วานนี้ (5 กรกฎาคม) ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ร่วมประชุมกับ ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ชัชชาติกล่าวภายหลังประชุมว่า วันนี้ กทม. มาขอบคุณทาง สวทช. ที่ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ซึ่งทีมงานได้ใช้มา 2 ปีกว่าแล้ว และได้ใช้อย่างเป็นทางการกับ กทม. ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเป็นการปฏิวัติเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการทางราชการ ทำให้การบริหารจัดการก็ดีขึ้น ประชาชนมีความสุขมากขึ้น
นอกจากนี้ยังได้หารือถึงความร่วมมือต่อไปในอนาคต เพราะเชื่อว่า สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีนักวิจัยทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ของสังคม ซึ่งหลายๆ เรื่องได้ทำการศึกษามานานแล้ว และดูว่าจะต่อยอดอย่างไร เช่น Traffy Fondue อาจจะต่อยอดไปถึง Traffy Garbage เพื่อดูเรื่องขยะ และจะขยายให้ครอบคลุมมากขึ้น
ชัชชาติกล่าวว่า การหารือในวันนี้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมหลายเรื่องจากทาง สวทช. เช่น การเก็บข้อมูลสุขภาวะเด็กในโรงเรียนโดยแอปพลิเคชัน หรือรถเข็นประเภทปิ้ง-ย่างที่สามารถเก็บควันได้ ซึ่ง สวทช. มีต้นแบบอยู่แล้ว หรือการส่งสัญญาณชีพของผู้ป่วยที่อยู่ในรถฉุกเฉินไปให้โรงพยาบาลก่อนที่รถฉุกเฉินจะถึงโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วยหรือให้คำแนะนำแก่รถฉุกเฉินได้
สำหรับสิ่งที่ กทม. อยากได้ เช่น ป้ายรถเมล์ ทาง สวทช. มีแอปพลิเคชันที่สามารถบอกตำแหน่งรถสาธารณะได้ว่าอยู่ที่ไหน ทำให้ประชาชนสามารถบริหารจัดการเวลาได้ดีขึ้น เช่น จะต้องมาที่ป้ายรถเมล์กี่นาที ไม่ต้องรอนาน เพียงแค่ดูแอปพลิเคชันก็รู้ว่าอีกกี่นาทีรถจะมาถึง ซึ่งหากรวมกับป้ายรถเมล์ที่ต้องการ ที่เป็นป้ายรถเมล์แบบง่ายๆ ไม่ต้องหรูหรา แต่มีระบบบอกข้อมูล มี WiFi มีแสงสว่างที่ดี ก็จะเป็นป้ายรถเมล์ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ในกรณีรถฉุกเฉินอาจจะขยายไปเป็นรถสำหรับตรวจชาวบ้านในชุมชน แทนที่ชาวบ้านจะต้องเดินทางไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุขหรือที่โรงพยาบาล ก็เอารถนี้ออกไปตรวจ มีพยาบาลวัดความดัน วัดคลื่นหัวใจ และส่งสัญญาณชีพให้หมอที่อยู่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่ลดการเดินทางของทั้งสองฝ่ายได้ รวมถึงการใช้โดรนในการตรวจการจราจร ตรวจจุดไม่ปลอดภัย จุดที่ไฟดับบนท้องถนน หรือแม้กระทั่งใช้ในการดับเพลิงหรือดูต้นเพลิง
ชัชชาติกล่าวอีกว่า ต้องขอขอบคุณ สวทช. ซึ่งต่อไปอาจจะมีการ MOU ร่วมกัน เพื่อให้การให้บริการและการทำงานขยายวงกว้างและครอบคลุมเนื้อหาได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้หัวใจของเมืองคือการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ และให้เทคโนโลยีตอบโจทย์คน โดยเน้นคนเป็นหลัก ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่หรูหรา แต่เป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์คนอย่างแท้จริง เชื่อว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสมสามารถเปลี่ยนเมืองได้ เพราะเป็นการลงทุนที่ไม่แพง แต่สามารถสร้างผลที่ขนาดใหญ่ได้
ด้านณรงค์กล่าวว่า สำหรับ สวทช. จะมีส่วนในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ และถือเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนได้ใช้ Traffy Fondue และคงมีอีกหลายเรื่องที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถเข้าไปขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตได้
ซึ่ง สวทช. พยายามจะเชื่อมต่อจุดต่างๆ ของการเดินทางในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์, เรือ, BTS, MRT และตารางการบินของเครื่องบินต่างๆ ถ้าสามารถเชื่อมต่อไปก็ตอบประชาชนได้ว่าท่านจะเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกหนึ่งควรจะใช้เวลาเท่าไร และอนาคตการซื้อตั๋ว การใช้ตั๋วต่างๆ ก็จะดีขึ้น การบริหารจัดการชีวิตก็จะดีขึ้น เพราะสามารถเตรียมเวลาล่วงหน้าได้
รวมถึงป้ายรถเมล์ที่ผู้ว่าฯ กทม. อยากจะเห็น เราจะสามารถบอกได้ว่ารถเมล์คันต่อไปจะมาเมื่อไร รถเมล์คันสุดท้ายไปหรือยัง ซึ่งจะดีทั้งคุณภาพชีวิตของคน และดีต่อชีวิตและทรัพย์สินด้วย โดยในเวลากลางคืน เราจะรู้ว่าควรจะออกมาขึ้นรถเมื่อไร ซึ่งยังมีอีกหลายโครงการที่ สวทช. จะหารือร่วมกับ กทม. เพื่อร่วมงานกันต่อไป