วันนี้ (24 ตุลาคม) ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม นำโดย ชัยธวัช ตุลาธน, รังสิมันต์ โรม และ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ร่วมกันแถลงภายหลังที่ประชุมสภามีมติไม่เห็นชอบกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ
ชัยธวัชกล่าวว่า ค่อนข้างน่าผิดหวังแม้จะเห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วว่า พรรคร่วมรัฐบาลเองไม่มีเอกภาพในเรื่องการนิรโทษกรรม ซึ่งเมื่อช่วงเช้าของวันนี้พรรคเพื่อไทยดูเหมือนจะมีมติให้เห็นชอบกับข้อสังเกต แต่สุดท้ายเมื่อผลโหวตออกมา เสียงที่เห็นชอบจำนวน 140 กว่าเสียงน่าจะมาจากพรรคฝ่ายค้านเกือบทั้งหมด เท่ากับว่าสภาจะไม่ส่งข้อสังเกตในรายงานไปให้รัฐบาล ซึ่งข้อเสนอหลายเรื่องมีความสำคัญและสามารถนำไปใช้ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของรัฐบาลเองได้
ชัยธวัชระบุว่า ผลจากมติวันนี้ในทางการเมืองสะท้อนว่ามีความไม่แน่นอนอย่างสูง ว่ารัฐบาลนี้จะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองฉบับของรัฐบาลก่อนการเปิดสมัยประชุมหน้าเองหรือไม่ รวมถึงอาจจะไม่มีมาตรการใดๆ มาคลี่คลายปัญหาความรุนแรงของคดีทางการเมืองในปัจจุบันและอนาคต
อย่างไรก็ตาม ตนเองในฐานะกรรมาธิการฯ รวมถึง สส. พรรคประชาชน ก็ยังหวังจะเห็นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเสนอมาเข้าสู่สภาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะจากรัฐบาลเองหรือจากพรรคเพื่อไทย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุของการลงมติไม่เห็นชอบในครั้งนี้มาจากการนิรโทษกรรมที่รวมคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 ใช่หรือไม่ ชัยธวัชกล่าวว่า สาเหตุหลักไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น เพราะรายงานไม่ได้เป็นการผูกมัดว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบใด เพียงแต่เป็นข้อสังเกตให้รับไปพิจารณาซึ่งมีหลายทางเลือก
ส่วนตัวมองว่าสาเหตุน่าจะมาจากปัญหาเอกภาพภายใน ครม. ซึ่งสะท้อนว่ามีแนวโน้มที่รัฐบาลจะไม่มีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาลยื่นเข้ามา โดยเมื่อไม่กี่วันก่อนนายกรัฐมนตรีก็พูดในทำนองว่า เรื่องนิรโทษกรรมให้เป็นเรื่องของสภา
“ผมคิดว่ามีนักการเมืองจำนวนหนึ่ง หากอ้างคำพูดของ จาตุรนต์ ฉายแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ว่าแข่งกันแสดงความจงรักภักดี ผมขอเติมไปด้วยว่า แข่งกันแสดงความจงรักภักดีแบบล้นเกินในทางที่ผิด ผมอยากให้นักการเมืองรวมถึงประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่จงรักภักดีและปรารถนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ลองพิจารณาอีกมุมหนึ่งว่า ควรใช้โอกาสในการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองซึ่งรวมมาตรา 112 เข้ามาด้วย แต่จะเป็นแบบมีเงื่อนไขหรือไม่อย่างไรก็แล้วแต่ จะเป็นโอกาสคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา” ชัยธวัชกล่าว
ชัยธวัชกล่าวอีกว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความคิดและความรู้สึกทางการเมืองที่ไปเกี่ยวพันกับประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองด้วย โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารซึ่งส่วนตัวมองว่าจะส่งผลดีมากกว่าการยืนยันกระต่ายขาเดียว ว่าการนิรโทษกรรมเท่ากับการไม่จงรักภักดี ที่สุดท้ายอาจส่งผลกระทบเชิงลบกับสถาบันพระมหากษัตริย์เสียเอง
“มันเป็นเรื่องง่ายที่จะแข่งกันแสดงความจงรักภักดี แต่การแสดงออกแบบล้นเกินเช่นนี้ คนที่ได้ประโยชน์คือคนที่แข่งกันเฉพาะหน้า แต่ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบกับผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” ชัยธวัชทิ้งท้าย
ขณะที่รังสิมันต์กล่าวว่า ถ้าเรียงกันชัดๆ การเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ นี้ขึ้นมาก็เป็นญัตติของ สส. พรรคเพื่อไทยเอง ทั้งที่อดีตพรรคก้าวไกลในเวลานั้นมีความเห็นว่าการนิรโทษกรรมสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องศึกษาแนวทางด้วยซ้ำ แต่ในเมื่อเป็นแนวทางของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการศึกษาก่อน สุดท้ายพวกเราก็เข้าร่วม ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในปัญหาว่าตกลงแล้วรัฐบาลนี้จะเอาอย่างไรต่อการนิรโทษกรรม เพราะรัฐบาลเคยพูดว่าต้องการแก้ไขปัญหาจากนิติสงครามรูปแบบต่างๆ แต่ตกลงแล้วสถานะของคำพูดที่เคยพูดเอาไว้จะเป็นอย่างไร เพราะความเชื่อมั่นของประชาชนจะเหลือน้อย
รังสิมันต์ยืนยันว่า เราเองในฐานะพรรคประชาชน ยังยืนยันจะเดินหน้าผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรมเพื่อเป็นทางออกไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ เพราะตอนนี้ก็มีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่ชัยธวัชเคยเสนอไว้บรรจุอยู่ในวาระการประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากตรวจสอบผลการลงมติเห็นชอบหรือไม่กับข้อสังเกตของกรรมาธิการ ผลปรากฏว่ามีเสียงเห็นด้วย 151 เสียง ไม่เห็นด้วย 269 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง
สำหรับในฝั่งที่เห็นด้วยกับข้อสังเกตแบ่งเป็นเสียงของพรรคประชาชน 138 เสียง ไม่อยู่ 7 เสียง นอกจากนั้นยังมี ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส. กทม. พรรคไทยก้าวหน้า และ กัณวีร์ สืบแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม
และยังมี สส. พรรคเพื่อไทย 11 คนลงมติเห็นด้วย ได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ, ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. แบบบัญชีรายชื่อ รวมถึง สุธรรม แสงประทุม, อดิศร เพียงเกษ, ก่อแก้ว พิกุลทอง, นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ เป็นต้น ซึ่งเคยเป็นแนวร่วมคนเสื้อแดง ขณะที่ ขัตติยา สวัสดิผล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้เสนอญัตติตั้งกรรมาธิการโหวตงดออกเสียง