×

ชัชชาติลงพื้นที่ ติดตามการจัดการมูลฝอยชุมชนอ่อนนุช ถกแก้ปัญหากลิ่นที่ส่งผลต่อชุมชนใกล้เคียง

โดย THE STANDARD TEAM
17.06.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (17 มิถุนายน) เวลา 13.00 น. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ลงพื้นที่ติดตามโครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงาน ขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตันต่อวัน ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ พร้อมทั้งติดตามการปรับปรุงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยภายในโรงงาน และลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหากลิ่นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยโดยรอบและชุมชนใกล้เคียง โดยมี จักกพันธุ์ ผิวงาม และวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม., ธนวัฒน์ เชิดชูกิจกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตประเวศ, เฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร, วิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตประเวศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูล 

 

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ลงนามสัญญาจ้างให้บริษัทลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ (MBT) ที่ขนาด 800 ตันต่อวัน ในพื้นที่ 20 ไร่ ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2560 เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยได้ดำเนินการก่อสร้างพร้อมติดตั้งเครื่องจักร และเริ่มเดินระบบกำจัดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 2 ปี 3 เดือน บริหารจัดการโดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (วิสาหกิจ กทม.) เพื่อเป็นโครงการต้นแบบและนำร่องการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนแบบบูรณาการ ด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ (MBT) ลดพื้นที่ฝังกลบ และจะเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดมูลฝอยชุมชน เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยมีผลพลอยได้คือขยะเชื้อเพลิงและขยะรีไซเคิล โดยจะเหลือกากของเสียที่ต้องนำไปกำจัดน้อยที่สุด กระบวนการกำจัดมูลฝอยชุมชนด้วยเทคโนโลยี MBT จะนำขยะชุมชน 800 ตันต่อวันเข้าสู่กระบวนการคัดแยกเบื้องต้น กระบวนการเตรียมหมักและบีบอัด กระบวนการผลิตก๊าซ และกระบวนการผลิตไฟฟ้า 

 

สำหรับพื้นที่ภายในโรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงาน ขนาด 800 ตัน ประกอบด้วย 1. อาคารรับขยะ 2. อาคารคัดแยกเบื้องต้น 3. ระบบบำบัดกลิ่น 4. ถังเตรียมหมัก 5. เครื่องบีบอัด 6. อาคารระบบบำบัดน้ำเสีย 7. ระบบผลิตก๊าช 8. ระบบปรับสภาพก๊าช 9. พื้นที่ถังเก็บก๊าซ 10. อาคารระบบผลิตไฟฟ้า 11. อาคารสำนักงาน และ 12. อาคารชั่งน้ำหนัก 

 

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานที่ผ่านมา บริษัทได้พบปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการขนถ่ายมูลฝอยชุมชน บ่อรับขยะ องค์ประกอบมูลฝอยชุมชน และการจัดการขยะเชื้อเพลิง ทำให้ต้องปรับปรุงเครื่องจักรและอาคารเพื่อลดกลิ่นที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงและบริเวณโดยรอบโรงงาน 

 

นอกจากนี้ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 สมาชิกชุมชนหมู่บ้านอิมพีเรียลพาร์คได้มาเยี่ยมชมโรงงานและเสนอข้อเรียกร้องกับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดยบริษัทมีการกำหนดแผนและมาตรการจัดการ ดังนี้ 

 

ตรวจสอบหาแหล่งที่มาของกลิ่น กำหนดแผนงานและมาตรการเข้มข้น ตั้งทีมประสานงานร่วมกับตัวแทนหมู่บ้านฯ แผนงานระยะสั้น 30 วัน ได้แก่ 

 

  1. ติดตั้งระบบสเปรย์ดับกลิ่นอัตโนมัติบริเวณอาคารรับขยะ 

 

  1. ติดตั้งผนังและประตูบริเวณอาคารรับขยะให้เป็นระบบปิด 

 

  1. ติดตั้งระบบสเปรย์ดับกลิ่นอัตโนมัติบริเวณอาคารเก็บขยะเชื้อเพลิง 

 

  1. ติดตั้งผนังและประตูอาคารเก็บขยะเชื้อเพลิงให้เป็นระบบปิด 

 

  1. ดำเนินการจัดการขยะและกากตะกอนโดยไม่ให้มีการตกค้าง แล้วเสร็จ 100%

 

แผนงานระยะยาว 120-180 วัน ได้แก่ 

 

  1. ปรับปรุงอาคารรับขยะและอาคารเก็บขยะเชื้อเพลิงเพิ่มเติม 

 

  1. ปรับปรุงระบบบำบัดกลิ่นภายในอาคาร แล้วเสร็จ 70% พร้อมทั้งการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของกรมควบคุมมลพิษ ระบบบำบัดกลิ่น โดยปรับปรุงระบบบำบัดกลิ่นเรียบร้อยแล้ว คงเหลือการทดสอบประสิทธิภาพ จะแล้วเสร็จปลายเดือนกรกฎาคม 2565 

 

ส่วนระบบการจัดการได้ปรับปรุงอาคาร ผนัง และประตูปิดคลุมให้มิดชิดเรียบร้อยแล้ว และเพิ่มเจ้าหน้าที่ควบคุมการเปิด-ปิดประตูทุกจุดที่มีการเคลื่อนย้าย, ระบบลำรางระบายน้ำ ปัจจุบันได้ทำความสะอาดรางระบายน้ำ พร้อมทำแผนและมาตรการตรวจสอบให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด, ด้านระบบบำบัดน้ำเสีย ปัจจุบันได้ทำแผนการตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสีย การปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกอบกิจการโรงงาน ส่วนการดำเนินงานปรับปรุงโครงการ ได้ปรับปรุงอาคารรับขยะให้เป็นอาคารปิดมิดชิด แล้วเสร็จ 100%, ปรับปรุงระบบบำบัดกลิ่น ยังคงเหลือทดสอบประสิทธิภาพระบบ แล้วเสร็จ 70% และปรับปรุงอาคารเก็บเชื้อเพลิงให้เป็นอาคารปิดมิดชิด แล้วเสร็จ 100% 

 

“ขอให้ทุกคนใจเย็นๆ เราต้องมาคุยกันอีกที เจ้าหน้าที่ทุกคนช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ในวันนี้เวลากระชั้นชิด ต้องกลับไปดูรายละเอียดเชิงลึกในการแก้ไขปัญหา แล้วจะกลับมาใหม่ เรื่องนี้จะหลอกกันไม่ได้ เพราะกลิ่นที่ออกมาทุกคนรับรู้เหมือนกันหมด ซึ่งหลายหน่วยงานได้มาช่วยกันตรวจสอบหาแนวทางในการแก้ไขและข้อเสนอแนะต่างๆ ประเด็นสำคัญคือต้องแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ลดปัญหากลิ่นที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ” ชัชชาติกล่าวภายหลังการลงพื้นที่

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising