คณะกรรมการตุลาการฯ มีมติสอบวินัยร้ายเเรง ชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีต ปธ.เเผนกคดีล้มละลายศาลฎีกา เเทรกเเซงกระบวนการพิจารณาคดีมรดกครอบครัวที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมทบทวน ไม่ตั้งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสต่อ
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมอาคารศาลยุติธรรม ชั้น 3 ศาลฎีกา ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 16/2562 มีวาระการพิจารณาเเต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาหลายตำเเหน่ง รวมถึงหลักเกณฑ์การจัดตั้งผู้พิพากษาอาวุโสเเละวาระอื่นๆ ยังมีวาระที่น่าสนใจดังนี้
ก.ต. ได้มีการลงมติจากที่คณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) ได้ลงมติเสียงข้างมาก 13-4 (อ.ก.ต. เดิมมี 21 คน เเต่ตอนพิจารณาอยู่ในช่วงสับเปลี่ยนตำเเหน่งเลื่อนขั้นศาลทำให้เหลือ 17 คน) พร้อมทำความเห็นเสนอว่าการกระทำของชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีต ปธ.เเผนกคดีล้มละลายศาลฎีกา ในเหตุการคดีมรดกที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่กล่าวหาว่ามีการเเทรกเเซงการพิจารณาพิพากษาคดีในศาล เห็นควรที่จะถูกตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายเเรง โดย ก.ต. ได้พิจารณาเเล้วมีมติเสียงข้างมาก 12-2 เห็นควรตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายเเรงชำนาญ ตามที่ อ.ก.ต. เสียงข้างมากทำความเห็นมา
นอกจากนี้ที่ประชุม ก.ต. ยังมีการลงมติทบทวนมติ ก.ต. ครั้งที่ 9/2562 ที่ที่ประชุม ก.ต. มีมติให้ชำนาญ ไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โดยที่ประชุมเสียงข้างมาก 12-2 ให้ ก.ต. ทบทวนมติเรื่องที่จะให้ชำนาญเป็นผู้พิพากษาอาวุโส
เเละเมื่อมีการทบทวนเเล้ว หลังจากนั้น ก.ต. ยังได้มีการลงมติเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้ชำนาญ เป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ผลปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 12-2 ไม่ผ่านให้ชำนาญ ดำรงตำเเหน่งเป็นผู้พิพากษาอาวุโส
สำหรับชำนาญนั้น เคยถูกยื่นถอดถอนจากตำเเหน่ง ก.ต. ชั้นศาลฎีกา ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 42 โดยผู้พิพากษาทั่วประเทศใช้สิทธิลงคะแนน เห็นชอบให้ถอดถอนชำนาญออกจากการเป็น ก.ต. ชั้นฎีกา รวมทั้งสิ้น 3,165 คะแนน จากบัตรลงคะเเนน 3,548 ใบจากกรณีกล่าวหาว่าชำนาญส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย คุณธรรมและจริยธรรม หรือการกระทำที่น่าสงสัยว่ากระทำผิดวินัย มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ ก.ต. ในกรณีที่อ้างถึงการก้าวก่ายแทรกแซงผู้พิพากษาศาลชั้นต้นขณะสืบพยานในบัลลังก์คดีมรดกครอบครัวภรรยาที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา และการแสดงกิริยาไม่เคารพกระบวนพิจารณาของศาล ทั้งแสดงตนเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าข่มขู่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น