×

นาทีประวัติศาสตร์ ก่อนอินเดียประกาศความสำเร็จเป็นชาติแรก​ของ​โลก ​ที่​นำยานลงจอดบริเวณ​ขั้วใต้ของดวงจันทร์

โดย Mr.Vop
09.09.2019
  • LOADING...
Chandrayaan-2

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • วิกรัม คือหนึ่งใน 3 ส่วน ของ ‘จันทรายาน-2’ चंद्रयान 2 ยานอวกาศแห่งความภาคภูมิใจของคนอินเดีย มีหน้าที่หลักในการลงจอด ณ ขั้วใต้​ของ​ดวงจันทร์​ ดินแดนที่ไม่เคยมียานอวกาศของชาติใดลงจอดมาก่อน
  • แต่แล้วสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อการติดต่อสื่อสารกับยานแลนเดอร์ ‘วิกรัม’ ขาดหายไปเฉยๆ ขณะที่ยังอยู่ที่ระดับความสูง 2.1 กิโลเมตรจากผิวดวงจันทร์ 
  • และความตื่นเต้นก็บังเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน เมื่อกล้องถ่ายภาพระบบความร้อนของยานโคจรหรือออบิทเทอร์จันทรายาน-2 ได้สแกนพบยานแลนเดอร์ ‘วิกรัม’ อยู่ห่างจากตำแหน่งลงจอดออกมาเล็กน้อย และดูเหมือนว่าจะมีสภาพไม่เสียหายจากการตกกระแทกพื้น 

ช่วงตี 3 เศษของเช้าวันเสาร์ที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย ผู้คนที่สนใจความก้าวหน้าในด้านการสำรวจอวกาศทั่วโลก​โดยเฉพาะประชาชนชาวอินเดียทั้งประเทศ​ไปจนถึง​ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ต่างก็เฝ้าลุ้นระทึก​กับรายงานสดระหว่างการลงจอดของยานแลนเดอร์ ‘วิกรัม’ विक्रम ณ ขั้วใต้​ของ​ดวงจันทร์​ ดินแดนที่ไม่เคยมียานอวกาศของชาติใดลงจอดมาก่อน

 

วิกรัม คือหนึ่งใน 3 ส่วนของ ‘จันทรายาน-2’ चंद्रयान 2 ยานอวกาศแห่งความภาคภูมิใจของคนอินเดีย มีหน้าที่หลักในการลงจอดบนดวงจันทร์ อีก 2 ส่วนที่เหลือ คือ โรเวอร์ติดล้อหนัก 27 กิโลกรัมในชื่อ “ปรากยาน” प्रज्ञान ที่บรรจุอยู่ภายในยานแลนเดอร์ ‘วิกรัม’ อีกที ซึ่งจะแล่นออกสำรวจพื้นที่บริเวณโดยรอบ หลังยานแลนเดอร์ลงจอดเรียบร้อยแล้ว และยานออบิทเทอร์ หรือยานโคจร มีหน้าที่คอยสนับสนุนและสำรวจดวงจันทร์จากอวกาศใกล้ๆ นั้น

 

Chandrayaan-2

 

เมื่อถึงเวลา 03.08 น. ตามเวลาไทย ยานแลนเดอร์เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนลดความเร็ว เพื่อให้ตัวยานถูกแรงโน้มถ่วงดวงจันทร์ดึงให้โค้งลงสู่ตำแหน่งลงจอดที่หมายตาไว้ ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปด้วยดี ยานเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 48 เมตรตามแนวนอน และ 60 เมตรตามแนวตั้ง เข้าตามเส้นโค้ง เพื่อลงจอดตามที่วางแผนไว้  

 

แต่แล้วสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อการติดต่อสื่อสารกับยานแลนเดอร์ขาดหายไปเฉยๆ ขณะที่ยังอยู่ที่ระดับความสูง 2.1 กิโลเมตรจากผิวดวงจันทร์ เหลือเพียงสัญญาณแจ้งระดับความสูงที่ยังคงทำงานได้ ซึ่งสุดท้ายสัญญาณแจ้งความสูงนี้ก็ขาดหายไปที่ระยะ 330 เมตร สิ่งที่ทุกคนรับรู้ได้ ณ วินาทีนั้นก็คือ เราสูญเสียยานแลนเดอร์ ‘วิกรัม’ ไปแล้ว โดยจุดที่ยานขาดการติดต่อนั้นอยู่ห่างจากเป้าหมายการลงจอดราว 1 กิโลเมตรตามแนวระดับ

 

ทางหอบังคับการ ISRO ยังคงพยายามกู้คืนการสื่อสารทุกวิถีทาง แต่ก็ไม่สำเร็จ หลายฝ่ายคาดว่า ยานแลนเดอร์น่าจะตกกระแทกพื้นพังเสียหาย นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ทวีตข้อความให้กำลังใจทีมงาน ISRO และประกาศว่า จะไม่หยุดโครงการสำรวจอวกาศเพียงเท่านี้ 

 

 

แน่นอนว่า ยานโคจรหรือออบิทเทอร์ของจันทรายาน-2 ยังคงทำงานได้ ทางทีมงานที่หอบังคับการบนโลกจึงได้สั่งให้ยานโคจรพยายามสแกนหาว่า ยานแลนเดอร์ ‘วิกรัม’ ประสบชะตากรรมเช่นใด ตกเสียหายหรือไม่ โดยให้ใช้กล้องและอุปกรณ์ต่างๆ ค้นหา ณ บริเวณที่ยานแลนเดอร์ลงจอด นั่นคือที่ละติจูด 70°S หรือ 70 องศาใต้ของดวงจันทร์ 

 

Chandrayaan-2

 

และความตื่นเต้นก็บังเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน เมื่อกล้องถ่ายภาพระบบความร้อนของยานโคจรหรือออบิทเทอร์จันทรายาน-2 ได้สแกนพบยานแลนเดอร์ ‘วิกรัม’ อยู่ห่างจากตำแหน่งลงจอดออกมาเล็กน้อย และในเวลาต่อมา กล้องความละเอียดสูงแบบออพติคอล (OHRC) ที่ติดตั้งในยานโคจรก็พบว่า ยานแลนเดอร์ ‘วิกรัม’ นั้น ดูเหมือนจะมีสภาพไม่เสียหายจากการตกกระแทกพื้น 

 

เมื่อเป็นดังนี้ แม้จะยังกู้คืนระบบสื่อสารไม่ได้ และไม่อาจสั่งการให้ยานแลนเดอร์หรือโรเวอร์ ออกสำรวจผิวดวงจันทร์ตามแผนเดิมได้ แต่ทางอินเดียก็ได้ถือว่า ตนเป็นชาติแรกของโลกที่ทำซอฟต์แลนดิ้ง หรือการลงจอดอย่างเรียบร้อย ณ บริเวณใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และถือเป็นชาติที่ 4 ของโลกนับจากโซเวียต (ในเวลานั้น) สหรัฐฯ และจีน ตามลำดับ ที่สามารถนำยานแลนเดอร์ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ

 

ดังปรากฏในทวีตขององค์การอวกาศอินเดียหรือ ISRO มีข้อความดังนี้

 

 

หลังจากนี้ ทางหอบังคับการของ ISRO ก็ยังหาทางกู้คืนระบบสื่อสารกับยานแลนเดอร์ให้ได้ต่อไป โดยมีเงื่อนเวลาบังคับที่ 14 วันหลังการลงจอด ก่อนที่อุปกรณ์บนยานจะหมดอายุ เพราะความร้อนของผิวดวงจันทร์

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • หลายคนอาจนึกว่า ดวงจันทร์นั้นเย็นสบาย ด้วยความเข้าใจตามแสงจันทร์ที่ส่องมายังโลกว่า สวยเย็นตา แต่ที่จริงแล้ว ด้านสว่างของดวงจันทร์นั้นมีอุณหภูมิสูงถึง 127°C ที่เส้นศูนย์สูตร เรียกว่า ร้อนจนน้ำเดือดได้ทันที อุปกรณ์บนยานแลนเดอร์ต่างๆ จึงไม่อาจคงสภาพอยู่ได้นาน
  • ทำไมต้องเป็นขั้วใต้ของดวงจันทร์ บริเวณขั้วใต้เป็นเหมือน “โอเอซิส” เนื่องจากมีหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่อายุนับพันล้านปีที่ภายในมีน้ำแข็งปริมาณมหาศาลซ่อนอยู่ และน้ำแข็งนี้ไม่เคยละลายเนื่องจากก้นหลุมเป็นเงามืดไม่เคยถูกแสงอาทิตย์เลย น้ำแข็งคือคำตอบในการแปลงสภาพให้เป็นอ๊อกซิเจนสำหรับหายใจ ไฮโดรเจนสำหรับเป็นเชื้อเพลิงให้ยานอวกาศในอนาคต และน้ำสำหรับดื่มกิน โครงการ อาร์เทมีส (Artemis) ของสหรัฐฯที่จะนำผู้หญิงคนแรกมาเดินบนดวงจันทร์ในปี 2024 ก็มุ่งมาที่ขั้วใต้ดวงจันทร์นี้เช่นกัน
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising