×

ชัย โสภณพนิช ชี้อีก 2-3 เดือนหุ้นไทยตกแตะ 1,200 จุด ด้านธุรกิจ BKI เบี้ยประกัน Q1/63 โต 25%

27.05.2020
  • LOADING...

วันนี้ (27 พฤษภาคม) ชัย โสภณพนิช ประธานกรรมการ บมจ.กรุงเทพประกันภัย กล่าวว่าไตรมาสแรก ปี 2563 ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปรับลดลงมามาก แต่พอร์ตของบริษัทยังกำไรอยู่ แม้ว่าช่วงดัชนีตกลงไปที่ระดับต่ำกว่า 1,000 จุด ยังไม่ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติม โดยปัจจุบันดัชนีอยู่ที่ 1,300 จุดกว่าๆ มองว่ามีโอกาสที่ดัชนีจะลดลง เพราะมีความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 การเปิดประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก และธุรกิจทั่วไป เช่น การท่องเที่ยวยังต้องใช้เวลาเพื่อการฟื้นตัว ประเมินว่าอาจใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี เศรษฐกิจจึงจะกลับมาฟื้นตัว 

 

“ประเด็นต่อไป เมื่อโควิด-19 เริ่มดีขึ้นจะมีปัญหาการเมืองไม่นิ่ง เมื่อมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นก็ทำให้ธุรกิจการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะจากต่างประเทศขาดความมั่นใจ ดังนั้นการลงทุนต่างชาติอาจต้องรอถึงช่วงสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยช่วงนี้เชื่อว่าดัชนีหุ้นจะเพิ่มขึ้น และจะปรับลดลงในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้ามาอยู่ที่ราว 1,200 จุด และสิ้นปีมีโอกาสขึ้นมาเท่าๆ กับตอนน้ี ซึ่งถือว่าต่ำกว่าระดับปีที่แล้วที่อยู่ราว 1,500 จุด”

 

ทั้งนี้ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าบริษัทจะเข้าไปหาซื้อหุ้นที่มีโอกาสเติบโต อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะการท่องเที่ยว โรงแรม แต่กลุ่มที่กระทบน้อยกว่าคือกลุ่มอาหาร ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานที่ได้ที่รับผลกระทบหนักช่วงมีนาคมถึงเมษายนที่ราคาน้ำมันตกก็มองว่าจะปรับตัวค่อยๆ ดีขึ้น ส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารยังต้องดูความไม่แน่นอนว่าหนี้เสีย (NPL) จะเพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ต้องจับตามองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เร็วมากน้อยเพียงใด

 

ด้าน อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันภัย กล่าวว่าผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรวม 6,136.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.5% โดยมีกำรไสุทธิ 668.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และรายได้สุทธิจากการลงทุน 459.7 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้แม้ว่าช่วงไตรมาสแรกบริษัทมีเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้คนตระหนักและซื้อประกันวินาศภัยมากขึ้น แต่เชื่อว่าจะมีผลกระทบในไตรมาส 2 ปี 2563 โดยการเติบโตจะชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเพราะภาพเศรษฐกิจโลกและไทยชะลอตัว ทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักชะลอตัวลง ขณะเดียวกันมองว่าหากการท่องเที่ยวฟื้นตัว เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเร็วขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปี 2563 ทางบริษัทคงเป้าหมายเบี้ยประกันภัยไว้ที่ 22,800 ล้านบาท เติบโต 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจะอาศัยปัจจัยบวกที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับโควิด-19 เช่น ประชาชนมีความตระหนักรู้ด้านการประกันภัยมากขึ้น และการใช้ข้อมูลเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ด้านอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากกฎเกณฑ์ของผู้กำกับที่มีความยืดหยุ่นขึ้น ทำให้สามารถออกแบบประกันที่หลากหลาย เช่น รายวัน รายเดือน รายไตรมาส ฯลฯ และยังช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการ (เช่น การออก E-Policy)

 

ขณะที่ประกันภัยโควิด-19 ปัจจุบันบริษัทมีจำนวน 6 แสนกรมธรรม์ คิดเป็นเบี้ยประกันภัยราว 300 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 7-8% ซึ่งในตลาดประกันวินาศภัยโควิด-19 ของประเทศไทย (ณ กลางเดือนเมษายน 2563) ยอดกรมธรรม์อยู่ที่ 8 ล้านกรมธรรม์ คิดเป็นเบี้ยประกันราว 3,000 ล้านบาท 

 

กลยุทธ์หลักของปี 2563 จะขยายประกันภัยทุกประเภท แม้ว่าประกันภัยรถยนต์จะมีความท้าทายมากขึ้นจากยอดขายรถยนต์ใหม่ที่ลดลง โดยปี 2563 คาดว่าจะลดลง 30-40% จากช่วงเดียวกันของของปีก่อน โดยช่วงไตรมาส 1 ของปี 2563 ลดลงราว 25% เฉพาะเดือนเมษายนลดลง 65% แต่กลยุทธ์หลักของบริษัทจะเน้นไปที่ประกันภัยปีต่อปี ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก 

 

ส่วนการลงทุนของภาครัฐ เชื่อว่ากว่า 80% ของโครงการต่างๆ ภายใต้ พ.ร.บ. งบประมาณฯ จะไม่เลื่อนระยะเวลาออกไป และคาดว่าจะเห็นในช่วงครึ่งปีหลัง

 

นอกจากนี้ทางบริษัทจะมีเบี้ยประกันภัยใหม่ๆ เช่น ประกันภัยโควิด-19 300 ล้านบาท ประกันอุบัติเหตุฯ ครู 220 ล้านบาท โครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ 100 ล้านบาท รวมถึงประกันภัยเกษตร เช่น ประกันข้าวนาปี และประกันฯ ข้าวโพด คาดว่าจะมีเบี้ยเพิ่มขึ้นราว 400 ล้านบาท 

 

“อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันภัยยังได้รับปัจจัยบวกจากอัตราค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ที่ลดลงในภาพรวม เช่น ประกันภัยรถยนต์ และประกันสุขภาพส่วนผู้ป่วยนอก (OPD) ที่ช่วงโควิด-19 คนไม่ค่อยขับรถมาทำงาน ส่วนโรงพยาบาล คนบางส่วนกังวล จึงไม่ได้มารักษาอาการป่วยไข้ที่ไม่หนักมาก” อภิสิทธิ์กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

 


 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising