×

จากไม้ขีดไฟก้านแรกของชนาธิป สู่คบเพลิงของธีราทร เจลีกกับคนไทยยังไปต่อได้ไหม?

26.02.2021
  • LOADING...
จากไม้ขีดไฟก้านแรกของชนาธิป สู่คบเพลิงของธีราทร เจลีกกับคนไทยยังไปต่อได้ไหม?

คิดถึงญี่ปุ่นชะมัด…

 

หลายคนน่าจะมีอารมณ์แบบนี้นะครับ โดยเฉพาะคนที่เคยเดินทางไปท่องเที่ยวหรือใช้ชีวิตที่แดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งเป็นประเทศที่ชวนให้เที่ยวไปเสียเกือบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเมืองที่สวยงาม สะอาด การเดินทางที่สะดวก รวมถึงวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่เป็นเอกลักษณ์

 

ผมเองนอกเหนือจากในเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว ก็แอบคิดถึงการไปชมเกมฟุตบอลที่ญี่ปุ่นด้วย เพราะนับแล้วก็เป็นเวลาร่วมปีเศษหลังจากที่ได้เดินทางไปเชียร์ ‘บุญจัง’ ธีราทร บุญมาทัน แบ็กซ้ายซูเปอร์สตาร์เอเชีย (ฉายาเท่ชะมัด!) ในเกมที่โยโกฮามา เอฟ. มารินอส เดินทางไปเยือนคาวาซากิ ฟรอนตาเล เมื่อเดือนธันวาคม 2562

 

วันนี้ (26 กุมภาพันธ์) ทั้งสองทีมก็จะกลับมาพบกันอีกครับในเกมเปิดสนามฟุตบอลเจลีก ฤดูกาล 2021 ซึ่งเริ่มเปิดม่านกันในวันนี้ และไปจบอีกทีในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นการเปิดและปิดฤดูกาลกันตามปกติอีกครั้งหลังจากที่ในฤดูกาลที่แล้วได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนทำให้ตารางแข่งขันอลหม่านกันไปหมด

 

ตามประสาของช่วงก่อนฤดูกาลจะเริ่มก็มีภาพข่าว สีสัน เรื่องราวต่างๆ ให้ผ่านตากันเยอะพอสมควรครับ (หนึ่งในเรื่องโปรดของผมคือการดูการประกวดมาสคอต ซึ่งปีนี้รางวัลตกเป็นของ ‘วีวีคุง’ จากทีมวี วาเรน นางาซากิ ซึ่งเป็นเจ้ากวางน้อยน่ารัก) ซึ่งเรื่องที่อ่านแล้วรู้สึกน่าสนใจคือรายงานข่าวเรื่องตัวเลขความนิยมของฟุตบอลเจลีกในต่างแดน

 

ข้อมูลจาก Nielsen Sports Japan บอกว่า ปัจจุบันเจลีกมีการถ่ายทอดสดกระจายไปมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกครับ (เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ที่มี 31 ประเทศ) และมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ โดย 2 ประเทศที่มีตัวเลขกราฟขาขึ้นโดดเด่นที่สุดคือจีนและไทย โดยเฉพาะในบ้านเราที่มีจำนวนผู้ชมเพิ่มถึง 15.2 ล้านคน มากกว่าปีกลายถึง 32 เปอร์เซ็นต์

 

หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือปัจจุบันลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดอยู่ในมือของ Siamsport ที่ถ่ายทอดสดให้แฟนฟุตบอลได้ชมกันฟรีอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งแม้ในเชิงของการตลาดจะชวนให้ขบคิดถึงเรื่อง Value ของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดนี้บ้าง แต่หากมองผลลัพธ์และตัวเลขที่เกิดขึ้นแล้วผมว่าทางด้าน เคย์ โคยาม่า ตัวแทนเจลีก ที่น่าจะเป็นคนคุ้นเคยของวงการฟุตบอลไทยไปแล้ว น่าจะพอใจ

 

อย่างน้อยก็มีคนได้เห็น ได้ดูเจลีก ซึ่งก็ตรงตามยุทธศาสตร์ในการพัฒนาวงการฟุตบอลของพวกเขาภายใต้แผน ‘The Asia Project’ ที่อยากให้เจลีกกลายเป็นพรีเมียร์ลีกแบบเอเชีย โดยมีจุดยืนที่การเป็น ‘คนรักที่สอง’ ของแฟนฟุตบอล ด้วยรู้ว่าเป็นการยากที่จะเบียดเอาชนะฟุตบอลลีกจากยุโรปได้

 

ยุทธศาสตร์ The Asia Project นี้เองที่เป็นประตูมิติที่เปิดกว้างให้นักฟุตบอลในแถบอาเซียนได้โอกาสในการไปพิสูจน์ตัวเองในเจลีก และทำให้เกิดกระแสฟีเวอร์อยู่พักใหญ่ ไม่ว่าจะในบ้านเราหรือประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาหรือเวียดนาม

 

ประตูมิติที่ว่าคือการให้โควตาพิเศษแก่นักฟุตบอลอาเซียนที่นับเป็นผู้เล่นท้องถิ่น สโมสรไม่ต้องเสียโควตาผู้เล่นต่างชาติ การดึงตัวมาร่วมทีมจึงเป็นเรื่องที่ง่ายและไม่มีอะไรให้เสียมากนักสำหรับฝ่ายของสโมสร

 

สำหรับนักฟุตบอลไทยอย่างที่ทราบกันครับว่านักเตะบ้านเราเป็นชาติที่น่าจะได้โอกาสในการไป ‘ลองของ’ ที่ญี่ปุ่นมากที่สุดในหมู่ชาติอาเซียนด้วยกัน

 

จากการจุดไม้ขีดไฟก้านแรกของ ชนาธิป สรงกระสินธ์ กับคอนซาโดเล ซัปโปโร แสงสว่างดวงเล็กๆ นั้นได้นำพาให้นักเตะไทยคนอื่นได้เดินตามรอยมาอีกมากมายครับ

 

เราจึงได้เห็น ธีราทร บุญมาทัน ที่เริ่มต้นกับวิสเซิล โกเบ และปัจจุบันกับโยโกฮามา เอฟ. มารินอส, ธีรศิลป์ แดงดา กับซานเฟรซเซ ฮิโรชิมา และชิมิซึ เอส พัลส์ รวมถึง ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ กับโออิตะ ทรินิตะ และ กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ กับคอนซาโดเล ซัปโปโร

 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักเตะเด็กรุ่นใหม่อย่าง จักรกฤษณ์ เวชภิรมย์, เชาว์วัฒน์ วีระชาติ, ตะวัน โคตรสุโพธิ์ ที่ได้รับโอกาสไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ญี่ปุ่นด้วย แม้จะไม่ใช่กับลีกในระดับสูงสุดก็ตาม

 

ล่าสุดคือ ‘เจ้าย้า’ สิทธิโชค ภาโส ฉลามหนุ่มจากชลบุรี เอฟซี ที่ได้โอกาสในการกลับไปตามหาความฝันอีกครั้งกับเอฟซี ริวกิว ในระดับเจทูลีก (ดิวิชัน 2) หลังจากที่ครั้งแรกกับคาโงชิมา ยูไนเต็ด ไม่ประสบความสำเร็จนัก

 

ในกลุ่มนักฟุตบอลเหล่านี้ หากจำแนกแล้วจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มง่ายๆ ครับ หนึ่งคือ ‘ตัวท็อป’ ของวงการฟุตบอลไทยที่ผ่านการคัดกรองแล้วทั้งในเรื่องของฝีเท้าและทัศนคติว่าสมควรจะได้รับโอกาสครั้งใหญ่ในชีวิต

 

อีกกลุ่มคือดาวรุ่งรวมถึงกลุ่มที่อยู่ในสโมสรที่เป็นพันธมิตรกัน ซึ่งในบ้านเราก็มีหลายทีมที่จับมือกับสโมสรเจลีก ไม่ว่าจะเป็นบีจี ปทุม (เต็งแชมป์ไทยลีกฤดูกาลนี้) ที่มีความร่วมมือกับเซเรโซ โอซาก้า สโมสรระดับท็อปของเจลีกในการส่งนักเตะอย่างต่อเนื่อง, ชลบุรี เอฟซี กับวิสเซิล โกเบ สโมสรของ อันเดรส อิเนียสตา หรือแบงค็อก ยูไนเต็ด กับเอฟซี โตเกียว

 

และแน่นอนว่ายังมีการพูดคุยเรื่องการนำนักฟุตบอลไทยไปค้าแข้งที่ญี่ปุ่นอีกมากครับ แต่ไม่ใช่ทุกดีลจะเกิดขึ้นได้ทั้งหมด

 

ถ้าถามผมโดยส่วนตัวแล้ว เรื่องนี้มองอย่างไรก็เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องในเชิงบวกสำหรับวงการฟุตบอลไทยครับ

 

เพราะถึงกระแส ‘ฟีเวอร์’ ฟุตบอลเจลีกจะห่างไกลจากคำว่าพีกเหมือนในช่วงที่เรามีชนาธิป, ธีราทร, ธีรศิลป์ และฐิติพันธ์ ไปค้าแข้งกันอย่างพร้อมหน้าเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งผมยังจำได้ว่าในเกมเปิดสนามเจลีกยังล็อกให้เป็นคู่ระหว่างคอนซาโดเล ซัปโปโร กับซานเฟรซเซ ฮิโรชิมา เพื่อที่ชนาธิปกับธีรศิลป์จะได้ปะทะกันเองในสนาม และมีการจัดอีเวนต์ชมฟุตบอลย่อมๆ ที่สยามสแควร์ 

 

ปัจจุบันนักฟุตบอลไทยในเจวันลีก (ดิวิชันสูงสุด) เหลือแค่ชนาธิป (ผู้ซึ่งเริ่มคิดถึงการผจญภัยในฟุตบอลยุโรป) และธีราทร เพราะคนอื่นได้กลับมาค้าแข้งในบ้านเราทั้งหมดแล้ว เรียกว่ามีความเหงาเกิดขึ้นบ้าง

 

แต่ทั้งสองก็เป็นนักฟุตบอลที่เรียกว่าแจ้งเกิดแล้ว และมีสถานะค่อนข้างมั่นคงภายในทีม ซึ่งมันเป็นการพิสูจน์ว่าโอกาสที่ได้รับนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากเรื่องของ ‘การตลาด’ เพียงอย่างเดียว

 

แน่นอนครับว่ายุทธศาสตร์และการตลาดมีส่วน แต่ไม่ใช่เลวร้ายเสียทั้งหมด เพราะสำหรับนักฟุตบอล โอกาสที่ได้รับนั้นสำคัญ เพราะเห็นแล้วว่าฝีเท้าของนักเตะเราดีพอกับเวทีระดับนั้น และหากมีทัศนคติที่ดี ดูแลตัวเองแบบมืออาชีพจริงๆ พร้อมจะเรียนรู้ ปรับตัว โอกาสประสบความสำเร็จนั้นมี เราได้เห็นแล้วจากชนาธิป หรือแม้แต่ธีราทร ที่เปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้นมากเมื่อได้อยู่ในสภาพแวดล้อมของฟุตบอลระดับอาชีพที่แท้จริง

 

ฝ่ายที่จะเสียเปรียบอาจจะมีเพียงสโมสรในบ้านเราที่หลายทีมก็ไม่อยากจะเสียนักฟุตบอลระดับ ‘คีย์แมน’ ของทีมให้กับสโมสรต่างชาติไปใช้งานได้ไม่คุ้มเสีย แต่บางครั้งก็ยินดีเปิดทางให้ไปเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของทุกฝ่าย

 

เมื่อรวมกับการได้เห็นความร่วมมือกันที่ชัดเจนของสโมสรที่เป็นพันธมิตรระหว่างไทย-ญี่ปุ่น การถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องในสนามหรือเรื่องนอกสนาม เหล่านี้มากบ้างน้อยบ้างก็จะเป็นการช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลไทย

 

วันนี้กระแสเจลีกต่อให้ไม่เปรี้ยงเท่าเก่า แต่ผมเชื่อว่าก็ยังน่าจะเลี้ยงกระแสไปได้ครับ เพื่อรอโอกาสสักวันหนึ่งที่ชนาธิปกลับมาคืนฟอร์ม โดยที่ธีราทรยังรักษามาตรฐานการเล่นเอาไว้ได้ และหากบุญนำพาให้สิทธิโชคแจ้งเกิดเป็นดาวเด่นในทีมเอฟซี ริวกิว ได้อีก โดยที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มเบาบางลง 

 

ทุกอย่างก็น่าจะกลับมาดีอีกครั้ง

 

ถึงแม้ลึกๆ จะแอบกังวลว่าช่วงนี้จะเป็น ‘ปีสุกดิบ’ ของนักฟุตบอลไทยกับเจลีก แต่เมื่อมองย้อนกลับไปในเส้นทางที่ผ่านมา มองภาพใหญ่ มองผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น มองความตั้งใจของทุกฝ่าย โดยเฉพาะทางเจลีกที่ยังอยากจับมือกับคนไทยเอาไว้

 

เราต่างเดินกันมาไกลพอสมควรแล้วครับ แต่เส้นทางยังทอดอีกยาวไกลและไม่ได้ถึงกับง่ายที่จะไปถึงปลายทาง

 

เพียงแต่ฟุตบอลไทย คนไทยกับเจลีก ยังไปด้วยกันได้ครับ

 

ผมเชื่อแบบนั้น

 

และแอบหวังว่าปลายปีนี้จะได้กลับไปเชียร์ชนาธิปหรือธีราทรที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง 🙂

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X