×

ชัชชาติ ร่วมหารือ วราวุธ วางแผนแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมใน กทม. 6 เรื่องนำร่อง มีผลรูปธรรมภายในสิ้นปี

โดย THE STANDARD TEAM
22.07.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (22 กรกฎาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ร่วมประชุมหารือกับ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อประสานความร่วมมือในการบริหารจัดการปัญหาขยะ, จัดการปัญหาฝุ่น PM2.5, การปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว, การบริหารจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่แม้กรุงเทพฯ จะเป็นเขตเมือง แต่ก็มีป่าชายเลนอยู่ที่เขตบางขุนเทียน 

 

ชัชชาติกล่าวภายหลังการหารือว่า ตั้งแต่ช่วงหาเสียง หัวข้อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจมาก ทั้งเรื่อง PM2.5 ขยะ น้ำเสีย เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงใน กรุงเทพมหานคร (กทม.)

 

ซึ่งวันนี้ดีใจมากที่หลายเรื่องจากการหารือ ทางกระทรวงฯ ได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งโครงการนักสืบฝุ่น หาต้นตอฝุ่น และการทำแอปพลิเคชันติดตามการปลูกต้นไม้ ซึ่งหลายเรื่องหากร่วมมือกัน เชื่อว่าจะสามารถทำให้เห็นผลได้อย่างรวดเร็ว เพราะหลายเรื่อง กทม. ไม่สามารถทำเองหน่วยงานเดียวได้ 

    

ใน 6 เรื่องที่ได้มีการพูดคุยประกอบด้วย PM2.5, ขยะ, น้ำเสีย, Net Zero, คาร์บอนเครดิต, การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และป่าชายเลน ทั้ง 6 เรื่องเป็นการนำร่องที่ กทม. จะทำงานร่วมกันกับกระทรวงฯ โดยอาจไม่ได้ใหญ่มาก แต่จะต้องมีต้นแบบให้เกิดผลภายในสิ้นปีนี้ที่จะต้องเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม 

 

สำหรับการหารือการแก้ปัญหาเรื่อง PM2.5 และการจัดการคาร์บอนเครดิต หลังจากได้มีการหารือพบว่าแนวทางการดำเนินการคล้ายคลึงกัน เพราะ กทม. มีนโยบายในการไปหาต้นตอ PM2.5 และกระทรวงก็กำลังทำวิจัยเรื่องนี้อยู่ เมื่อมารวมกันก็ทำให้เป็นแผนระยะยาวได้ ซึ่งก็จะเกิดผลดี 

 

ส่วนการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับฝุ่นละออง วัดคุณภาพอากาศ กระทรวงมีแล้ว 12 จุด ของ กทม. ก็มีแนวคิดนำเอาประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ก็จะทำให้มีการตรวจจับฝุ่นมากขึ้น ส่วนเหตุผลที่ต้องมาหารือร่วมกันในเรื่องของการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เพราะกระทรวงฯ ดูภาพรวมฝุ่นทั้งประเทศ เมื่อ กทม. มาร่วมก็จะสามารถร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ บังคับใช้การควบคุมนอกเหนือพื้นที่ของ กทม. เพราะกระทรวงมีข้อมูลอยู่จำนวนมาก

 

ทั้งนี้ทางกระทรวงฯ มีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกอยู่แล้ว ซึ่งเป็นพื้นฐานของคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) หรือปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก กทม. ก็จะต้องเริ่มทำคาร์บอนฟุตพรินต์ก่อนเพื่อให้เห็นตัวเลขและดูมาตรการต่อไป

 

ส่วนเรื่องการปรับปรุงคุณภาพน้ำ กทม. อยากจะเริ่มต้นจากพื้นที่คลองเล็กๆ ก่อน โดยจะทำร่วมกับกระทรวงฯ เพื่อหาวิธีปรับปรุงน้ำ เพราะหากทำคลองใหญ่และยาวมากๆ อาจจะใช้เวลานาน ดังนั้นจึงต้องเริ่มจากคลองเล็กๆ เป็นต้นแบบที่มีน้ำเสียหนัก เพื่อดูว่าจะกำจัดต้นตอน้ำเสียอย่างไร ซึ่งอยู่ในกรอบที่ทำได้โดยใช้ระยะเวลาไม่นาน 

 

ชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน กทม. ขณะนี้ กระทรวงฯ ปลูกไปเยอะมาก ซึ่งของ กทม. มีเสนอมา 1.6 ล้านต้น ปลูกไปแล้วกว่า 6 หมื่นต้น ทั้งนี้ กทม. ต้องขอคำแนะนำจากกระทรวงว่าต้นไม้ไหนทำคาร์บอนฟุตพรินต์ ทำคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งกระทรวงมีข้อมูลมากกว่า ทั้งการทำกล้าไม้ การดูแลรักษาต้นไม้ ซึ่งต้องร่วมมือกัน และมองว่าถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะ กทม. มีความรู้จำกัดในด้านนี้

 

ด้านวราวุธกล่าวว่า กรุงเทพฯ เจอปัญหาเรื่องฝุ่นพิษ ซึ่งบางครั้งต้นตออาจไม่ได้เกิดในกรุงเทพฯ แต่ได้รับฝุ่นที่มาจากพื้นที่ปริมณฑล ซึ่งสามารถประสานทำความเข้าใจ ขอความร่วมมือกับประชาชนได้ 

 

ในส่วน 216 นโยบายของผู้ว่าฯ กทม. มี 60 กว่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงฯ และวันนี้สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนการทำงานของ กทม. เพราะเป็นเขตปกครองพิเศษ หลายอย่างที่เข้าไปทำได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ช่วยต่อยอดนโยบายของกระทรวงฯ ไปถึงประชาชนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนกรุงเทพฯ 

 

จากนั้น วราวุธและชัชชาติได้ทำท่าชนแขน สัญลักษณ์การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP โดยวราวุธบอกว่า เป็นท่าที่นายกรัฐมนตรีได้ไปชนแขนกับผู้นำนานาชาติในการประชุม COP26 เมื่อปีที่ผ่านมา

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X