×

ชัชชาติตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล ให้กำลังใจบุคลากรด่านหน้า แนะนำบทเรียนจากโควิดมาพัฒนาระบบสาธารณสุข กทม. ให้ดี พร้อมรับมืออนาคต

โดย THE STANDARD TEAM
14.07.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (14 กรกฎาคม) ที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ เขตบางแค ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในช่วงวันหยุดยาว พร้อมติดตามสถานการณ์โควิดและโรคมือเท้าปาก โดยมี นพ.ภูริทัต แสงทองพานิชกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ พร้อมทีมแพทย์และพยาบาล

 

ชัชชาติกล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นวันหยุดราชการ แต่จริงๆ มีอีกหลายหน่วยงานที่ไม่ได้หยุด เพราะว่าเป็นงานที่ไม่สามารถจะรอได้ เช่น เรื่องขยะ เรื่องกวาดถนน และเรื่องสาธารณสุข ซึ่งหยุดไม่ได้

 

ทั้งนี้โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีทั้งหมด 11 โรงพยาบาล จะเห็นว่าไม่ได้มีเยอะ แต่ กทม. จะเน้นระดับปฐมภูมิ คือศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งที่กระจายอยู่ตามชุมชนให้เต็มประสิทธิภาพ สำหรับโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ก็เป็นโรงพยาบาลแนวหน้า โรงพยาบาลหลักที่ช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด 

 

ด้าน นพ.ภูริทัตรายงานข้อมูลว่า สถิติปัจจุบันที่มีผู้ติดเชื้อใน กทม. ช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาเข้ารับการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ประมาณวันละ 2,000-3,000 คน ตรวจแบบ ATK วันละประมาณ 5,000-6,000 คน โดยผู้ติดเชื้อสามารถรับยาได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกอบอุ่น และโรงพยาบาล แต่ในวันหยุดหรือนอกเวลาราชการ โรงพยาบาลจะมีบุคลากรรองรับมากกว่า 

 

ส่วนผู้ที่ตรวจ ATK แล้วพบว่าขึ้น 2 ขีด สามารถขอรับยาที่ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกอบอุ่น หรือโรงพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิ์ได้เลย ส่วนสาเหตุที่ต้องดูตามสิทธิ์ เพราะว่าแต่ละที่จะได้ดูแลผู้ป่วยได้ทั่วถึง สำหรับโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สิทธิ์บัตรทองสามารถรับบริการได้ กลุ่มที่ทำ ATK มาแล้วเป็นบวกให้นำผลมายื่น เจ้าหน้าที่จะอธิบายข้อมูลเพื่อเข้าขั้นตอนการรับยา ส่วนกลุ่มที่ไม่มั่นใจหรือตรวจด้วยตัวเองไม่เป็น สามารถมาขอตรวจ ATK ได้เช่นกัน 

 

สำหรับกลุ่มเสี่ยง 608 ถ้ามีผลบวกมา จะมีพยาบาลคัดกรอง ถ้ามีอาการมาก แพทย์ประเมินแล้วจะให้นอนโรงพยาบาล โดยแบ่งเตียงเขียว เตียงเหลือง เตียงแดง ตามอาการ ปัจจุบันมีเตียงเหลือง-แดง 1,200 เตียง เตียงเขียว ประมาณ 300 เตียง และขยายเป็น 500 เตียง ตอนนี้ครองเตียงไม่ถึง 50% 

 

นพ.ภูริทัตกล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้จากสถิติที่คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขและองค์การเภสัชกรรมได้ประสานกับ กทม. เตรียมจัดยาไว้พร้อม โดยของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์จะสต๊อกยาล่วงหน้าไว้ประมาณ 10 วัน บริการผู้ป่วยนอกได้วันละ 300-400 คน สำหรับ Hospitel ตอนนี้ยังปิด เพราะว่ากลุ่มสีเขียวสามารถดูแลตัวเองได้ค่อนข้างเยอะ แต่ถ้าใครไม่สะดวกก็มีโรงพยาบาลสนามให้ 

 

จากนั้น ชัชชาติได้ตรวจเยี่ยมต่อที่ศูนย์วิทยุและหน่วยกู้ชีพ และคลินิกประกันสังคม พร้อมกล่าวถึงรูปแบบ Sandbox ว่า ในพื้นที่พิเศษเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ คือเขตบางแค เขตหนองแขม เขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน และเขตภาษีเจริญ หน้าที่หลักต้องปฏิบัติงานให้ครอบคลุมอย่างเป็นองค์รวม ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การดูแลรักษา ฟื้นฟู และดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ 

 

ประชาชนในทุกชุมชนจะได้รับการรักษาที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน ส่งผลให้สุขภาพชุมชนดีขึ้นตามวัตถุประสงค์ของระบบนี้ คือเน้นความเข้มแข็งของระบบปฐมภูมิ ทำให้ระบบเส้นเลือดฝอยกระจายไปทั่วและประชาชนสามารถเข้าถึงการสาธารณสุขได้ง่าย

 

ซึ่งระบบปฐมภูมิจะมีความเข้มแข็ง ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกอบอุ่นมี Telemedicine คือการให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชน โดยบุคลากรทางการแพทย์ผ่านทางเทคโนโลยีและการสื่อสารแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรค โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ 

 

ชัชชาติกล่าวต่อว่า สำหรับหน้าที่ กทม. คือเตรียมทรัพยากรให้คุณหมอ ฉะนั้นขาดเหลืออะไรก็ต้องบอก ทางเราก็อุ่นใจที่มีทีมงานเข้าใจระบบ และทำงานร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขอื่นได้ เป็นแม่งานในการจ่ายยา ต้องคุย ต้องแบ่งงานกัน อย่างวันหยุด หมอก็ไม่ได้หยุดใน 5 วัน 

 

สิ่งสำคัญคือต้องนำเราบทเรียนมาพัฒนา อย่าให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนก่อนโควิด ทุกอย่างเป็นบทเรียนราคาแพง ต้องปรับปรุงระบบของ กทม. ให้ดี โรคอุบัติใหม่มันจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นเราต้องรับมือ และนำมาเป็นบทเรียน

 

ในส่วนของเรื่องวัคซีนเข็มกระตุ้นของ กทม. ประชาชนสามารถไปฉีดได้ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ ซึ่งมีทั้งวัคซีน Pfizer และ Moderna โดยสามารถจองทางแอปพลิเคชัน QueQ และวอล์กอินได้ด้วย หากมีระยะห่างเข็มล่าสุดเกิน 4 เดือนจากเข็มสุดท้ายควรฉีดเข็มกระตุ้น 

 

ซึ่งชัชชาติกล่าวว่า การที่เราฉีดเพื่อให้เรามีภูมิคุ้มกัน เมื่อเราติดโควิดเราจะได้มีอาการไม่มาก เราจะได้เป็นกลุ่มเขียว ถ้ากลุ่มสีเหลืองและกลุ่มสีแดงมีไม่มากระบบสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจก็จะไปด้วยกันได้หมด สำหรับคนที่ติดโควิดแล้วจะฉีดเข็มกระตุ้นต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งภูมิคุ้มกันจะเริ่มตก สามารถฉีดเข็มกระตุ้นได้ แต่ผู้เข้ารับการฉีดจะต้องมีการเซ็นยินยอม เนื่องจากแต่ละที่จะมีคำแนะนำไม่เหมือนกัน 

 

นอกจากนั้น ชัชชาติยังกล่าวถึงกรณีโรคมือเท้าปากว่า นอกจากโควิดแล้ว ตอนนี้เริ่มเห็นจำนวนการติดเชื้อโรคมือเท้าปากในเด็กเพิ่มขึ้น ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะเด็กเล็กจะติดเยอะ ต้องระวังแต่อย่าตระหนก ยังไม่ได้แพร่ระบาดรุนแรงมาก

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X