17 มีนาคม 2560 นายชัยภูมิ ป่าแส หรือจะอุ๊ นักกิจกรรมชาติพันธุ์ลาหู่ และประธานเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิตที่ด่านบ้านรินหลวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
นับเนื่องจนถึงเวลานี้ก็ผ่านมาเกือบปีกว่าแล้ว แต่คดีของชัยภูมิยังคงเป็นปริศนามาจนถึงปัจจุบัน เพราะข้อมูลจากหลากหลายที่ยังขัดแย้งกันอย่างสุดขั้ว
ล่าสุดสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า หลังจากเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ทนายความและองค์กรเครือข่ายติดตามความคืบหน้าในคดีนี้ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้บัญชาการทหารบก ณ กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก เพื่อขอข้อมูลภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดในเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารยิงนายชัยภูมิ ป่าแส เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 นั้น
สำนักงานเลขานุการกองทัพบกได้มีหนังสือลงวันที่ 6 สิงหาคม 2561 ส่งถึงนายรัษฎา มนูรัษฎา อุปนายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและหนึ่งในทนายความ โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า
วันที่ 24 มีนาคม 2560 กองบัญชาการควบคุมที่ 1 หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ 5 (บก.ควบคุมที่ 1 ฉก.ม.5) ได้ถอดเครื่องบันทึกข้อมูลกล้องวงจรปิดออกจากจุดตรวจบ้านรินหลวงเพื่อเตรียมการส่งให้สถานีตำรวจภูธรนาหวาย
และเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 กองกำลังผาเมืองได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมดำเนินการเปิดดูข้อมูลภาพเหตุการณ์ของวันที่ 17 มีนาคม 2560 แต่ภาพในเครื่องบันทึกข้อมูลเป็นภาพของวันที่ 20-25 มีนาคม 2560 ไม่มีภาพของวันที่ 17 มีนาคม 2560 เนื่องจากเป็นระบบบันทึกซ้ำอัตโนมัติของเครื่อง ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้ทดลองทำสำเนาไฟล์ข้อมูลในช่วงวันที่ 17 มีนาคม 2560 ห้วงเวลา 10.00-10.10 น. เพื่อเปิดดู แต่ก็ไม่พบภาพข้อมูลใดๆ ของวันที่ 17 มีนาคม 2560 จึงไม่ได้เก็บสำเนาไฟล์ดังกล่าว เพราะไม่มีข้อมูลใดๆ
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงหนังสือฉบับนี้ว่าข้อมูลตามหนังสือตอบกลับของกองทัพดังกล่าวค่อนข้างขัดแย้งกับคำให้สัมภาษณ์ของผู้นำกองทัพที่เคยระบุทำนองว่าพวกเขาได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้ว
ดังเช่นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 หลังเกิดเหตุการณ์ประมาณหนึ่งสัปดาห์ รายการ ข่าว 3 มิติ ได้รายงานว่า พลโท วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่าได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้ว พบว่าทหารทำทุกอย่างตรงกับคำให้การของพลตำรวจโท พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ พร้อมกล่าวว่า “ผมว่าสมเหตุสมผลในการยิงป้องกันตัว ถ้าเป็นผมอาจกดออโต้ก็ได้”
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา พลโท วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีการไม่พบข้อมูลในวันเกิดเหตุว่า “ไม่พบอยู่แล้ว เพราะกล้องไม่มีตรงนั้น กล้องวงจรปิดมีก่อนถึง ก็อย่างที่เคยเห็นกันนั่นล่ะ มีคนเดินผ่านหน้ากล้องเฉยๆ และภาพทั้งหมดเราก็ส่งไปให้หมดแล้ว
“มันมี 4-5 คดีในเคสเดียวกันนี้ เราจะมามอบให้ได้อย่างไร ซึ่งภาพต่างๆ เป็นวัตถุพยานในศาล เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือผมมีหน้าที่ส่งข้อมูลทั้งหมดเพื่อไปสู้คดี จริงๆ แล้วตอนนี้ผมมีหน้าที่อย่างเดียวคือฟังว่าศาลท่านตัดสินคดีว่าอย่างไรเท่านั้นเอง เพราะทุกอย่างเข้าไปอยู่ในกระบวนการยุติธรรมหมดแล้ว”
ด้านนายรัษฎากล่าวว่า คำตอบของกองทัพขัดแย้งกับคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ที่เคยบอกว่าดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้ว มาถึงตอนนี้กลับตอบมาว่าไม่มีภาพจากกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุ อยากถามว่ามันคือภาพอะไรที่นายทหารระดับสูงได้เห็น คงต้องถามแม่ทัพภาคที่ 3 ว่าทำไมพยานหลักฐานชิ้นสำคัญจึงหายไป
ในประเด็นเรื่องกล้องวงจรปิดนั้น แม้สังคมเรียกร้องให้มีการเปิดเผยเพื่อให้รู้ความจริงมาตลอด แต่ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือตำรวจต่างก็ปฏิเสธที่จะเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุดังกล่าว
คำถามที่น่าสนใจในคดีจึงนี้จึงดังขึ้นอีกครั้งว่า เมื่อคำตอบของกองทัพขัดแย้งกับคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ที่เคยบอกว่าดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้ว อะไรคือความน่าเชื่อถือในการทำงาน และใครกันแน่ที่ไม่พูดความจริงในกรณีนี้ เพราะแน่นอนว่าเรื่องนี้คือความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐและกระบวนการยุติธรรมอย่างยิ่ง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมกรณีนายชัยภูมิ ป่าแส ได้ที่นี่ thestandard.co/chaiyapoom-pasae-one-year-death-anniversary
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: