×

ช่วงเวลาอันท้าทายของนิยามคำว่า ‘คนของประชาชน’

28.04.2021
  • LOADING...
ช่วงเวลาอันท้าทายของนิยามคำว่า ‘คนของประชาชน’

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • กรณีดราม่าย้ายโรงพยาบาลของ ค่อม ชวนชื่น ในความคิดเห็นของผู้เขียนมันคงไม่ใช่เรื่องผิดเลยที่เราอยากจะให้ญาติผู้ใหญ่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดีที่สุด หากเป็นสถานการณ์ปกติอาจได้รับพลังมวลชน ช่วยติดต่อประสานงานให้อีกแรงก็เป็นไปได้ แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน เกิดมีเคสที่หนักกว่าของคนธรรมดาสามัญ ทำให้เกิดคำถามถึงสิทธิพิเศษของวรรณะดาราในภาวะที่เรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ แสนเปราะบางในสังคม
  • หลังจากนี้วงการบันเทิงจะเปลี่ยนไป แต่คิดว่าคนคงไม่เลิกชอบดารา เพียงแต่เราจะคัดกรองบุคคลที่เราชื่นชอบมากยิ่งขึ้น จะไม่ใช่แค่เฉพาะรูปร่างหน้าตา ความบันเทิงตลกโปกฮาที่เขามอบให้ แต่จะหมายรวมไปถึงการเป็นตัวแทนความรู้สึกนึกคิดของเรา ให้สมกับคำนิยามที่เรามอบให้เขาเป็น ‘คนของประชาชน’ อย่างแท้จริง 

 

ดารา นักร้อง นักแสดง และนักการเมือง มีบางอย่างที่คล้ายกัน นั่นคืออาชีพเกิดจากความนิยมของมวลชน แต่ต่างกันตรงเราคาดหวังให้นักการเมืองเข้าไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงและทำงานแทนเรา ขณะที่ดารา นักร้อง และนักแสดง มีหน้าที่สร้างความบันเทิง เราจึงให้ความรักและความเอ็นดูฝ่ายหลังมากกว่า นำมาซึ่งสิทธิพิเศษที่เกิดขึ้นจากความสนใจของประชาชน ไม่ว่าจะทำอะไรก็เหมือนมีแสงสปอตไลต์สาดส่อง ได้รับความเห็นอกเห็นใจ และมีคอนเน็กชันมากกว่าคนอื่น 

 

แต่จากกรณีดราม่าย้ายโรงพยาบาลของ ค่อม ชวนชื่น ในความคิดเห็นของผู้เขียนมันคงไม่ใช่เรื่องผิดเลยที่เราอยากจะให้ญาติผู้ใหญ่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดีที่สุด เอาเข้าจริง คนไทยก็ให้ความสนิทสนมกับศิลปินตลกมากกว่าดารา นักแสดงประเภทอื่นเสียด้วยซ้ำ อย่างที่เห็นจากสรรพนามที่เรียกว่า น้าบ้าง ป๋าบ้าง พ่อบ้าง หากเป็นสถานการณ์ปกติอาจได้รับพลังมวลชน ช่วยติดต่อประสานงานให้อีกแรงก็เป็นไปได้ แต่ในช่วงเวลาเดียวกันเกิดมีเคสที่หนักกว่าของคนธรรมดาสามัญ ทำให้เกิดคำถามถึงสิทธิพิเศษของวรรณะดาราในภาวะที่เรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ แสนเปราะบางในสังคม

 

บอล เชิญยิ้ม 

 

แม้ตอนหลังจะมีการชี้แจงว่าน้าค่อมได้รับสิทธิ์ทั่วไปของผู้สูงอายุ แต่คำถามนี้ก็ยังไม่หมดไปจากใจมวลชน

 

รอยแผลยิ่งถูกถ่างให้กว้างกว่าเดิม เมื่อตลกรุ่นลูกรุ่นหลานออกมาเรียกร้องให้หมอและพยาบาลช่วยดูแลน้าค่อมแบบที่ออกจะพิเศษกว่าคนอื่น แม้ดูเป็นความห่วงใยแบบปกติของคนที่คุ้นเคยกัน แต่ถ้าย้อนกลับไปอ่านที่พารากราฟแรกว่า ‘เหมือนมีแสงสปอตไลต์สาดส่อง ได้รับความเห็นอกเห็นใจ และมีคอนเน็กชันมากกว่าคนอื่น’ นี่คือการใช้สิทธิพิเศษที่คนดังใช้ไปอย่างเคยชิน จนคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ 

 

แต่ถ้ามองกลับกัน อาม่า-อากงที่นอนรอการรักษาพยาบาลก็ต้องการสิ่งเหล่านี้ไม่ต่างกัน ตัวผู้เขียนเองคิดว่าที่หนักไปกว่านั้นคือ บทสัมภาษณ์ของ เป็ด เชิญยิ้ม ที่ว่า “น้าค่อมเป็นคนที่สร้างเสียงหัวเราะให้กับประชาชนคนไทยมาเท่าไรแล้ว เล่นตลกเพื่อให้ทุกคนมีรอยยิ้มมานานกว่า 40 ปี ยังไม่เพียงพออีกเหรอกับการที่ขอให้แพทย์เก่งๆ ช่วยเหลือ” ก็ต้องย้อนถามกลับไปว่า คนงานก่อสร้างที่สร้างตึกมาเป็นสิบปีๆ ให้เราได้อาศัย พ่อค้าแม่ขายที่ทำอาหารตามสั่งให้เราอิ่มท้อง จุดนี้เขาไม่ได้ทำความดีหรอกหรือ? ทุกคนทำงานเพื่อแลกกับเงิน และความนิยมที่ทำให้นักแสดงยืนหยัดอยู่อย่างทุกวันนี้ก็มาจากประชาชนเหมือนกัน ตรงนี้มันคือผลประโยชน์ที่ต่างตอบแทน แถมคนดังยังได้รับความรัก ความผูกพัน เพราะได้เห็นหน้าผ่านสื่ออยู่ทุกวัน เอาเข้าจริงแม้มีดราม่าเรื่องสิทธิพิเศษมาให้ขัดเคืองใจ แต่ท้ายที่สุดก็เชื่อว่าเราทุกคนต่างรอคอยให้น้าค่อมกลับมาด่าว่า “ไอ้สัด กูสบายดี” ในเร็ววัน 

 

ในขณะเดียวกันเมื่อเราหมดหวังจากนักการเมืองที่คิดว่าจะไปใช้สิทธิ์แทนเรา เราหวังว่าคนที่เราสนับสนุนให้มีชื่อเสียงได้ออกเสียงแทนเราให้ดังกังวาน สมกับสิทธิพิเศษที่แท้จริงแล้วประชาชนเป็นคนมอบให้ 

 

ค่อม ชวนชื่น 

 

ก็ในเมื่อใช้เรียกร้องอะไรบางอย่างที่ทำให้คนสนใจได้ ก็ควรจะเรียกร้องอะไรอีกหลายๆ อย่างตามที่ประชาชนคิดได้เหมือนกัน อย่างกรณีของ บอย-ตรัย ภูมิรัตน ที่ปล่อยเพลงให้กำลังใจแพทย์และพยาบาลแล้วเกิดกระแสให้ Call Out แต่งเพลงสะท้อนปัญหาที่แท้จริงของสถานการณ์ปัจจุบัน 

 

บอย-ตรัย ภูมิรัตน

 

โดยที่เจ้าตัวชี้แจงว่าตัวเองเป็นกลาง จนเกิดกระแสลุกลามไปขุดภาพในอดีต จนเป็นเหตุให้ดราม่าหนักขึ้นไปอีก ความจริงก็รู้ว่าบอยมีความตั้งใจที่ดี ซึ่งถ้าหากสถานการณ์ไม่เลยเถิดมาจนถึงจุดนี้ ก็อาจได้รับเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญ แต่ตอนนี้ความรู้สึกของผู้คนเหมือนกำลังอยู่ในไฟป่า การยืนอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ก็ดูเป็นเรื่องน่าหมั่นไส้

 

ทุกครั้งที่บรรยากาศการเมืองร้อนแรง มีการเรียกร้องให้คนนั้นคนนี้อออกมาแสดงจุดยืน และพร้อมจะแปะป้ายว่าคนนั้นเป็นสิ่งนั้น คนนี้เป็นสิ่งนี้  

 

แจ๊ส ชวนชื่น

 

ผู้เขียนเองยอมรับว่าเคยตัดสินใจทำอะไรบางอย่างลงไปเพราะกระแสสังคม ซึ่งก็มีบางส่วนที่ตรงกับความนึกคิดที่มีในขณะนั้น แต่เมื่อมีการขยายประเด็นที่ดูจะเกินเลยจากจุดยืนที่คิด ก็ขอถอนตัวออกมา ประสบการณ์ต่างๆ จากความผันแปรทางการเมืองสอนให้รู้ว่า ความเป็นกลางไม่มีอยู่จริง แต่จะโน้มเอียงมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับประเด็นที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย 

 

และการทำอะไรตามกระแสสังคมก็ส่งผลให้เรานึกละอายกับสิ่งที่ทำไปในอดีต ทำให้ปัจจุบันไม่เห็นด้วยกับกระแสเรียกร้องให้ Call Out เพราะเชื่อว่าการกระทำจะทรงพลังก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นมาจากใจของคนนั้นจริงๆ 

 

อ่านบทความ https://thestandard.co/idol-formula-that-the-new-generation-needs/

 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า

 

“จากนี้วงการบันเทิงจะเปลี่ยนไป คนไม่ชอบดารามากขึ้นเพราะรู้ว่าในวิกฤตแบบนี้ ดารา นักร้อง ศิลปินไม่ได้ช่วยอะไร…” 

 

ผู้เขียนเห็นด้วยในประเด็นที่ว่า หลังจากนี้วงการบันเทิงจะเปลี่ยนไป แต่คิดว่าคนคงไม่เลิกชอบดารา เพียงแต่เราจะคัดกรองบุคคลที่เราชื่นชอบมากยิ่งขึ้น จะไม่ใช่แค่เฉพาะรูปร่างหน้าตา ความบันเทิงตลกโปกฮาที่เขามอบให้ แต่จะหมายรวมไปถึงการเป็นตัวแทนความรู้สึกนึกคิดของเราให้สมกับคำนิยามที่เรามอบให้เขาเป็น ‘คนของประชาชน’ อย่างแท้จริง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising