×

ทำไมเชียงคานถึงเป็นเมืองต้นแบบของการผังเมือง

26.09.2019
  • LOADING...
เชียงคาน

อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย คือพื้นที่แรกที่แม่น้ำโขงไหลจาก สปป.ลาว เข้าสู่ไทย ทำให้เกิดทัศนียภาพของเมืองริมฝั่งโขงอันทรงเสน่ห์ ขณะที่ผู้คนในเชียงคานมีอารยธรรมแห่งลุ่มน้ำโขงที่ผสมผสานกับความทันสมัยของโลกปัจจุบันได้อย่างลงตัว 

 

ถ้าใครเคยไปเชียงคาน จะเห็นชุมชนเรือนไม้เก่า ได้บรรยากาศสงบ น่ารัก และไม่ดูน่าเบื่อ ซึ่งทั้งหมดที่เห็นในเชียงคานไม่ใช่เรื่องบังเอิญ 

 

อนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงจุดเริ่มต้นของเมืองเชียงคานในปัจจุบันว่า เริ่มจากชาวเชียงคาน นำโดยผู้นำท้องถิ่น เดินเข้ามาบอกกับรัฐส่วนกลางว่านักท่องเที่ยวเริ่มหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่เชียงคานแล้ว พวกเขายินดีที่จะให้เชียงคานเป็นหมุดหมายของการท่องเที่ยว แต่ก็ไม่อยากให้การท่องเที่ยวทำให้เชียงคานกลายไปเป็นอีกแบบหนึ่งเหมือนในหลายๆ เมือง

 

ผังเมืองดีๆ เริ่มที่ข้อตกลงร่วมกัน

รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองเล่าว่า ผังเมืองเชียงคานเริ่มจากคนเชียงคานค่อยๆ เขียนว่าอยากได้อะไรและไม่อยากได้อะไร

 

เชียงคาน

 

“เขาเริ่มง่ายๆ โดยการทำสิ่งหนึ่งขึ้นมาก่อน เรียกว่า ‘ธรรมนูญเชียงคาน’ เช่น ห้ามนำพาหนะที่มีเสียงดังและควันดำเข้ามา ห้ามนุ่งน้อยห่มน้อยประกอบกิจการในพื้นที่ ห้ามพลอดรักในที่สาธารณะ ฯลฯ นี่คือสิ่งที่ชาวเชียงคานต้องการ 

 

“จากนั้นก็เริ่มกำหนดว่าอยากอยู่แบบนี้ คือเป็นบ้านไม้สองชั้น วัสดุต่างๆ เริ่มร่างมาว่าอยากได้อะไร กรมโยธาธิการและผังเมืองก็เข้าไปนั่งคุยทุกบ้านเลย 

 

“ในที่สุดก็ได้ออกมาว่าเขาอยากได้อาคาร ซึ่งสีหลังคาเป็นโทนสีน้ำตาล เทา ขาว สีวัสดุธรรมชาติ อยากได้สีภายนอกเป็นสีวัสดุท้องถิ่น อยากได้องค์ประกอบอาคารเป็นแบบนี้ ไม่อยากให้ตอก เจาะ ฯลฯ พอเขาได้อย่างนี้ปุ๊ป ทางกรมผังเมืองก็ช่วยร่าง นี่คือสิ่งที่เราทำ 

 

“การทำผังเมืองไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ. การผังเมืองเสมอไป มันเรียกว่าการใช้มาตรการทางผังเมืองผ่านกฎหมายต่างๆ ชาวเชียงคานคุยกันได้ข้อสรุปอะไรออกมาก็ให้ท้องถิ่นประกาศเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. ควบคุมการก่อสร้างอาคารเลย เริ่มคุยกันตั้งแต่ปี 2550 มีผลออกมาเป็นกฎหมายท้องถิ่นปี 2553 จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังบังคับใช้อยู่ 

 

“ผมก็ถามว่าขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง เขาบอกว่าก็โอเค มันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ก็อยู่ภายใต้กรอบของเรา มีการเปลี่ยนแปลงวัสดุอยู่บ้าง แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์นี้อยู่ ยังเป็นอาคาร 2 ชั้น คุมความสูงไว้” อนวัชกล่าว

 

ผังเมืองเชียงคานทำให้ชีวิตผู้คนในท้องถิ่นดีขึ้นอย่างไร

อนวัชกล่าวอีกว่า “ทุกอย่างเลย เอาเรื่องวิชาการคือการสร้าง เนื่องจากว่าเขาอยู่มาก่อน การปลูกสร้าง การจัดแบ่งการอยู่อาศัยมันก็สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน เช่น เขาอยู่ริมแม่น้ำ อาศัยลมจากแม่น้ำ พื้นที่ถัดออกไปก็มีความสูงต่ำตามสมควร วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก็จะเป็นวัสดุท้องถิ่น ในที่สุดแล้ววัสดุในอดีต เช่น ไม้ หาได้ยาก ใช้วัสดุเทียมขึ้นมาคงเอกลักษณ์ต่างๆ ไว้

 

เชียงคาน

 

“กรมโยธาธิการและผังเมืองก็เข้าไปช่วยดูเรื่องระบบสุขาภิบาล ระบบระบายน้ำเสียต่างๆ ช่วยท้องถิ่นดูด้วยว่าต่อไปพื้นที่ตรงนี้มีแผนจะกลายเป็นโฮมสเตย์ จะทำระบบระบายน้ำเสียต่างๆ เข้ามารองรับอย่างไร 

 

“ส่วนอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญคือทางเดินเลียบแม่น้ำโขง ณ เชียงคาน เส้นทางเลาะเลียบริมแม่น้ำโขงที่สวยงาม กรมโยธาธิการและผังเมืองมีส่วนร่วมเข้ามาปรับและพัฒนาโดยร่วมมือของคนในชุมชน ทำให้เมืองแห่งนี้น่าอยู่มากขึ้น

 

เชียงคาน

 

“แม้เชียงคานจะยังไปไม่ถึงขั้นเมืองที่กำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละปี แต่มันก็ถูกจำกัดไว้ด้วยลักษณะกายภาพอยู่แล้ว เพราะมีที่พักเท่านี้ แต่ว่าถ้าเข้าไปเดินเล่นก็ไปได้ 

 

“สุดท้ายเชียงคานเกิดขึ้นได้แบบทุกวันนี้เพราะประชาชน เชียงคานจึงเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าเรื่องของการผังเมืองไม่ใช่เรื่องของกฎหมายอย่างเดียว เพราะพระเอกคือประชาชนในพื้นที่ ส่วนภาครัฐเป็นฝ่ายสนับสนุน จึงทำให้เกิดสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม เชื้อเชิญนักท่องเที่ยว และไม่เป็นภัยต่อชุมชนดั้งเดิม” อนวัชกล่าวในที่สุด

 

เชียงคาน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X