วันนี้ (4 กรกฎาคม) ที่ถนนสุรศักดิ์ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ลงพื้นที่ตรวจดูความเรียบร้อยบริเวณจุดนำร่องในการนำสายสื่อสารลงท่อใต้ดินที่บริเวณถนนสุรศักดิ์ หลังร่วมหารือในประเด็นนโยบายการนำสายสื่อสารลงใต้ดินที่อาคาร NT Tower
ชัชชาติกล่าวว่า อันดับแรกต้องขอบคุณรัฐมนตรีดีอีเอสที่จัดประชุมในวันนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการให้แก้ไข สำหรับเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งทางรัฐมนตรีดีอีเอสรับเป็นหน่วยงานกลางเพื่อประสานความรับผิดชอบ
ทั้งนี้มองว่ามีสองประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการคือ เรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสารที่รกรุงรังขั้นแรก อาจจะยังไม่ต้องนำทั้งหมดลงดินทันที แต่จะต้องรื้อสายที่ไม่ได้ใช้งานทั้งหมดออกก่อน และทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีแผนเรื่องนี้อยู่ และจะมีเงินทุนอุดหนุนให้ด้วย
ทั้งนี้มีการวางเป้าหมายเอาไว้ในปี 2565 ระยะทาง 800 กิโลเมตรจะต้องจัดการให้เรียบร้อยในส่วนของกรุงเทพฯ ชั้นใน แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะขณะนี้ล่วงมาถึงเดือนกรกฎาคมแล้ว มีรายงานว่าทำไปได้เพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น ทั้งนี้จะต้องผลักดันให้ได้โดยเป็นสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องสอดคล้องที่ได้เคยให้นโยบายรายเขตไว้
และสำหรับการจัดระเบียบเรื่องนี้ต้องเร่งดำเนินการไปให้ได้จนถึงปีหน้าด้วย ส่วนประเด็นเรื่องการนำสายสื่อสารลงดิน จะต้องพิจารณาถึงค่าเช่าท่อ เพราะหากมีราคาสูงจะส่งผลกระทบกับผู้ให้บริการภาคเอกชน เรื่องนี้จึงต้องมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาการนำสายสื่อสารลงดิน
ชัชชาติกล่าวยืนยันว่า ทาง กทม. ไม่ได้มีปัญหาในการดำเนินการ เพราะการจะนำสายสื่อสารลงดินมีต้นทุนอยู่แล้วทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ที่ทำท่อและเจ้าของสายต่างๆ เมื่อมีการลงทุนจึงจะต้องแบ่งเป็นระยะ ส่วนตัวเชื่อว่าทั้งหมดนี้จะมีความเป็นรูปธรรมตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป
ชัชชาติกล่าวต่อว่า ในส่วนการจัดระเบียบสายสื่อสาร ทาง กทม. อาจจะต้องบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาด มาตรา 39 จัดระเบียบสายที่รกรุงรัง หลังจากนี้จะต้องพิจารณาอนุญาตเฉพาะสายสื่อสารที่ กสทช. อนุญาตให้ใช้งานร่วมได้ และจะต้องกำหนดค่าปรับ หลังจากนี้หากใครมาใช้งานร่วมโดยไม่มีใบอนุญาตก็จะต้องถูกดำเนินการ ตั้งข้อหา เพื่อไม่ให้เกิดกลุ่มที่มาลักลอบพาดสาย
ขณะที่ชัยวุฒิกล่าวย้ำว่า การจัดระเบียบเรื่องสายสื่อสาร รัฐบาลตั้งงบประมาณกลางมา 700 ล้านบาท เพื่อจัดเก็บสายเก่าให้เรียบร้อยและจัดทำสายใหม่ขึ้นมา นโยบายนี้จะนำไปทำทั่วทั้งประเทศต่อไป สำหรับการหารือในวันนี้กับผู้ว่าฯ เพื่อเป็นการคุยเรื่องการนำสายไฟลงใต้ดิน บางส่วนเป็นท่อที่มีอยู่แล้ว บางส่วนจะต้องทำใหม่ แต่ทั้งนี้พื้นที่ที่จะดำเนินการเป็นฟุตปาธของ กทม. ต้องมีการตั้งคณะกรรมการกลางระหว่าง กทม., กสทช. และดีอีเอสทำงานร่วมกัน หากตกลงได้เร็วก็จะดำเนินการได้รวดเร็ว
ทั้งนี้การนำสายลงใต้ดินจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการจัดการสายแขวน 10 เท่า ดังนั้นจะนำสายทุกอย่างลงไปใต้ดินไม่ได้ เพราะจะเป็นภาระต่อภาคเอกชน ซึ่งผู้บริโภคอาจจะต้องเสียค่าบริการมากขึ้น จึงไม่อยากให้ประชาชนต้องเดือดร้อนในเรื่องนี้
ส่วนตัวเลขงบประมาณการนำสายไฟลงดินที่ประเมินไว้ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ก่อนหน้านี้ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ตั้งไว้ ต้องมาพิจารณาก่อนว่าหลังนำร่องไป 7 กิโลเมตรมีผู้มาเช่าหรือไม่ และราคาต้นทุนเท่าไร ซึ่งถ้าหากทำมาแล้วและไม่มีผู้มาเช่าก็จะไม่เดินหน้าต่อ เพราะไม่คุ้มค่า ซึ่งเรื่องนี้จะต้องกลับไปทบทวนและนำมาพูดคุยร่วมกันอีกครั้ง
ส่วนกรณีที่มองว่าท่อร้อยสายของ NT ไม่มีประสิทธิภาพ จากการตรวจสอบพบว่าบางส่วนยังคงใช้งานได้ บางส่วนต้องปรับปรุงซ่อมแซม ซึ่งถ้าในด้านการลงทุนก็จะใช้งบประมาณน้อยกว่า ทั้งหมดนี้ก็จะต้องคุยกับภาคเอกชนว่ายินดีจะมาลงทุนหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลก็จะต้องมีการหารือและอาจจะต้องสนับสนุนบางส่วน
ชัยวุฒิกล่าวด้วยว่า ได้พูดคุยเบื้องต้นกับทาง กสทช. เพื่อให้ช่วยดูแลงบประมาณการนำสายไฟลงดิน โดยชัชชาติแซวกลับว่า เมื่อครู่ท่านบอกว่าจะช่วยหลักหมื่นล้านบาท แต่ก็อาจจะกลายเป็นร้อยเปอร์เซนต์ก็ได้นะ ก่อนที่ชัยวุฒิจะตอบกลับว่า ดูแล้วหมื่นล้านบาทก็พอ ไม่ต้องถึง 2 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ภาพรวมชัชชาติยืนยันว่า ความเป็นระเบียบจะเห็นแน่นอนภายในปีนี้ จะเห็นทิศทางแน่นอน ส่วนประเด็นการเปลี่ยนผู้บริหาร KT จะทำให้คุยกับ NT ง่ายขึ้นหรือไม่ เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุย แต่ก็จะต้องดูตัวเลขเพราะเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ใช้ความรู้สึก และต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง