วันนี้ (7 สิงหาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวถึงการบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ของสถานบริการในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า ปัญหาเรื่องผับ บาร์ ทาง กทม. มีคำสั่งไปตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ให้ฝ่ายสำนักการโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยสถานบริการในพื้นที่ ทั้งส่วนอาคารและทางออกประตูหนีไฟ
จากการตรวจสอบพบว่ามี 83 แห่งที่มีปัญหา บางแห่งที่พบว่ามีปัญหามากได้สั่งปิดไป ส่วนแห่งอื่นๆ ได้ให้ดำเนินการแก้ไข เช่น เรื่องทางหนีไฟไม่เพียงพอ แต่ กทม. ไม่ได้ปิดทั้ง 83 แห่ง ซึ่งหลังจากนี้จะไปตรวจสอบว่าทั้ง 83 แห่งดำเนินการแก้ไขไปแล้วหรือยัง
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ใน 83 แห่งที่พิจารณาเป็นพิเศษแบ่งเป็น พระโขนง 1 แห่ง คลองเตย 1 แห่ง จตุจักร 49 แห่ง ดอนเมือง 1 แห่ง ดินแดง 4 แห่ง ทวีวัฒนา 1 แห่ง ธนบุรี 5 แห่ง บางกะปิ 1 แห่ง บางขุนเทียน 1 แห่ง และบางแค 2 แห่ง ซึ่งวันนี้จะไปตรวจสอบอีกครั้งว่าทั้ง 83 แห่งดำเนินการแก้ไขหรือยัง ถ้ายังไม่แก้ไขก็ให้ปิดไปก่อน
ชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า โชคดีที่ กทม. ได้ดำเนินการมาล่วงหน้าก่อนแล้ว ประกอบกับเมื่อมีเหตุการณ์ที่น่าเสียใจที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ก็ทำให้ กทม. ที่มีข้อมูลอยู่ในมือแล้ว จะต้องเร่งดำเนิการตรวจตราอย่างเข้มงวด เพราะจะเน้นเรื่องการดูแลความปลอดภัยของประชาชน
ส่วนระยะเวลาของการให้ 83 แห่งดำเนินการแก้ไขนั้น ชัชชาติกล่าวว่า ได้ให้ระยะเวลาในการแก้ไขมาพอสมควรแล้วตั้งแต่ 20 มิถุนายน ซึ่งจะต้องไปตรวจสอบให้เข้มข้น หากยังไม่แก้ไขแล้วตรวจพบจำเป็นจะต้องสั่งปิด แต่หนึ่งในที่สั่งปิดไปแล้วคือในพื้นที่เขตดอนเมือง 1 แห่งที่มีปัญหา
ชัชชาติยังกล่าวด้วยว่า กรณีที่เขตจตุจักร มีจำนวนสถานบันเทิงมากที่สุด ตนมองว่าอาจจะเป็นสถานบริการจำนวนมากที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น เปิดตามห้องแถว โดยคาดว่าพรุ่งนี้จะชัดเจนว่าในเขตจตุจักรมีการปรับปรุงหรือปิดให้บริการไปแล้วจำนวนเท่าไร
“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จริงจังและจำเป็น ผู้ประกอบการเองจะต้องถูกดำเนินคดีทางอาญาหากเกิดเหตุการ์ณต่างๆ ขึ้นอย่างที่อำเภอสัตหีบ ซึ่งไม่คุ้ม จึงอยากให้ทำให้ถูกกฎหมาย ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็อย่ามาเปิดสถานบริการ เพราะมันเสี่ยงกับชีวิตของคน” ชัชชาติกล่าว
ด้าน พล.ต.อ. อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสถานบริการมาตลอด 2 วัน ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลโซนนิ่งในการเปิดสถานบริการ ที่ตั้งของข้อมูล และสถานที่เปิดจริงว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ สถานที่จากการลงตรวจ โดยเฉพาะสถานบริการขนาดใหญ่ถือว่ามีความปลอดภัย รัดกุม แต่พบปัญหาเรื่องของใบอนุญาต ซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจนครบาลในการให้ใบอนุญาตในฐานะนายทะเบียน ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ ส่วน กทม. จะดูแลเรื่องกายภาพ ความปลอดภัย อัคคีภัย ไฟส่องสว่าง ไฟฉุกเฉิน ป้ายบอกทาง ซึ่งจะออกใบอนุญาต