นับแต่มีปรากฏการณ์การชุมนุมปี 2563 เป็นต้นมา การเมืองไทยมีความเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะบทบาทของคนรุ่นใหม่ที่มีการแสดงความคิดเห็น แสดงข้อเรียกร้องต้องการสังคมที่อยากจะเห็นในอนาคต
THE STANDARD สัมภาษณ์ ชานันท์ ยอดหงษ์ หรือ ปกป้อง ผู้เขียนหนังสือ ‘นายใน’ และ ‘หลังบ้านคณะราษฎร’ โดยล่าสุดปกป้องเข้าสู่งานการเมืองในพรรคเพื่อไทย มีตำแหน่งเป็นผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ จากเดิมอยู่ในแวดวงวิชาการ ทำงานวิจัย เขียนบทความ เขียนคอลัมน์ เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมมากบ้างน้อยบ้างตามเงื่อนไขแต่ละช่วงเวลา และนับได้ว่าเป็นคนรุ่นที่ได้เห็นบรรยากาศเหตุการณ์ ทั้งรัฐประหาร 19 กันยายาน 2549 รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมในปี 2563
ช่วงที่ปกป้องเป็นนักศึกษาปริญญาตรี เรียนอะไร และอยู่ในการเมืองยุคไหน
เข้าเรียนโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ SEAS ซึ่งเป็นโครงการที่ก่อตั้งโดยอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษา SEAS ปีนั้นชื่อรุ่นไฟฟ้าลาว เข้าเรียนปีการศึกษา 2546 รหัส 46
โชคดีที่เรียน SEAS เพราะเป็นการเรียนเปรียบเทียบการเมือง สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความที่เป็นสหวิทยาการก็มีทฤษฎีหลากหลาย ได้เรียนทฤษฎี Queer บ้าง Feminism บ้าง ก็จุดประกายทำให้สนใจเพศสภาพ เพศวิถีตั้งแต่ตอนนั้น มีแนวคิดทฤษฎีต่างๆ เช่น Postmodernism สามารถมาประยุกต์ปรับใช้กับตัวอย่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอะไรที่หลากหลายมากๆ ทำให้รู้ว่าเราชอบอะไรไม่ชอบอะไร
ได้ไปออกภาคสนาม ปีนั้นไปปราสาทหินต่างๆ ที่กัมพูชา ไปอนุสาวรีย์จิตร ภูมิศักดิ์ ที่จังหวัดสกลนคร ก่อนที่พื้นที่ตรงนั้นจะมีรูปปั้นจิตร ภูมิศักดิ์ ในปี 2556
ไปปราสาทหินพนมรุ้ง ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเห็นความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในประวัติศาสตร์ยุครัฐจารีต ส่วนการเมืองร่วมสมัยก็ได้เรียนไปด้วย
ตอนเรียนอยู่ปี 4 มีเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขณะนั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารยังมีข้อจำกัด เพราะยังไม่มีสำนักข่าวออนไลน์ใหญ่ๆ ที่แข่งขันกัน จะมีแต่เว็บไซต์ ‘ผู้จัดการออนไลน์’ ซึ่งทำข้อมูลดี มีสถิติ แต่ในเรื่องของ Argument เราไม่เห็นด้วย รวมไปถึงการใช้ภาษาในบางครั้งเราก็ไม่เห็นด้วยในฐานะที่เขาเป็นสื่อ ซึ่งในเวลานั้นคนที่เข้าถึงโลกออนไลน์ก็จะได้รับข้อมูลข่าวสารจากตรงนั้นเป็นส่วนใหญ่
โชคดีที่เราเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีการจัดวงเสวนาบ่อยๆ มีการประชาสัมพันธ์แปะตามบอร์ด ตามทางเดิน ตอนเย็นก็จะตื่นเต้นกับการที่เลิกเรียนแล้วจะแวะไปคณะต่างๆ รัฐศาสตร์บ้าง ศิลปศาสตร์บ้าง มีเสวนาก็ไปนั่งฟัง ได้เรียนรู้อะไรที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ทฤษฎีเรื่องวรรณกรรมบ้าง การเมืองบ้าง ถ้าวันไหนไม่เข้าเรียนหรือเลิกเรียนก็จะมาอยู่หอสมุดปรีดี พนมยงค์ หาหนังสือศิลปวัฒนธรรมของมติชนเล่มเก่าๆ มานั่งอ่าน ก็ทำให้ได้ความรู้หลากหลายในรั้วมหาวิทยาลัยช่วง 4 ปีนั้น
ตอนนั้นการเมืองแบ่งเป็นฝ่าย ปกป้องมองแต่ละฝ่ายอย่างไร
ช่วงปี 2548-2549 ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (เสื้อเหลือง) ได้ฟังการปราศรัยของพันธมิตรฯ แล้วรู้สึกไม่มีคอนเทนต์อะไรมากนัก เป็นการโจมตี เป็นการด่ามากกว่า ไม่เห็นสาระสำคัญในครรลองประชาธิปไตย จึงไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ ขณะเดียวกันมีบอร์ดฟ้าเดียวกันในอินเทอร์เน็ตก็ขยายความรู้ ได้เห็นอะไรนอกเหนือจากในมหาวิทยาลัย
ช่วงนั้นมีเหตุการณ์ ‘กรือเซะ-ตากใบ’ ก็คิดว่ารัฐบาลคุณทักษิณมีปัญหา มีข้อผิดพลาดเรื่องการบริหาร มีสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราคิดว่ารัฐบาลควรจะรับผิดชอบในสิ่งเหล่านี้ แต่ตอนที่มีการล่ารายชื่อที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อถอดถอนทักษิณออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เราก็มีคำถามว่า เขามาจากการเลือกตั้งของคนทั้งประเทศ แล้วจะให้คนกรุงเทพฯ เพียงกลุ่มเดียวมามีอำนาจตัดสินว่าใครควรจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แบบนี้ก็ไม่ชอบธรรม
ตอนนั้นเขาบอกว่าจะล่ารายชื่อส่งให้ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เราก็รู้สึกว่าไม่ชอบธรรมเข้าไปใหญ่ ทำไมต้องให้ประธานองคมนตรีมีอำนาจตัดสินใจว่าใครควรจะเป็นนายกฯ ไม่ใช่ครรลองประชาธิปไตย ก็เลยไม่เห็นด้วยไปมากกว่าเดิม
โอเค รัฐบาลทักษิณมีข้อผิดพลาด แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องใช้การรัฐประหารมากำจัดนายกรัฐมนตรีออก เราคิดว่ามันไม่ใช่การแก้ปัญหา ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง และเป็นการบ่อนเซาะทำลายประชาธิปไตยด้วย
มุมมองต่อการชุมนุมหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549
หลังรัฐประหาร 2549 มีการเคลื่อนไหวของ แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ก่อนจะเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็คือคนเสื้อแดง แน่นอนเราเห็นด้วยกับการต่อสู้ของประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอยู่แล้ว แล้วคนเสื้อแดงเขามีจุดประสงค์ที่ชัดเจน
แต่มีเนื้อหาบางอย่างที่เราไม่ค่อยเห็นด้วย เช่น การโจมตี พล.อ. เปรม เรื่องเพศ เราก็ไม่โอเค
อย่างไรก็ตาม เข้าใจได้ว่าในการต่อสู้กับเผด็จการที่รักษาระยะห่างมากๆ ระหว่างประชาชนกับตัวตนของเขา ประชาชนไม่มีอะไรจะไปต่อสู้ได้ สิ่งที่จะสู้ได้ก็คือการทำให้เขาดูเป็นมนุษย์มากที่สุดด้วยการพูดถึงเรื่องเพศเรื่องส่วนตัวของเขา เพื่อเป็นการลดทอนอำนาจความยิ่งใหญ่ ความอยู่เหนือรัฐธรรมนูญของ พล.อ. เปรม
ขณะเดียวกัน พล.อ. เปรมซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะก็ใช้ชีวิตส่วนตัวบนทรัพย์สินสาธารณะด้วย คือภาษีประชาชน การที่ประชาชนจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของเขาก็มีความชอบธรรมระดับหนึ่ง
แต่ด้วยความที่เราอยู่ในชุมชน LGBTQ เมื่อมีการโจมตี พล.อ. เปรมในเรื่องเพศ เราก็ไม่เห็นด้วย ส่วนสาระสำคัญอื่นๆ ในขบวนการเคลื่อนไหวของ นปก. นปช. ตั้งแต่ตอนนั้นเราเห็นด้วย
ปัญหาของฝ่ายประชาธิปไตยเรื่องการโจมตีเพศสภาพ มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ก็ต้องแบ่งเป็นยุค เช่น เหตุการณ์ ‘เสาร์ซาวเอ็ด’ 21 กุมภาพันธ์ 2552 ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีกลุ่มคนอนุรักษนิยม และกลุ่มคนเสื้อแดงบางกลุ่มที่เชียงใหม่ออกมาขัดขวางการจัดเกย์พาเหรด
การเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคนั้นก็มีการโจมตี พล.อ. เปรมเรื่องเพศสภาพ แต่ก็มีเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของเขาในช่วงเวลานั้นๆ ที่เราเข้าใจได้
ด้วยความที่รูปแบบสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเยอะมาก เรื่องทัศนคติความหลากหลายทางเพศและอัตลักษณ์ต่างๆ จากการที่ได้คุยกับคนเสื้อแดงบางคนในหลายๆ กลุ่ม เขาก็เริ่มตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศ เสรีภาพที่จะเลือกเพศสภาพหรือเพศวิถีได้
คนรุ่นใหม่ก็เริ่มมีปากมีเสียงมากขึ้นทั้งในช่องทางออนไลน์หรือการลงถนน เขาพูดประเด็นเหล่านี้มากขึ้น การชุมนุมปี 2563 ธงเสื้อแดง กับ ธงรุ้ง (LGBTQ) อยู่คู่กันด้วย
มีคนรุ่นใหม่พูดถึงการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง คนเสื้อแดงพูดถึงการเคลื่อนไหวของ LGBTQ ความคิดของคนเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องสิทธิทางเพศ เรื่องการเมืองเชิงอัตลักษณ์ ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้น ได้รับการพูดถึงมากขึ้นด้วย
ก็เลยคิดว่าในปัจจุบันนี้อาจจะมีคนส่วนน้อยมากๆ ที่ต้องการเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตย แต่ยังมีอคติทางเพศ ความคิดเรื่องอคติทางเพศเริ่มคลี่คลายมากขึ้นเมื่อมีความตระหนักในประชาธิปไตยเพราะหัวใจของประชาธิปไตยก็คือการเคารพสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ซึ่งเรื่องเพศก็เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคด้วยเช่นกัน
เข้าร่วมชุมนุมหลังรัฐประหาร 2549 ด้วยไหม
ตอนนั้นเรียนจบปริญญาตรีแล้วทำงานเป็นนักวิจัยนโยบายด้านสุขภาวะทางเพศที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ไม่ค่อยได้เข้ามาในกรุงเทพฯ เท่าไร ส่วนใหญ่อยู่นอกเมือง ก็ตามข่าวและเห็นด้วยกับหลักการ ได้ไปชุมนุม นปก. นปช. 1-2 ครั้ง ซึ่งคอนเทนต์เข้มข้นหนักแน่นกว่า และเห็นความชัดเจนของเสียงประชาชนมากกว่าพันธมิตรฯ มากๆ
แต่ด้วยความที่มีช่องว่างระหว่างคนกรุงเทพฯ กับ ‘คนต่างจังหวัด’ ทำให้เราไม่รู้จักใคร ไม่คุ้นเคยกับใคร ก็เลยไม่ได้เข้าไปร่วมชุมนุมบ่อยๆ เพราะไม่รู้จักใครเลย เราไปก็เหมือนเด๋อๆ ด๋าๆ แล้วเขาก็เหมือนมีชุมชนเครือข่ายของเขา มีความสัมพันธ์ที่คนกรุงเทพฯ เหมือนเป็นคนนอกวง ก็เลยไม่ได้เข้าร่วม ช่วงหลังๆ เพิ่งมารู้ว่ามีหลายๆ คนในกรุงเทพฯ ก็ไปเข้าร่วมด้วย เราไม่ได้ไปร่วมมาก แต่คอยติดตามข่าวตลอด
พอมีการสลายการชุมนุมปี 2553 รู้สึกรับไม่ได้อย่างยิ่งกับเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนั้น แล้วเราก็ศึกษา พอได้รับข่าวสารข้อมูลมาก็ตระหนักว่า สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย มีองค์กรหรือบุคคลใดบ้างอย่างชัดเจน แล้วเราก็สนใจการเมืองมาตลอดด้วย
โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ ประชาธิป’ไทย (Paradoxocracy)
หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ช่วงปี 2553-2557 ก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถือว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของเสรีประชาธิปไตย ทุกคนจะคิดอ่านหรือพูดได้ คนรุ่นใหม่ก็เติบโตขึ้นมาโดยมีความคิดความอ่านที่มี Critical Mind ด้วยในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์
ตอนนั้นเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเขียนหนังสือ ‘นายใน’ ก็จะป้วนเปี้ยนอยู่ในแวดวงนักเขียน นักวิชาการ นักข่าว นักเคลื่อนไหว รู้จักขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนมากขึ้น
ก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ทำภาพยนตร์เรื่อง ประชาธิป’ไทย (Paradoxocracy) กับ เป็นเอก รัตนเรือง และ ภาสกร ประมูลวงศ์ ตอนนั้นเป็นโปรดิวเซอร์และช่วยประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ ทำให้ได้เจอนักวิชาการมากขึ้น โดยเฉพาะนักวิชาการต่างประเทศ เพราะตอนแรกเราจะรู้จักเขาจากการอ่านหนังสือ แต่พอทำภาพยนตร์ก็ไปสัมภาษณ์เขา ได้เจอ ได้พูดคุยกับนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์หลายคนทั้งไทยและต่างประเทศ เราคิดว่าประเทศไทยไม่น่าจะมีรัฐประหาร ถึงมีก็ไม่น่าจะอยู่นาน เพราะจะอยู่ยากมากขึ้นในกระแสการเมืองโลก
ปรากฏว่ากลับตาลปัตร เพราะประเทศไทยมีลักษณะพิเศษบางประการที่มีบริบททางการเมือง องค์กร หรือสถาบันที่สัมพันธ์กับการเมือง เอื้ออำนวยให้เกิดรัฐประหารได้ง่าย แล้วก็แทรกแซงประชาธิปไตยได้ง่าย
มีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวหลังรัฐประหาร 2557
ไปเยี่ยม 14 นักศึกษาที่ถูกจับ ตอนนั้น รังสิมันต์ โรม และเพื่อนๆ ผู้ชายถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วน ลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว อยู่เรือนจำหญิง เราไปเยี่ยมลูกเกดเพราะไม่ค่อยมีกระแสไปเรือนจำหญิง แล้วได้ข่าวมาว่าเรือนจำหญิงโหดกว่าเรือนจำชายเรื่องการเข้าถึงสิทธิ ตอนไปเยี่ยมก็ได้ไปนั่งคุยกับแม่ของลูกเกด
ตอนนั้นเขียนบทความต่อต้านรัฐประหาร ปี 2557 ด้วยความที่เสรีภาพเฟื่องฟูมากในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ พอเกิดรัฐประหารก็พลิกกระดานเรื่องสิทธิเสรีภาพ มีคนโดนเรียกไปปรับทัศนคติ ซึ่งคำนี้ค่อนข้างพาสเจอไรซ์ในโลกสากล เพราะในสากลเป็นคำในเชิงบวก แต่พออยู่ในประเทศไทย ด้วยกลไกของคณะรัฐประหารก็กลายเป็นคำที่แย่มาก
ทุกครั้งที่เกิดรัฐประหาร ประเทศไทยจะถอยหลังไปประมาณ 20 ปี ก็เลยคิดว่าน่าจะเกิดปัญหาแล้ว ตอนนั้นเรียนต่อปริญญาเอกประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งยังไม่จบและหวังว่าจะได้เรียนต่อ
ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ‘ทะลุฟ้า-ทะลุเพดาน’ ปี 2563
เป็นช่วงที่คลุกคลีตีโมงกับนักเคลื่อนไหวมายาวนานแล้ว เช่น เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา ก็รู้จักหน้าค่าตากัน เจอกันมาตั้งแต่ปี 2556-2557 แล้วในปี 2563 เริ่มเห็นเขาไปเป็นแกนนำมากขึ้น ไปรู้จัก รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จากเวทีเดือนสิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ทำความรู้จักกันมาเรื่อยๆ เราไปชุมนุมบ่อยมากจะเรียกอย่างนั้นก็ได้ เพราะเราเห็นด้วยกับหลักการของเขา
แล้วก็คิดว่าถึงเวลาที่ประชาชนต้องแสดงจุดยืนทางการเมืองออกมาด้วย เพราะทุกคนก็อั้นมาหลายปี พอมีการเลือกตั้ง 2562 ก็มีกลไกการเลือกตั้งผิดครรลองมากๆ ตรวจสอบไม่ได้ เหล่านี้ก็สะสมความอัดอั้นตันใจ จนกระทั่งมาระเบิดหลังโควิดในปี 2563 ด้วยสภาวะโควิดและการจัดการของรัฐบาล คนก็สั่งสมความโกรธแค้น แล้วก็มาระเบิดในกลางปี 2563 มาชุมนุมเรื่อยๆ
การชุมนุมปี 2563 เริ่มจากคนในกรุงเทพฯ แล้วกระจายกันไป เราเจอคนที่เรารู้จักคุ้นเคยเห็นหน้าค่าตากันมาก่อน ทำให้มาม็อบบ่อย ถือโอกาสเจอเพื่อนและแสดงจุดยืนทางการเมืองด้วย แล้วคิดว่าเราต้องมาตามวิถีประชาธิปไตยที่คนจะออกมาเดินถนนเดินขบวนเป็นเรื่องปกติมากๆ
ตัดสินใจเข้าพรรคเพื่อไทย
ด้วยความที่เข้าสู่วัย 30 จะปลายแล้ว เห็นว่าประเทศเรายังมีปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ เคยเขียนคอลัมน์ เขียนบทความเผยแพร่ เขียนมาหลายปีปัญหาเหล่านั้นก็ยังเกิดขึ้น ไม่สามารถแก้ไขได้ หรือบางคนยังไม่ตระหนักในสิ่งที่เรานำเสนอ เช่น เรื่องความเข้าใจทางเพศ ความเท่าเทียมทางเพศ เรื่องการต่อต้านการข่มขืนหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการเกณฑ์ทหาร แต่ละปีมีความพยายามของนักข่าวที่จะทำให้กลุ่มกะเทย กลุ่มทรานส์เจนเดอร์ ที่ไปเข้าแถวเกณฑ์ทหาร ประหนึ่งเป็น Human Zoo ไปถ่ายรูป ไปเขียนข่าวว่า ‘ตะลึง’ ราวกับว่าเขาเป็นของประหลาด เป็น Freak Show เรื่องนี้เราเขียนแล้วแต่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมทุกปี
เราคิดว่าการที่เราเคลื่อนไหวผ่านการเขียนบทความ คอลัมน์ หรือการไปชุมนุมอาจจะยังไม่พอ ต้องขยายแพลตฟอร์มในการเคลื่อนไหว จึงคิดว่าพรรคการเมืองน่าจะเป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้
ก่อนเลือกตั้งปี 2562 เขียนนโยบายส่งไปตามพรรคต่างๆ เช่น พรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน พรรคเพื่อไทย ซึ่งต่อมาพรรคเพื่อไทยชวนไปร่วมโครงการ The Change Maker ในปี 2564 เป็น Co-Mentor ด้วยความที่พรรคเพื่อไทยต้องการ Disrupt โดยเอาคนรุ่นใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงเรื่องนโยบาย นำเสนออะไรใหม่ๆ ซึ่งเป็นกระแสทั่วโลกที่เขาให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ พรรคเพื่อไทยก็เช่นเดียวกัน เลยมีโอกาสได้เข้าไปเป็น Co-Mentor ในประเด็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่เสนอไปยังพรรคเพื่อปรับให้เป็นนโยบายสาธารณะต่อไป แล้วหลังจากนั้นก็ได้เจอหน้าค่าตากับคนในพรรค เจอทีมงานด้วย
ต่อมาพอพรรคจะเปิดตัววันที่ 28 ตุลาคม ที่จังหวัดขอนแก่น ก็ชวนเราไปขึ้นเวทีกับ พี่อ้วน-ภูมิธรรม เวชยชัย ตอนนั้นก็ตกใจว่าขนาดนั้นเลยเหรอ เราจะสามารถทำได้เหรอ ก็มีความประหม่าเหมือนกัน รู้สึกว่าเรายังใหม่มากกับเรื่องนี้ ให้ขึ้นเวทีใหญ่แล้วก็เป็นงานสำคัญของพรรคด้วย เราก็ดีใจ แต่เรากลัวว่าเราจะทำได้ไหม ขณะเดียวกันก็ได้คุยกับพี่อ้วนด้วยว่า เมื่อเราขึ้นเวทีแล้วเราจะพูดประเด็นไหน เราต้องมีความมั่นใจว่าเราจะทำให้ได้ เพราะมันคือการสัญญากับประชาชนว่าเราจะทำ ถ้าทำไม่ได้แสดงว่าคุณไม่สามารถทำในสิ่งที่คุณพูดได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการทำงานการเมืองด้วย เลยเลือกหัวข้อที่อยากจะทำให้ได้คือ ผ้าอนามัยในฐานะสวัสดิการจากรัฐที่เข้าถึงได้ฟรี และเรื่องสมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นการเลือกจากหลายเรื่องที่ให้พรรคดู
เวลามีเรื่องต้องตัดสินใจ จะคุยกับใครในพรรค
คุยกับทีมสื่อสารของพรรค ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนหัวก้าวหน้า และเข้าใจวัฒนธรรมของพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันมายาวนานแล้ว แรกๆ เราก็เด๋อๆ ด๋าๆ ยังใหม่อยู่ มีอะไรก็ปรึกษาทีมนี้และอีกหลายคน ส่วนอะไรที่ Finalize แล้วจะปรึกษาหมอเลี้ยบ-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
หมอเลี้ยบบอกว่าไม่ต้องกังวล คุยได้ทุกเรื่อง ก็เลยคุยกับหมอเลี้ยบ ถ้าต้องการนำเสนอประเด็นกับใครที่เป็นผู้ใหญ่ เราก็คุยกับหมอเลี้ยบ เพราะหมอเลี้ยบใจดี คุยกันรู้เรื่อง เราคุยกับพี่อ้วนก็รู้เรื่อง
หมอเลี้ยบเป็นคนให้เรารับผิดชอบนโยบายเรื่องความหลากหลายด้านอัตลักษณ์ ส่วนเอกสารที่เราจะนำเสนอ จะเสนอไปที่ทีมสื่อสารของพรรค หมอเลี้ยบ และทีมพี่อิ๊ง (แพทองธาร ชินวัตร) ว่าเราจะนำเสนอรูปแบบไหนให้พรรคเข้าใจ เพราะเป็นเรื่องใหม่มากๆ
ในบางเรื่อง เช่น การทำให้ Sex Worker ไม่ผิดกฎหมาย Decriminalize ซึ่งผู้ใหญ่บางคนอาจจะตกใจไม่คิดว่าจะต้องก้าวกระโดดขนาดนั้น ต้องสื่อสารกันไปเป็นการเรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน ก็ดีเหมือนกัน เพราะมีคนหลายเจเนอเรชันมารวมกัน แล้วเหมือนครอบครัวใหญ่ที่เราอยู่กับปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา จะมีความคิดที่หลากหลาย และประสบการณ์ของแต่ละบุคคลมารวมกันก็ได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น
ได้รับไฟเขียว ผลักดัน Sex Worker ไม่ผิดกฎหมาย
ดีใจมากๆ ได้คุยกับหมอเลี้ยบเรื่องการทำให้ Sex Worker ไม่ผิดกฎหมาย ถามหมอเลี้ยบว่าคุยเรื่องนี้หลังเลือกตั้งครั้งต่อไปดีไหม เพราะเป็นประเด็นล่อแหลม ถ้าเราจะสื่อสารกับสังคมอาจจะเป็นเรื่องใหญ่เกินไป หมอเลี้ยบบอกว่า ถ้าอยากทำก็ทำไปได้เลย ไม่ต้องกลัว ถ้ามีตรรกะและเหตุผลที่หนักแน่น ถ้าเป็นเรื่องสิทธิศักดิ์ศรีของคนก็ทำไปได้เลย เพราะเขามีศักดิ์ศรีอยู่แล้วที่เขาจะประกอบอาชีพใดก็ตาม แล้วถ้าเขาต้องการการคุ้มครองศักดิ์ศรี เราก็ต้องหาวิถีทางเพื่อจะคุ้มครองเขาให้ได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องก่อนหรือหลังเลือกตั้ง เพียงแต่ต้องทำการบ้านให้ดี แล้วมีเหตุผลมาสนับสนุนที่ชัดเจนพอที่จะสื่อสารกับคนอื่นที่ไม่เข้าใจได้ เขาก็ไฟเขียวในหลายๆ เรื่อง
ปกป้องและคนรุ่นใหม่เข้าพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ช่วงไหน
ช่วงโครงการ The Change Maker เห็นหน้าค่าตาคนรุ่นใหม่เยอะเหมือนกัน เป็นช่วงไม่นานมานี้ หลังจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลาออกจากพรรค
ส่วนการส่งนโยบายให้พรรคต่างๆ ทำมานานแล้ว เป็นการเขียนหัวข้อว่าอยากทำเรื่องนี้ ใครจะเอาไปใช้เองก็ได้ เขียนบทความสรุปหัวข้อส่งไปให้ ใครอยากจะชวนเราไปเป็นคนร่วมผลักดันก็ได้ หรือไม่ชวนก็ได้ถ้ามีทีมแล้วก็เอานโยบายไปเลย เพราะเราคิดว่าเป็นปัญหาที่มีมาหลายปีแต่ไม่ได้แก้
ก่อนเลือกตั้งปี 2562 เพื่อนๆ กระจายไปพรรคการเมืองเยอะขึ้น ไปกระจุกตัวอยู่พรรคอนาคตใหม่ก็มี บางคนอยู่พรรคสามัญชน เพราะปี 2562 ทัศนคติต่อพรรคการเมืองของคนเปลี่ยนไปเยอะ
ก่อนหน้านั้นคนมักจะมองพรรคการเมืองอันตราย นักการเมืองเป็นอาชีพที่ไม่ดี ไม่น่าไว้วางใจ เป็นภัยร้าย แต่พอรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมา เรารู้สึกว่าความจริงสิ่งที่เลวร้ายมากกว่าก็คือ ระบบราชการนี่แหละที่บั่นทอนประชาธิปไตย และพยายามจะสร้างภาพลักษณ์ให้นักการเมืองเป็นภัยร้าย ทำให้นักการเมืองเป็นปีศาจ
ถ้าเรายึดมั่นในหลักประชาธิปไตย เราก็ต้องใช้พรรคการเมืองในการขับเคลื่อนเพื่อจะเข้าไปสู่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารของประเทศด้วย
ถูกเรียกไปสถานีตำรวจ เป็นหมายแรกในชีวิต
ไปพบพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ลุมพินี วันที่ 21 ธันวาคม 2564 วันนั้นมี ส.ส. และว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. สมาชิกพรรคเพื่อไทยไป สน.ลุมพินี เพื่อให้กำลังใจเรา และแสดงจุดยืนเห็นด้วยกับกับข้อเรียกร้องสมรสเท่าเทียม
หมายเรียกเกิดจากการที่เราไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่มภาคีสีรุ้งเพื่อการสมรสเท่าเทียม เขาเชิญตัวแทนจาก 5 พรรคการเมืองไปแสดงวิสัยทัศน์จุดยืนเรื่องความหลากหลายทางเพศ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ที่แยกราชประสงค์ เป็นกิจกรรมที่มีการปราศรัยและมีซุ้มต่างๆ เพื่อให้ความรู้ มีคุณลุงคุณป้าบางคนมถามว่า LGBTQ คืออะไร ซึ่งก็เป็นการให้ความรู้กับสังคมไปด้วย
ผู้จัดงานให้ตัวแทนพรรคการเมืองขึ้นไปพูดบนเวที 5 นาที เกี่ยวกับว่าพรรคจะขับเคลื่อนอย่างไรในการจะผลักดันสมรสเท่าเทียม เราไปในฐานะตัวแทนพรรคเพื่อไทย หมอเลี้ยบให้ไปเพราะเราเป็นคนรับผิดชอบนโยบายนี้ เราได้พูดถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ
ก็คิดเผื่อไว้เหมือนกันว่า คงมีกระบวนการอะไรบางอย่างของภาครัฐ ในการที่จะกดปราบประชาชนอยู่แล้ว ก็ทำใจไว้ระดับหนึ่ง แต่ก็คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องประเด็นล่อแหลมรุนแรง ไม่ได้คิดว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศได้ ปรากฏว่าก็โดนหาว่า ‘ร่วมกันจัดกิจกรรมมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดฯ’
ในงานกิจกรรมเดียวกันนั้นมีตัวแทนจากพรรคการเมืองอื่นไปด้วย ปรากฏว่าได้รับหมายเรียกรวม 20 คน ทั้งผู้จัดงานและตัวแทนพรรคการเมือง
พอเข้าใจได้ว่าถ้าไม่ใช้กฎหมายฉบับหนึ่งก็คงหาทางมาจัดการได้อยู่แล้ว ก็คุยกับทีมสื่อสาร ซึ่งเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน แล้วก็คุยกับหมอเลี้ยบ ซึ่งแนะนำให้ไปคุยกับอาจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล และทีมกฎหมายของพรรค
บรรยากาศที่สถานีตำรวจ
ไป สน.ลุมพินี เจอตำรวจที่มาทำบันทึกประจำวัน ดูเขาไม่เข้าใจ เพราะในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา เขาเขียนคำว่า ‘สภาพเพศ’ ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีอยู่
ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาที่เราไปรับทราบที่โรงพัก เขาเขียนถึงตอนที่เราขึ้นเวทีว่า ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้ต้องหาที่ 3 ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ขึ้นปราศรัยถึงความเท่าเทียมกันในสภาพเพศ
เราก็ขอให้เขาแก้เป็น ‘เพศสภาพ’ เขาก็ถามว่าทำไมต้องแก้ ก็แค่สลับคำเท่านั้นเอง ไม่มีผลอะไร เราบอกเขาว่า ไม่ได้ เพราะจะเป็นคำผิด
คือด้วยความที่เราผ่านโลกวิชาการด้านเพศสภาพเพศวิถีมา เรื่องแบบนี้ก็มองข้ามไม่ได้ ส่วนหนึ่งคิดว่าถ้าเขาไม่มีความรู้เรื่องนี้ ถ้าเรามีโอกาสที่จะอธิบายเรื่องเพศสภาพเพศวิถีก็ควรจะทำ เพราะถูกหล่อหลอมไปแล้วด้วยความที่สอนหนังสือมาก่อน ก็เลยไม่ปล่อยผ่าน ต้องอธิบายให้ความรู้ว่ามาจากคำว่า Gender เขาก็ดูงงๆ อยู่ แต่ก็แก้ตามที่เราขอ เพราะเรายืนกรานว่าจะต้องแก้จาก ‘สภาพเพศ’ เป็น ‘เพศสภาพ’
ควาพร้อมที่สถานีตำรวจก็ไม่มี ออกหมายเรียกตั้ง 20 คน กว่าจะพิมพ์เอกสารทีก็เอา Handy Drive ไปจุ๊บ (Copy) มาใส่คอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่ง กว่าจะเอาไปพิมพ์อีก ส่วนเครื่องพิมพ์มีแค่ 3-4 เครื่อง ช้าไปหมด
ไปตามนัดเวลา 10.00 น. ขึ้นไปบน สน.ลุมพินีเวลา 10.30 น. เพราะมีแถลงข่าวที่หน้า สน. ก่อน แล้วก็ใช้เวลาบน สน. จนถึงเวลา 14.00 น.
การพิมพ์ชื่อ ‘พรรคก้าวไกล’ ก็พิมพ์เป็น ‘อนาคตไกล’ หรือชื่อเราก็พิมพ์ผิด กระบวนการทำงานตำรวจก็น่าสงสารเหมือนกัน เพราะไม่มีระบบมาตรฐานอะไรเลย
สถาบันการศึกษาของตำรวจก็น่าจะอัปเดตความรู้ด้านวิชาการบ้าง เพื่อจะได้เข้าใจประชาชนที่แสดงความคิดเห็นมากขึ้น
วันนั้นตัวแทนทั้ง 5 พรรคการเมืองไปรับทราบข้อกล่าวหากันครบ เพื่อไทย ก้าวไกล สามัญชน ไทยสร้างไทย ชาติไทยพัฒนา แต่ไทยสร้างไทยกับชาติไทยพัฒนาขึ้นไปบน สน. ก่อน
นัดอีกครั้งก็ต้นปี 2565 รอการใช้ดุลพินิจของอัยการ ส่วนผู้ต้องหาทุกคนให้การปฏิเสธหมด
เลือกตั้งครั้งต่อไปถ้าพรรคเพื่อไทยจะชนะ คิดว่าอะไรคือตัวชี้ขาด
ทุกพรรคการเมืองมีจุดแข็งของเขาคือนโยบาย ว่านโยบายไหนสามารถทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปาก แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในการดำรงชีวิตปากท้องประชาชนหลังโควิดได้ด้วย แล้วพรรคไหนที่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว รับปากจะทำอะไรแล้วทำไม่ได้ เราต้องไม่ลืมว่าพรรคไหนเคยรับปากอะไรแล้วไม่เคยทำหรือทำไม่ได้ เราคิดว่ามันอยู่ที่นโยบายและการให้ความสำคัญกับประชาชนจริงๆ อันนี้คือจุดแข็ง ทุกพรรคต้องมีจุดแข็งตรงนี้
สิ่งสำคัญ หัวใจหลักของการเลือกตั้ง และหัวใจหลักของพรรคการเมืองคือต้องมาเป็นตัวแทนประชาชน มารับใช้ประชาชน ไม่ใช่มารับใช้สถาบันหรือองค์กรใดแทน