×

ศาลฎีการับคดีครอบครัว ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ฟ้องกองทัพบกเรียกค่าเสียหาย หลังศาลชั้นต้น-อุทธรณ์ยกฟ้อง คาดใช้เวลา 6 เดือนก่อนมีคำพิพากษา

โดย THE STANDARD TEAM
17.01.2023
  • LOADING...
ชัยภูมิ ป่าแส

วานนี้ (16 มกราคม) รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสิทธิมนุษยชนของครอบครัว ชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมชาติพันธ์ุลาหู่ ที่ถูกทหารด่านบ้านรินหลวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ วิสามัญฆาตกรรม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จาก Protection International (PI) ทีมทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และกลุ่มดินสอสี ได้เดินทางเข้าฟังคำสั่งศาลฎีกา ในคดีที่ นาปอย ป่าแส มารดาของชัยภูมิ ยื่นฟ้องเมื่อปี 2562 ต่อศาล เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ จากกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารทั้งสองที่วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ

 

การยื่นฎีกาของนาปอยในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 โดยได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือยกฟ้องฝ่ายกองทัพบก เพราะเห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืน M16 ยิงชัยภูมินั้น เป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ กองทัพบกจึงไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งหลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา ครอบครัวและทนายความได้เห็นต่างกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จนนำมาสู่การยื่นฎีกาในครั้งนี้ ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังนี้

 

การพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ทหารป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จำเป็นต้องพิจารณาในสองประเด็น โดยประเด็นแรกต้องพิจารณาว่าการกระทำของผู้ตายเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงหรือไม่ หากศาลฎีกาพิจารณาฎีกาของโจทก์ที่ได้บรรยายไว้โดยละเอียดแล้ว จะเห็นได้ว่าการกระทำของชัยภูมิตามที่เจ้าหน้าที่ทหารเบิกความถึงนั้นขัดแย้งกับพยานหลักฐานผลตรวจพิสูจน์ DNA ของผู้ตายจากวัตถุระเบิดอย่างชัดแจ้ง จึงไม่มีน้ำหนักให้ศาลฎีกาเชื่อถือรับฟังแต่อย่างใด ดังนั้นจึงฟังได้ว่าภยันตรายที่เจ้าหน้าที่ทหารกล่าวอ้างนั้นไม่มี และไม่ใช่ภยันตรายที่ใกล้จะถึง

 

ประเด็นที่สอง เจ้าหน้าที่ทหารที่วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจอ้างความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไปมาใช้วินิจฉัยกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารคนนี้วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ถืออาวุธและมีอำนาจตามกฎหมายอยู่ในมือ ย่อมจะต้องมีวิจารณญานสูงกว่าวิญญูชนทั่วไป เพราะการปฏิบัติหน้าที่อาจก่อความเสียหายให้กับประชาชนมากกว่าวิญญูชน

 

ซึ่งภายใต้หลักการพิจารณาทั้งสองประการ จะเห็นได้ว่าการที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืน M16 ซึ่งเป็นอาวุธสงคราม ยิงชัยภูมิบริเวณต้นแขนซ้ายซึ่งอยู่ระดับเดียวกับทรวงอกที่เป็นอวัยวะสำคัญ ย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาวุธปืนสงครามมีอำนาจทำลายล้างสูง และย่อมจะทำให้ชัยภูมิถึงแก่ความตายได้ เจ้าหน้าที่ทหารที่ยิงย่อมมีเจตนาฆ่าผู้อื่นโดยเล็งเห็นผล ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุแม้จะยิงเพียงนัดเดียวก็ตาม

 

ด้วยเหตุผล พยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายดังที่โจทก์ร้องต่อศาลฎีกา ครอบครัวชัยภูมิจึงขอให้ศาลฏีกามีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยพิพากษาให้เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ เพื่อให้โจทก์ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และให้ครอบครัวได้รับการเยียวยาตามสิทธิที่พึงได้รับ

 

ทั้งนี้ศาลฎีกามีคำสั่งรับฎีกาที่ทนายความและครอบครัวของชัยภูมิได้ยื่นไป พร้อมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้กับครอบครัวชัยภูมิ และกองทัพบกซึ่งเป็นจำเลยต้องยื่นแก้คำฎีกามาภายใน 15 วัน ส่งให้ศาลชั้นต้น เพื่อรวบรวมสำนวนและส่งคืนศาลฎีกาเพื่อดำเนินการต่อไป

 

ทนายความของครอบครัวให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดีว่า วันนี้ศาลฎีกาได้มีคำสั่งลงมาว่า ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาที่เป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่การพิจารณาของศาลฎีกา และสั่งรับฎีกาของโจทก์ ดังนั้นคดีก็อยู่ระหว่างที่จะต้องให้กองทัพบกแก้ฎีกาเข้ามาภายใน 15 วัน ซึ่งคำสั่งศาลวันนี้ก็เป็นคำสั่งสั้นๆ ที่ถือว่าศาลท่านได้ให้ความยุติธรรมกับประชาชนให้ได้สู้ถึงชั้นฎีกา นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ก็ต้องขอบคุณองค์คณะของศาลฎีกาที่รับฎีกาของแม่ชัยภูมิด้วย โดยขั้นตอนต่อไปศาลจะพิจารณาทั้งคำฎีกา และคำแก้ฎีกาของกองทัพบก ถ้ามีนัดฟังคำสั่งศาลฎีกา ศาลก็จะมีหมายแจ้ง ซึ่งน่าจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาประมาณ 6 เดือนขึ้นไป ตนคิดว่าศาลน่าจะพิจารณาอย่างละเอียด 

 

“ผมรู้สึกว่าครอบครัวของ ชัยภูมิ ป่าแส แม้เขาจะมีฐานะที่ยากจน แต่เขาเข้าใจว่าคนเราจะต้องเรียกร้องความเป็นธรรมและต่อสู้ให้ถึงที่สุด เวลาคณะทนายความอธิบายให้เขาเข้าใจ เขาก็ตั้งใจที่จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของลูกเขา” ทนายความสิทธิมนุษยชนของครอบครัวชัยภูมิระบุ

 

ทนายความกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตนคิดว่าคดีวิสามัญฆาตกรรมมีความสำคัญ เพราะว่าฝ่ายหนึ่งเป็นประชาชนที่เสียชีวิตโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นองค์กรของรัฐจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ดังนั้นคดีวิสามัญฆาตกรรมมีความสำคัญตั้งแต่ชั้นของพนักสอบสวนต้องร่วมสอบสวนพร้อมกับพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการเมื่อกฎหมายมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้ทำเพื่อผดุงความยุติธรรม พนักงานอัยการก็ต้องทำให้เต็มที่ตั้งแต่ชั้นสอบสวน ในคดีนี้แต่ละคนมีหน้าที่ที่ควรทำ ก็ต้องไปตรวจดูว่าแต่ละคนได้ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วนแล้วหรือไม่ 

 

ขณะที่ ไมตรี จำเริญสุขสกุล นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ก่อตั้งกลุ่มด้วยใจรัก (รักษ์ลาหู่) ซึ่งเป็นผู้ดูแลชัยภูมิ กล่าวว่า อยากขอบคุณทีมทนายความและหลายหน่วยงานที่ยังร่วมต่อสู้กับครอบครัวในกรณีนี้อยู่ และขอบคุณศาลฎีกาที่รับฎีกาของครอบครัว แม้ว่าหลายนัดที่ผ่านมาเราจะยังไม่เห็นความเป็นธรรม แต่ครั้งนี้ทำให้ครอบครัวได้เห็นความหวังในการต่อสู้ขึ้นมาอีกครั้ง และแม้ตลอดเวลาของการต่อสู้พวกเราจะเหนื่อยและได้รับผลกระทบกับครอบครัวอย่างมาก แต่เมื่อมีโอกาสเข้ามาพวกเราก็ยังยืดหยัดที่จะสู้ต่อ โดยเฉพาะแม่ของชัยภูมิที่ต้องอยู่อย่างยากลำบาก เพราะขาดเสาหลักของบ้านอย่างชัยภูมิ แต่ก็ไม่ทำให้แม่หมดแรงพลังที่จะสู้และเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกเช่นกัน 

 

ยุพิน ซาจ๊ะ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มด้วยใจรัก ซึ่งเป็นผู้ดูแลชัยภูมิด้วยเช่นกัน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนแรกเราก็นึกว่าจะไม่มีความหวังแล้ว แต่พอทราบข่าวว่าศาลฎีการับฎีกาของแม่ชัยภูมิ ทำให้เรามีความหวังกันเพิ่มมากขึ้น มีพลังที่จะสู้ต่อมากขึ้น เราอยากให้แม่ของชัยภูมิได้รับค่าชดเชย เพราะแม่ชัยภูมิไม่เหลือใครแล้ว แม่เขาเสียลูกจากการวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างน้อยเขาควรได้รับความเป็นธรรมด้วยการได้รับเงินชดเชยเยียวยา เพื่อให้แม่เขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้ชดเชยเยียวยา เพื่อทดแทนจากการที่เขาต้องเสียลูกที่เป็นเสาหลักของครอบครัวเขาด้วย 

 

ทั้งนี้เป็นเวลากว่า 5 ปี 10 เดือนแล้ว ที่ ชัยภูมิ ป่าแส ถูกเจ้าหน้าที่ทหารบริเวณด่านบ้านรินหลวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ วิสามัญฆาตกรรม ซึ่งภายหลังเกิดเหตุ ครอบครัวของชัยภูมิได้เดินหน้าทวงถามความยุติธรรมให้กับชัยภูมิ ทั้งการทวงถามเรื่องกล้องวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์ แต่ไม่มีการตอบรับใดๆ จากเจ้าหน้าที่ จนนำมาสู่การยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารทั้งสองที่วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ 

 

โดยวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง และให้กองทัพบกไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายตามคำฟ้องของมารดาชัยภูมิ ครอบครัวของชัยภูมิพร้อมทั้งทนายความจึงเดินหน้าขอยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลต่อไป โดยวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ศาลแพ่งเลื่อนอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นวันที่ 26 มกราคม 2565 และในวันที่ 26 มกราคม 2565 ศาลอุทธณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือยกฟ้อง พร้อมมีคำวินิจฉัยว่า ทหารใช้ปืนยิงชัยภูมิเพื่อป้องกันตัวเองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว อีกทั้งตำแหน่งที่ทหารยิงชัยภูมิคือต้นแขนซ้าย เป็นตำแหน่งยิงที่บอกเจตนาว่าไม่ได้ประสงค์แก่ชีวิต และในวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ทีมทนายความของครอบครัวชัยภูมิ ป่าแส ได้ขออนุญาตยื่นฎีกา จนศาลฎีกามีคำสั่งรับฎีกาในคดีนี้ 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising