วันนี้ (5 สิงหาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหาร กทม. ผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขต ครั้งที่ 6/2565 เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่เทศกิจ โดยมี ชาตรี วัฒนเขจร รองปลัด กทม., ศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ, ผู้บริหาร กทม., ผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ 50 สำนักงานเขต ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า)
ชัชชาติกล่าวภายหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมแนวดิ่งหัวหน้าฝ่ายเทศกิจทั้ง 50 เขต ปกติมีการประชุมเป็นประจำ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มาเข้าร่วมประชุม ได้หารือกันในเรื่องต่างๆ ที่เทศกิจดำเนินการ ซึ่งก็ทำได้ดี เช่น การช่วยเหลือประชาชนในมิติต่างๆ การระดมกำลังการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมทั้งเรื่องการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ปัญหาต่างๆ จุดที่เสนอเข้ามาเพื่ออนุมัติในอนาคต
ปัจจุบันมีจุดผ่อนผันที่อนุมัติ 55 จุด และอยู่ระหว่างลงนามประกาศ 31 จุด รวม 86 จุด และมีจุดที่อาจจะมีศักยภาพที่จะอนุมัติเพิ่มเติมได้ โดยเน้นว่าต้องให้มีความชัดเจน และได้แจ้งแต่ละเขตต้องทำจุดทำการค้าที่ได้รับอนุมัติเป็นจุดครูหรือจุดที่เป็นต้นแบบจริงๆ ให้ประชาชนเห็นแล้วมีความรู้สึกว่าอยากได้ มีคุณภาพดี ไม่เบียดเบียนการสัญจรคนเดินเท้า เพื่อนำไปเป็นครูที่สอนจุดอื่นๆ ให้ดีขึ้นได้ หาบเร่แผงลอยเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องอยู่กับพวกเรา เป็นเรื่องทั้งเศรษฐกิจ ทั้งคนซื้อและคนขาย แต่ต้องไม่เบียดเบียนกัน ไม่รกรุงรัง ประชาชนสัญจรได้โดยสะดวก และไม่เป็นแหล่งของการก่อเกิดทุจริต
แผงลอยมีอยู่สามแบบ แบบแรกคือ หาบเร่ชุมชน ที่อยู่กับชุมชนมานาน เช่น อยู่ในซอย แบบที่ 2 คือ หาบเร่-แผงลอย สำหรับพนักงานออฟฟิศที่อยู่ในเมือง อยู่ในถนนใหญ่ และแบบที่ 3 คือ กลุ่มแผงลอยที่ขายนักท่องเที่ยว แต่ละกลุ่มต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสมแตกต่างกันไป
ส่วนเรื่องวันหยุดมอบหมายสำนักเทศกิจวิเคราะห์ว่าแต่ละพื้นที่ต้องการหยุดวันไหน เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการแตกต่างกัน หากเป็นหาบเร่-แผงลอย ประเภทออฟฟิศ อาจจะหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะกฎหมายกำหนดให้หยุดหนึ่งวัน แต่ไม่ได้ระบุว่าให้หยุดวันจันทร์ ดังนั้นกลุ่มนี้อาจจะหยุดวันอาทิตย์ และทำความสะอาดพื้นที่วันอาทิตย์ และวันจันทร์ก็เปิดทำการค้าต่อเนื่องจากมีความต้องการกลับคืนมา
ดังนั้นในแต่ละจุดให้เทศกิจเสนอมา เพราะเป็นคนอยู่ในพื้นที่ และหากมีการหยุดแล้วต้องมีการความสะอาดอย่างจริงจัง ดังนั้นการหยุดเหลื่อมกันอาจจะเป็นข้อดี เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดไม่ต้องมาทำการล้างทำความสะอาดภายในวันจันทร์วันเดียว แต่ทำให้สอดคล้องกับพื้นที่ และในอนาคตอาจจะมีการพิจารณาความจำเป็นว่าต้องหยุดทุกสัปดาห์หรือหยุดสัปดาห์เว้นสัปดาห์ได้หรือไม่ เพราะเป็นเศรษฐกิจที่ประชาชนต้องการ ซึ่งต้องเอาจริงเอาจังและเป็นเรื่องที่เราจะเร่งผลักดัน
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า อีกเรื่องหนึ่งที่ให้รายงานคือเรื่องการจราจร โดยให้รายงานจุดที่มีปัญหาเข้ามาในแต่ละเขตว่าจุดติดขัดหรือจุดฝืดอยู่ที่ไหน เช่น เรื่องรถจอดส่งของ การทำผิดกฎหมายริมถนน ซึ่งหลายจุดทำให้เกิดการจราจรติดขัดต่อเนื่องระยะยาว โดยวันจันทร์สำนักเทศกิจจะรายงานจุดที่มีปัญหาเข้ามาและหาแนวทางแก้ไข แล้วจะเริ่มทำในสิ่งที่เราทำได้ก่อน อีกเรื่องที่ดำเนินการไปคือ เรื่องเด็กเช็ดกระจกบริเวณสี่แยก ซึ่งได้เริ่มดำเนินการนำร่องแล้วที่เขตคลองเตย
จริงๆ แล้วกลุ่มเช็ดกระจกเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ อย่ามองว่าเป็นอาชญากรหรือมองว่าเป็นภาระหรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญ เพราะหากเขาไม่ลำบากจริงคงไม่มาเช็ดกระจก จึงมอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่เทศกิจทำงานร่วมกับสำนักพัฒนาสังคม ให้ทำการแก้ไขปัญหา โดยมองการแก้ปัญหาในระยะยาวไม่ใช่แก้ไขระยะสั้น ต้องดูต้นตอว่าบ้านอยู่ไหน ปัญหาคืออะไร ฝึกอาชีพได้หรือไม่ ไม่ใช่แค่ว่ากดดันให้ออกจากพื้นที่ พร้อมกันนี้ให้ทุกเขตรายงานเข้ามาว่าจุดไหนที่มีเด็กเช็ดกระจก เพื่อจะได้ทำการแก้ไข ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความลึกในแง่ของเรื่องรายได้ เราเข้าใจปัญหาแต่ก็ต้องดำเนินการ
“เทศกิจก็เหมือนโซ่ข้อสุดท้ายที่เชื่อมเรากับประชาชน ไม่แตกต่างจากพนักงานรักษาความสะอาดหรือพนักงานกวาดขยะ เพราะว่าเป็นตัวที่เชื่อมเรากับประชาชน เรามีนโยบายดีแค่ไหน ถ้าโซ่ข้อสุดท้ายไม่ดี ประชาชนก็ไม่รู้สึกประทับใจหรือรู้สึกไม่ดีด้วย แต่ถึงแม้นโยบายเราไม่ดี แต่ถ้าโซ่ข้อสุดท้ายดี ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องดีได้ ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดประชาชน ที่ผ่านมาเทศกิจทำงานได้ดีในช่วงน้ำท่วม แต่อาจจะมีส่วนหนึ่งที่มีข้อกังวลเรื่องความโปร่งใส ต้องเน้นย้ำเรื่องความโปร่งใส และยืนยันว่านโยบายของผู้บริหารชุดนี้เน้นเรื่องความโปร่งใสและสุจริต คำว่าทุจริตเราไม่อดทน หากมีการทุจริตยังไงก็อยู่ไม่ได้” ชัชชาติกล่าว
ชัชชาติกล่าวอีกว่า ในที่ประชุม ทางสำนักเทศกิจได้รายงานแผนรักษาความปลอดภัยและอำนวยการจราจรการจัดประชุม APEC ด้านการท่องเที่ยว พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 14-20 สิงหาคม 2565 เพื่อรักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวกการจราจรให้กับบุคคลสำคัญพร้อมคู่สมรสและเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมประชุม รวมทั้งอำนวยการกำกับดูแลการปฏิบัติของทุกส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจรเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีแผนการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและคู่สมรสที่เข้าร่วมประชุมจะต้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
การอำนวยความสะดวกการจราจรกำหนดเส้นทางหลัก เส้นทางสำรอง เส้นทางฉุกเฉิน โดยประชาชนผู้ใช้ทางได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ดำเนินการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย จัดระเบียบทางเท้า รวมทั้งเส้นทางเข้าออกโดยรอบสถานที่ประชุม สถานที่พำนัก และสถานที่ตามที่กำหนด โดยทุกส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการแผนการปฏิบัติและแผนการใช้กำลังพล อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ จากทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ และมีการประสานสอดคล้องกันอย่างใกล้ชิด จริงจัง และต่อเนื่อง
สำหรับการมอบหมายภารกิจประจำกองอำนวยการร่วมระหว่างวันที่ 13-21 สิงหาคมนี้ ประกอบด้วย
- จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจจากสำนักเทศกิจ สำนักงานเขตปทุมวัน สำนักงานเขตบางรัก สำนักงานเขตคลองเตย และสำนักงานเขตราชเทวี ประจำกองอำนวยการร่วมเพื่อติดต่อและประสานการปฏิบัติระหว่าง กทม. กับกองอำนวยการร่วม เพื่ออำนวยการ สั่งการ กำกับดูแล และประสานการปฏิบัติกับส่วนราชการหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
- จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่ ณ ที่ทำการศูนย์ ซึ่งมีการกำหนดขอบเขตและความรับผิดชอบในพื้นที่หวงห้าม พื้นที่ควบคุม โดยให้มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยและระวังป้องกันอัคคีภัยสถานที่ประชุม สถานที่จัดเลี้ยง และโรงแรมที่พำนักของบุคคลสำคัญและคู่สมรสในพื้นที่รับผิดชอบ ดังนี้
-
- โรงแรมเดอะ เซนต์ รีจิส กรุงเทพฯ เขตปทุมวัน
- โรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ เขตปทุมวัน
- โรงแรมคิมป์ตัน มาลัย กรุงเทพฯ เขตปทุมวัน
- โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ เขตราชเทวี
สำหรับการกวดขันเรื่องการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย สำนักงานเขต 50 เขต ได้จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบกวดขันพื้นที่ในความรับผิดชอบอย่างจริงจังและต่อเนื่อง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแนวทางการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยของ กทม. ในทางที่ถูกต้อง เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้ทำการค้าหรือจำหน่ายสินค้าในบริเวณหรือพื้นที่ กทม. โดยไม่ได้อนุญาตเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีการจับจองพื้นที่ทางเท้าหรือที่สาธารณะเพื่อวัตถุประสงค์ในการทำการค้าที่มิชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้ทางเท้าในการสัญจร
พร้อมกันนี้ได้จัดยานพาหนะเตรียมความพร้อมให้การช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในด้านต่างๆ เช่น รับ-ส่งประชาชนสู่จุดหมาย อำนวยความสะดวกด้านการจราจรกรณีฝนตกหนักมีน้ำท่วมขัง ด้านการปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนการรับส่งผู้ป่วยโควิดไปยังโรงพยาบาลสนามที่ทาง กทม. จัดไว้ โดยดำเนินการผ่านระบบเครือข่ายกับศูนย์เอราวัณเพื่อให้บริการผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ณ สำนักเทศกิจ โดยประสานงานกับสำนักงานเขต รวมทั้งบริการส่งกลับบ้านหลังจากหายป่วยโควิด