วันนี้ (29 พฤศจิกายน) ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า S&P Global Ratings (S&P) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีปัจจัยสำคัญจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเข้มแข็งทางการคลังของประเทศ
ชัยกล่าวอีกว่า จากข้อมูลของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทย เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว จากร้อยละ 2.5 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 4.2 ในปี 2567 โดยเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการทางการคลังของรัฐบาลและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
ขณะที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP Growth) มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.2 ในช่วงปี 2566-2569 และสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP เฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ในช่วงปี 2567-2569 ตลอดจนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private-Partnerships) จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
นอกจากนี้ S&P ยังให้ความสำคัญต่อหนี้ภาครัฐบาลสุทธิ (Net General Government Debt) ของไทย ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง ประกอบกับไทยมีภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะยังคงเกินดุลตั้งแต่ปี 2567-2569 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ
เตรียมปรับปรุงกฎหมายเพื่อการทำธุรกิจ 4 ด้าน
ขณะเดียวกัน ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เปิดเผยว่า คณะกรรมการได้กำหนดประเด็นสำคัญ 4 ด้านในการปรับปรุงกฎหมายระยะแรกสำหรับคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ประกอบด้วย
- ด้านการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ มี กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ เป็นประธานอนุกรรมการ
- ด้านการพัฒนาระบบการอนุญาตหลัก การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ขอรับอนุญาต ในประเภทธุรกิจที่มีความสนใจในการลงทุน มี เพียงพนอ บุญกล่ำ เป็นประธานอนุกรรมการ
- ด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกสินค้า มี วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถพร เป็นประธานอนุกรรมการ
- ด้านการผลักดันพลังงานสะอาด มี กิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา เป็นประธานอนุกรรมการ
ธงทองยังกล่าวด้วยว่า การดำเนินการดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการต่อไป โดยขอให้รายงานความคืบหน้าทุก 60 วัน และหลังจากนี้เตรียมหารือร่วมกับหอการค้าสหภาพยุโรปในประเทศไทยและหอการค้าอเมริกันในประเทศไทยภายในเดือนธันวาคมนี้ รวมถึงรับฟังทุกหน่วยงาน กระทรวง ทบวง และกรม เพื่อให้ได้ความคิดที่หลากหลาย ให้คณะอนุกรรมการสามารถพิจารณากลั่นกรองการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และคาดว่าจะมีความชัดเจนในการกำหนดกรอบเวลาการดำเนินการว่าจะมีข้อเสนออะไรบ้าง หรือมีมติแก้ไขปรับปรุงกฎหมายอย่างไรบ้าง