วันนี้ (16 กันยายน) ที่สวน 80 พรรษามหาราชินี 100 ปี กระทรวงคมนาคม เขตคลองเตย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร, เจ้าหน้าที่ และผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เช่น สรยุทธ สุทัศนะจินดา และ ดำเกิง ปานขำ รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ร่วมปลูกต้นไม้ 1,000 ต้น ในกิจกรรม ‘ช่อง 3 ปลูกต้นไม้กับผู้ว่าฯ กทม.’
ชัชชาติกล่าวว่า ปัญหาของเราทุกวันนี้คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก การปลูกต้นไม้จึงเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ปัญหาระยะยาว การปลูกต้นไม้ในวันนี้ที่สวนแห่งนี้ก็เพื่อคนในชุมชนโดยรอบ และขอให้เราไม่ใช่แค่ปลูกต้นไม้ แต่ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง อยากให้ทุกภาคส่วนดูแลต้นไม้ของตนเองและโตไปกับต้นไม้ ให้ต้นไม้โตไปกับเมือง
เมื่อวานนี้ตนได้คุยกับ ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ถึงสาเหตุว่า ทำไมฝนถึงตกทุกวันตอนเย็น พบว่า เมืองร้อนและดูดซับความร้อนไว้ และจะค่อยๆ ปล่อยความร้อนออกมา อากาศก็จะลอยตัวสูงขึ้นรวมกับเมฆที่มีอยู่แล้ว จึงเป็นการพาไอน้ำไปเจอกับความเย็น แล้วกลายเป็นฝนตกลงมา ดังนั้นการปลูกต้นไม้ไม่ว่าจะเป็นในสวน ตามบ้านเรือน หรือบนอาคาร จะเป็นการลดอุณหภูมิของเมือง ทำให้เกิดร่มเงามากขึ้น
สำหรับกิจกรรมดังกล่าวเป็นการรับคำเชิญ ‘ผู้ว่าฯ ท้าสื่อ ปลูกต้นไม้ล้านต้น’ โดยตั้งเป้าปลูกต้นไม้ให้ได้ 1 ล้านต้นภายใน 4 ปี ตามนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียว จากนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง
กิจกรรมนี้นอกจากจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพมหานครแล้ว ยังช่วยลดฝุ่นและมลพิษ สร้างร่มเงา ส่งเสริมความหลากหลายของระบบนิเวศ ทำให้ชุมชนมีรายได้ และให้คนและต้นไม้เติบโตไปพร้อมๆ กัน ปัจจุบันมีประชาชนและหน่วยงานจองปลูกต้นไม้กับ กทม. แล้ว 1,641,310 ต้น และปลูกต้นไม้ไปแล้ว 139,089 ต้น
วันนี้ต้นไม้ 1,000 ต้นที่นำมาลงแปลงปลูกครั้งนี้มี 16 ชนิด ประกอบด้วย ไม้ยืนต้น 366 ต้น และไม้พุ่มสูง 634 ต้น ได้แก่ ต้นประดู่, ต้นโมก, ต้นแก้ว, ต้นปีบ, ต้นมะฮอกกานี, ต้นเหลืองปรีดียาธร, ต้นพยอม, ต้นทองอุไร, ต้นแคนา, ต้นหูกระจง, ต้นเสลา, ต้นอินทนิล, ต้นสะเดา, ต้นจิก, ต้นคูณ และต้นยางนา
ชัชชาติยังได้กล่าวถึงสถานการณ์น้ำขณะนี้ว่า กทม. มีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ซึ่งแต่ก่อนพื้นที่ฝั่งนี้เรียกว่าเป็น Flood Way คือเป็นพื้นที่ระบายน้ำหรือทางน้ำท่วมของกรุงเทพฯ แต่ในปัจจุบันมีสิ่งก่อสร้างจากโครงสร้างต่างๆ จากความเจริญของเมืองกีดขวางทางระบายน้ำ
“ในพื้นที่เขตลาดกระบังที่ไม่สามารถระบายน้ำออกได้ เนื่องจากน้ำจะระบายออกมาทางในเมืองคือ มารวมกันอยู่ที่คลองพระโขนงข้างสวนแห่งนี้ ซึ่งสามารถระบายได้ช้าและทำให้น้ำท่วมขัง แนวคิดเพื่อแก้ไขปัญหาคือ เราจะทำทางด่วนน้ำเพื่อให้น้ำเร่งระบายออกไปสู่ทะเลทางตรงได้รวดเร็วขึ้น” ชัชชาติกล่าว