อุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซีกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านกฎระเบียบทั่วทุกมุมโลก รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีด้วย
ล่าสุดรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เน้นย้ำถึงความซับซ้อนที่เกิดจากการระบุตัวตนเพียงบางส่วนของคริปโต และบทบาทคู่ของคริปโตที่เป็นทั้งเครื่องมือการลงทุนและการชำระเงิน รวมถึงความผันผวนที่สูง ทำให้การจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย
ความท้าทายที่ต้องเผชิญจากการจัดเก็บภาษีคริปโต
การล่มสลายของ FTX เมื่อปี 2022 และการฟ้องร้องของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐฯ ต่อ Binance และ Coinbase ทำให้เกิดความวิตกกังวลในตลาดคริปโต และทำให้เกิดการทบทวนกฎหมายที่เพิ่มขึ้นจากผู้กำหนดนโยบาย
รัฐบาลทั่วโลกกำลังเผชิญกับความซับซ้อนในการจัดเก็บภาษีคริปโต เนื่องจากลักษณะเฉพาะตัวของคริปโตและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า ทำให้การจัดเก็บอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องท้าทาย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
รายงานล่าสุดของ IMF เผยว่า การออกแบบระบบภาษีมีความยาก เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์คริปโตที่มีความหลากหลาย ความซับซ้อนที่เกิดจากการระบุตัวตนเพียงบางส่วนของคริปโต และบทบาทคู่ของคริปโตที่เป็นทั้งเครื่องมือการลงทุนและการชำระเงิน รวมถึงความผันผวนที่สูง
IMF ยังกล่าวถึงความท้าทายที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ต้องเผชิญ ซึ่งเทคโนโลยีในการจัดเก็บภาษีอาจมีจำกัด นอกจากนี้ การถือครองคริปโตสำหรับนักลงทุนรายใหญ่ หรือที่เราเรียกว่า ‘วาฬ’ กับผู้ถือรายย่อย อาจต้องใช้วิธีเก็บภาษีที่แตกต่างกัน
ความท้าทายหลักอีกประการหนึ่งอาจอยู่ที่ตัวเทคโนโลยีเอง เนื่องจากหน่วยงานด้านภาษีพยายามแทรกตัวเข้าไปในธุรกรรมบล็อกเชน และสำหรับบางบล็อกเชนถูกออกแบบมาเพื่อกระจายอำนาจ (Decentralized) และไม่ควรถูกควบคุมโดยหน่วยงานใดๆ
แต่ละประเทศจัดเก็บภาษีกันอย่างไรบ้าง
ประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้ยอมรับสกุลเงินดิจิทัลในฐานะสกุลเงิน Fiat เช่น ดอลลาร์หรือปอนด์ แต่ถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์หรือสินค้าโภคภัณฑ์ ในบางประเทศ สกุลเงินดิจิทัลจะต้องเสียภาษีรายได้และภาษีกำไรจากการซื้อขายเช่นเดียวกับหุ้น หรือบางครั้งก็ทั้งสองอย่าง
ประเทศเบลเยียมมีการจัดเก็บภาษีจากกำไรจากการซื้อขาย (Capital Gains) มากถึง 33% และในบางรายอาจมากถึง 50% สำหรับธุรกรรมที่มีมูลค่าสูง ขณะที่ไอซ์แลนด์ กำไรจำนวน 7,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 245,000 บาท จะถูกจัดเก็บภาษีมากถึง 40% และหากกำไรมากกว่าจำนวนดังกล่าวจะถูกเก็บภาษีมากถึง 46% เลยทีเดียว
ขณะที่เยอรมนีจะไม่มีการเก็บภาษีคริปโต หากมีการถือครองมากกว่า 1 ปี แต่หากเป็นกำไรที่เกิดจาก Staking จะต้องเสียภาษี สำหรับประเทศไทยนั้น กำไรจากการขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตโดยตรงจะต้องเสียภาษีที่ 15% ส่วนในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อคริปโตนั้นไม่มีการจัดเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขาย และไม่มีการจัดเก็บภาษีรายได้ส่วนบุคคลจากคริปโตอีกด้วย
ตลาดคริปโตเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะต้องหาทางออกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมคริปโตในระยะยาว
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงและความผันผวนสูงมาก นักลงทุนจึงควรกระจายความเสี่ยง ศึกษาหาข้อมูล และวางแผนในการลงทุนด้วยความรอบคอบ บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น
อ้างอิง: