พอดูโชว์คอลเล็กชัน Fall/Winter 2020 ของ Chanel จบ ซึ่งครบรอบ 1 ปีพอดีที่ เวอร์จินี วิอาร์ด ได้เข้ามาเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของแบรนด์ สิ่งที่ชัดเจนสุดคือ เราคงต้องทำใจ และหยุดเสียเวลามานั่งเปรียบเทียบผลงานของเธอกับผลงาน คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ สักที เพราะเราต้องเข้าใจว่า นี่คือวันใหม่ ทศวรรษใหม่ และ Chanel ก็ต้องเดินหน้าต่อไปในขอบเขตใหม่ๆ ในแบบอย่างที่เวอร์จินีอยากจะให้เป็น แม้เธอจะเป็นมือขวาของคาร์ลมาหลายทศวรรษ แต่เวอร์จินีก็ไม่ได้จำเป็นต้องทำทุกอย่างเหมือนอดีตหัวหน้า และมีสิทธิ์ที่จะมองต่าง คิดต่าง แม้ผลลัพธ์อาจจะไม่เพอร์เฟกต์เสมอไป
สำหรับคอลเล็กชันนี้ใน Show Notes ได้มีการเขียนว่า เวอร์จินีไม่อยากสร้างกรอบให้ตัวเอง ซึ่งไม่ต้องรอดูเสื้อผ้าก็รู้ เพราะฉากที่เนรมิตขึ้นมาใน Grand Palais สถานที่จัดโชว์ของแบรนด์ประจำ (ซึ่งกำลังจะเริ่มซ่อมแซมบูรณะสำหรับโอลิมปิก 2024) ที่มีความแอ็บสแตร็ก ไม่ได้มีธีมคอนเซปต์ครอบเอาไว้เหมือนโชว์ก่อนๆ ของเธอ เช่น ห้องสมุด (Fall/Winter Couture 2019) หรืออพาร์ตเมนต์ Gabrielle Chanel (Métiers d’Art 2020) แต่ฉากกลับเป็นเหมือนเกาะเล็กเกาะน้อยสีขาวล้อมรอบรันเวย์กระจก ซึ่งก็ยังถือว่าเด่นตระการตา เหมาะสำหรับยุค Instagram
คอลเล็กชันนี้มีทั้งหมด 72 ลุค (ถือว่าน้อยสำหรับ Chanel ที่แต่ก่อนต้อง 100 ลุคขึ้นไป) โดยเวอร์จินีสร้างสรรค์เสื้อผ้าที่เรียบนิ่งตามสไตล์ของเธอ เน้นโทนสีขาวดำ แทรกด้วยเขียวอ่อนและชมพูเล็กน้อย ผสมผสานหลากหลายแรงบันดาลใจเข้าด้วยกัน ตั้งแต่กิจกรรมการขี่ม้าของผู้ก่อตั้งแบรนด์ กาเบรียล ชาแนล, ภาพยนตร์เรื่อง Les Biches (1968) ของผู้กำกับ คล็อด ชาโบรล ที่ในสมัยนั้นเป็นที่ฮือฮาของสังคม เพราะเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคู่เลสเบี้ยน (ซึ่งก็ไม่รู้ว่านั่นคือเหตุผลที่มีนางแบบออกมาเดินเป็นคู่หรือไม่) และได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายของ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ที่ใส่สูทลายทางและรองเท้าขี้ม้าคู่กับเพื่อนสนิท แอนนา เพียจจี
เมื่อก่อน สิ่งที่ทำให้ Chanel อยู่ Top of Mind ของลูกค้าและสื่อแฟชั่นเสมอคือ ทุกคอลเล็กชันจะต้องมีกลุ่มสินค้าสนุกๆ ที่กลายเป็นกระแสไวรัสทันทีหลังโชว์จบ และบรรดาคนคลั่งแฟชั่นต้องมีเพื่อสร้าง Statement ว่า “ฉันคือสาวแฟชั่นตัวจริงนะเธอ” อย่างเช่น กระเป๋าคลัตช์รูปทรงจรวด ตะกร้าซูเปอร์มาร์เก็ต หรือกล่องนม แต่ในสมัยเวอร์จินีจะดูลดลง (ไม่นับที่ผู้หญิงเอเชียเอาริบบิ้นของแบรนด์มาผูกผมตาม เจนนี่ Blackpink) เพราะจะเน้นการสร้างสรรค์ไอเท็มคลาสสิกที่ดูคุ้มค่าในการลงทุนมากกว่า (ซึ่งยังไงก็ขายได้) แต่ในคอลเล็กชันล่าสุด ถ้าจะให้เดาว่าอะไรน่าจะมาแรง ก็อาจเป็นสเวตเตอร์รูปไม้กางเขนยุค Byzantine ในลุค 16 ซึ่ง แอนนา วินทัวร์ อาจได้แรงบันดาลใจเอาลุคนี้ขึ้นปก Vogue อเมริกา เพื่อยกย่องปกแรกของเธอที่นิตยสารเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1988 ที่เห็นนางแบบ มิเคลา เบอร์กู ใส่สเวตเตอร์ของ Christian Lacroix ที่ดูคล้ายกัน
ตั้งแต่เวอร์จินีเข้ามาเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ จุดโฟกัสของเธอที่ Chanel ดูเหมือนจะพยายามลดทอนความฟู่ฟ่าของแบรนด์ให้ทุกอย่างมีความใกล้ชิดมากขึ้น เป็นเสื้อผ้าใส่ในชีวิตจริง และเน้นความเป็นแบรนด์ผู้หญิงสมัยปัจจุบัน ซึ่งเราไม่เคยได้เห็นลุคเสื้อผ้าผู้ชายอีกเลย ต่างจากสมัยของคาร์ลที่จะมีแทรกในแต่ละโชว์ โดยผลลัพธ์ก็ดูเหมือนจะเวิร์ก เพราะ บรูโน ปาฟโลฟสกี ประธานของแบรนด์ ได้บอกกับทาง The Guardian ของประเทศอังกฤษ ว่า คอลเล็กชัน Cruise 2020 ที่เป็นคอลเล็กชันแรกภายใต้การควบคุมของเธอคนเดียว ก็กลายเป็นหนึ่งในคอลเล็กชันที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของ Chanel
แต่สิ่งหนึ่งที่เราเริ่มหวัง พอเวอร์จินีได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของการเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของ Chanel คือการกล้าที่จะก้าวเดินมาข้างหน้าม่าน และทำให้เห็นว่า Chanel คือแบรนด์ของเธอจริงๆ เหมือนที่ Show Note ของคอลเล็กชันนี้มีโควตตอนท้ายว่า “ฉันรัก Chanel มาก” ซึ่งแน่นอนว่า ทางแบรนด์มีเงินมหาศาลเชิงการตลาดที่จะทำให้เราเห็น Chanel ล้อมรอบชีวิตเราตลอดเวลา ซ้าย ขวา หน้า หลัง (ส่วนตัวเราดีใจที่ทางแบรนด์ลองอะไรใหม่ และเลือกให้ช่างภาพแฟชั่นชื่อดัง Inez & Vinoodh มาสร้างสรรค์คอนเทนต์เพื่อคอลเล็กชันนี้) แต่เรากลับอยากรู้ว่า เวอร์จินีคือใครแล้วจริงๆ มาวันนี้เธอยังไม่ได้ทำวิดีโอสัมภาษณ์หรือออกสื่อใดๆ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า เธออาจเป็นคนไม่อยากออกกล้องและเก็บตัว แต่เรากลับคิดว่า พอเราได้รู้จักเธอมากขึ้น ลูกค้ารู้จักเธอมากขึ้น นั่นอาจเป็นสิ่งที่ทำให้คนเข้าใจ Chanel ในวันนี้มากขึ้น และไม่ต้องโดนเปรียบเทียบเหมือนที่กล่าวไปตอนต้น เพราะต้องจำไว้ว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้ Chanel ประสบความสำเร็จขั้นนี้มาจากความผูกพันที่คนมีต่อเรื่องราวของ กาเบรียล ชาแนล และต่อมา คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ซึ่งถ้าสิ่งนี้เริ่มเกิดขึ้นกับ เวอร์จินี วิอาร์ด นั้นอาจจะเป็นพลังขับเคลื่อนอันมหาศาลให้กับแบรนด์ที่ชื่อ Chanel
ภาพ: Courtesy of Chanel