจากตัวแฟชั่นโชว์เอง ก็มีอีกหลากหลายกิจกรรมที่ทางแบรนด์ได้ชวนชาวเซเนกัลที่คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์ ดนตรี เต้น หรือวรรณกรรมได้มามีส่วนร่วม พร้อมกับเหล่าแบรนด์แอมบาสเดอร์ อย่างเช่นมีการแสดงสไตล์คอนเทมโพรารีแดนซ์(Contemporary Dance) ในชื่อ Slow Dance ที่ออกแบบโดย Germaine Acogny และ Dimitri Chamblas ซึ่งแสดงลานด้านนอกสถานที่จัดแฟชั่นโชว์อย่าง Palais de Justice ซึ่งทุกวันนี้สถานที่แห่งนี้ก็จัดงานศิลปะ Art Biennial ของประเทศเซเนกัล

 

นอกจากนี้ก็มีเซสชันพูดคุยเรื่องวรรณกรรมชื่อ Literary Rendezvous ที่ได้ Charlotte Casiraghi มาดำเนินงานและแลกเปลี่ยนทัศนคติกับนักประพันธ์ Marie NDiaye และนักแสดง Rokhaya Niang ที่มาจากประเทศเซเนกัลทั้งคู่ บวกกับยังมีงาน Masterclass วันสุดท้ายอีกด้วยที่ทาง Chanel ได้ชวนนักเรียนหลายร้อยชีวิตจากสถาบันอย่าง Dakar Design Hub, National School of Arts, Institut Supérieur des Arts et des Cultures (ISAC), Université Gaston Berger de Saint-Louis และ Bordeaux École de Management Dakar ให้ฟังและถามคำถามกับ Bruno Pavlovsky และ Pharrell Williams 

 

เซสชันพูดคุยเรื่องวรรณกรรมชื่อ Literary Rendezvous 

 

งาน Masterclass ณ Palais de Justice 

 

ด้านตัวแฟชั่นโชว์เองก็ถือว่างดงามและเป็นผลงานที่หลายคนยกให้เป็นคอลเล็กชันที่ดีสุดของ Virginie Viard เท่าที่เคยทำมา ซึ่งทางเพจอินสตาแกรม Style Not Com ก็ได้รายงานว่า มีการใช้นางแบบชาวแอฟริกัน 19 คน โดย 12 คนมาจากประเทศเซนากัล ซึ่งรวมถึงนักแสดงหญิงชื่อดังของประเทศ Mama Sané ที่เคยฝากผลงานในเรื่อง Atlantics ที่เคยเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำที่เทศกาลภาพยนตร์ Cannes Film Festival เมื่อปี 2019 พร้อมยังได้นักเรียนทำหนังจากสถานบัน Kourtrajmé ของผู้กำกับ Ladj Ly มาทำสารคดีเรื่องราวเบื้องหลังของโชว์ด้วย ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าทาง CHANEL เปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่มาสร้างสรรค์พวกคอนเทนต์ที่สื่อสารออกไปด้วย แทนที่ต้องเป็นแค่ทีมภายในหรือพวกช่างภาพระดับเอลิสต์เท่านั้น

 

ส่วนอีกหนึ่งความน่าสนใจด้วยก็คือแขกที่ชวนมาร่วมงานอีเวนต์ Métiers d’Art 2022/23 ก็ไม่เหมือนครั้งไหนๆ เพราะคัดสรรมาจากคนที่เชื้อชาติหรือได้มีบทบาทสำคัญต่อทวีปแอฟริกาเอง ไม่ว่าจะเป็นนางแบบซูเปอร์โมเดล Naomi Campbell ที่ได้ผลักดันด้านแฟชั่นของทวีปแอฟกาอย่างมหาศาล, Edward Enninful บรรณาธิการบริหาร British Vogue ที่อพยพจากประเทศกานากับครอบครัวตอนอายุ 13 ปี, Whitney Peak นางเอก Gossip Girl เวอร์ชันใหม่ที่เกิดและเติบโตที่ประเทศยูกานดา, Pharrell Williams และยังมี Marieme Faye Sall สตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศเซเนกัลก็ให้เกียรติมาร่วมชมแฟชั่นโชว์ด้วย

 

จากซ้าย: Naomi Campbell, Pharrell Williams และ Whitney Peak

 

ความสัมพันธ์และก้าวต่อไปของ CHANEL กับเมืองดาการ์

 

หลังจากนี้ทาง CHANEL ก็จะต่อยอดและสานสัมพันธ์กับเมืองดาการ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม – 31 มีนาคม 2023 ทางแบรนด์ก็จะจัดนิทรรศการชื่อ la Galerie du 19M ที่พิพิธภัณฑ์ Théodore Monod African Art Museum ในเมืองดาการ์ ซึ่งจะพูดถึงเรื่องราวความสำคัญของงานฝีมือและไฮไลต์ผลงานของชาวเซเนกัลด้วย ก่อนที่นิทรรศการจะกลับไปจัด ณ ตึก Le19M ที่ Aubervilliers ซึ่งก็จะทำให้ชาวฝรั่งเศสได้เปิดโลกรู้ถึงงาน Craftsmanship ของแอฟริกามากยิ่งขึ้น

 

มากไปกว่านี้ ทาง Bruno Pavlovsky ก็ได้บอกกับ WWD ด้วยว่าทาง CHANEL กำลังตั้งเป้าที่ภายใน 3-5 ปีจะทำงานกับผู้ผลิตผ้าฝ้ายออร์แกนิกที่เซเนกัลเพื่อเป็นอีกหนึ่งซัพพลายเออร์ ซึ่งถือว่ายิ่งใหญ่มากเพราะจะช่วยเหลือด้าน GDP และการส่งออกอย่างท่วมท้น

 

บทสรุปของอีเวนต์ Métiers d’Art 2022/23 ของ CHANEL ที่ดาการ์

 

CHANEL ถือได้ว่าเป็นแบรนด์แฟชั่นที่มองไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลาและเป็นต้นแบบให้คนอื่นทำตาม ซึ่งกับอีเวนต์ Métiers d’Art 2022/23 และ Brand Activation อื่นๆ ตลอดทั้งปีก็เห็นได้ชัดว่าทาง CHANEL ไม่ได้สนใจที่จะเป็นแค่แบรนด์แฟชั่นที่สร้างยอดขาย สร้างกระแสไวรัลให้รู้สึกว้าวอยู่ช่วงหนึ่งและหายไป แต่กลับอยากเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม พร้อมใช้แพลตฟอร์มและอำนาจในมือตัวเองเพื่อส่องสปอตไลต์ไปยังกลุ่มคน เมือง หรือประเทศที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ แต่แค่ไม่เคยได้มีโอกาสบนเวทีโลก ซึ่งความน่าตื่นเต้นก็คือกำแพงระหว่างประเทศโลกที่หนึ่งกับโลกที่สอง, สาม, และสี่ ก็เหมือนได้พังทลายลง และต่อไปไม่ว่าคุณจะมาจากประเทศอะไรคุณก็รู้ว่าการที่วันหนึ่ง CHANEL จะมาสร้างสรรค์อะไรในประเทศก็เป็นได้หมดและไม่ต้องเพ้อฝันไปอย่างเดียว

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising