×

ชัยวุฒิ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก หลังกฎหมายคุ้มครองส่วนบุคคล บังคับใช้ 1 มิ.ย. นี้ ย้ำถ่ายภาพที่สาธารณะติดผู้อื่นได้ หากไม่สร้างความเสียหาย

โดย THE STANDARD TEAM
31.05.2022
  • LOADING...
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

วันนี้ (31 พฤษภาคม) ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ และจะทำให้ข้อมูลส่วนบุคคล ที่ปกติประชาชนมักจะใช้ในการติดต่อสื่อสารกับร้านค้า หน่วยงาน เช่นข้อมูลที่อยู่ ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ รวมถึงข้อมูลธุรกรรมต่างๆ ที่ได้มีการติดต่อกับบริษัทผู้ให้บริการ เช่น บริษัทประกันภัย ธนาคาร ร้านค้าออนไลน์ต่างๆ จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้ ดังนั้น หากหน่วยงาน หรือผู้ประกอบกิจการใดเก็บข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าไว้ จะต้องมีระบบป้องกันห้ามไม่ให้รั่วไหล และห้ามนำข้อมูลไปขายหรือไปใช้ประโยชน์ในทางที่มิชอบ หากฝ่าฝืนก็จะมีความผิดตามกฎหมายใหม่นี้ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500,000 บาท ยกเว้นเฉพาะส่วนราชการต่างๆ ที่นำข้อมูลไปใช้ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจะไม่มีความผิด แต่ห้ามนำข้อมูลไปขายหรือไปใช้ในทางมิชอบ

 

ชัยวุฒิกล่าวต่อไปว่า หลังจากนี้ประชาชนจะได้รับสิทธิในการคุ้มครองข้อมูลของตนเองมากขึ้น ร้านค้า หรือหน่วยงานนำข้อมูลของประชาชนไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมไม่ได้ กฎหมายนี้จะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น 

 

ส่วนที่ประชาชนจำนวนมากกังวลเรื่องการถ่ายภาพ และการโพสต์ภาพที่ติดภาพบุคคลอื่นในที่สาธารณะโดยบังเอิญและไม่มีเจตนา ทำให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่นนั้น ยืนยันว่าไม่มีความผิด ประชาชนสามารถถ่ายรูปโพสต์ภาพได้ตามปกติ เช่นเดียวกับการบันทึกภาพกล้องวงจรปิด หากใช้เพื่อประโยชน์ในทางป้องกันอาชญากรรมก็ไม่มีความผิดเช่นกัน ยกเว้นจะมีการนำภาพไปใช้ในทางที่มิชอบเท่านั้น และทั้งหมดขึ้นอยู่กับเจตนา 

 

ชัยวุฒิยังย้ำด้วยว่า กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลนี้ เป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของประชาชน ดูแลประชาชน โดยไม่ได้มุ่งจะเอาผิดหรือลงโทษประชาชน จึงขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวลจนเกินไป และหากประชาชนพบว่าถูกนำข้อมูลไปใช้ในทางที่มิชอบ ก็สามารถร้องเรียนมายังดีอีเอส หรือร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้สามารถเอาผิดได้ โดยยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทุกคนอย่างแน่นอน

 

ทั้งนี้ สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของดีอีเอส ได้จัดทำข้อมูลอินโฟกราฟิก 10 เรื่องที่ประชาชนต้องรู้เกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดังนี้

 

  1. ข้อมูลส่วนบุคคล คือข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล ซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมเฉพาะ เช่น ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขประจำตัว ข้อมูลสุขภาพ ฯลฯ 
  2. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งเราไว้ก่อนหรือในขณะเก็บ รวบรวม (ห้ามใช้นอกเหนือวัตถุประสงค์) 
  3. ผู้ควบคุมข้อมูลต้องเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเท่าที่จำเป็นภายใต้วัตถุประสงค์อันชอบด้วยกฎหมาย
  4. ความยินยอม เป็นฐานการประมวลผลฐานหนึ่งเท่านั้น ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่ในการกำหนดฐานการประมวลผล ให้สอดคล้องกับลักษณะการประมวลผล และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
  5. ในการขอความยินยอม ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องคำนึงความเป็นอิสระของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอย่างที่สุด (ต้องไม่มีการบังคับเพื่อให้ได้ข้อมูลมา)
  6. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล มีสิทธิดังนี้
    • สิทธิในการถอนความยินยอม ในกรณีที่ได้ให้ความยินยอมไว้ 
    • สิทธิได้รับการแจ้งให้ทราบรายละเอียด (Privacy Notice) 
    • สิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคล
    • สิทธิขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคล
    • สิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล 
    • สิทธิขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ 
    • สิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล 
    • สิทธิขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล 
  1. กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ใช้กับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีสัญชาติใดก็ตาม
  2. ในกรณีที่เกิดเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล จนนำไปสู่ความเสี่ยงสูงที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องแจ้งเหตุการละเมิดให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลรับทราบ พร้อมกับแนวทางการเยียวยาโดยไม่ชักช้า 
  3. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่จัดทำบันทึกรายการกิจกรรม เพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้ โดยจะบันทึกเป็นหนังสือหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
  4. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ทั้งนี้ กระบวนการร้องเรียนเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการฯ กำหนด)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising