วันนี้ (20 สิงหาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นวิทยากรในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาผู้ปกครองและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 เรื่อง ‘กระตุ้นความคิด ต่อยอดความฝัน’ ผ่าน 5 หัวข้อ โดยมี อนุรักษ์ เลิศวัฒนาไพบูลย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตวังทองหลาง, อัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง, สุพัฒน์ อัตจริต รองผู้อำนวยการโรงเรียน กลุ่มบริหารงานบุคคล คณะครู นักเรียน และผู้ปกครอง ร่วมรับฟังการบรรยาย ณ หอประชุมบดินทรพิพัฒน์ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เขตวังทองหลาง
1. สิ่งสำคัญที่ทุกคนมีเท่ากันคือเวลา
ชัชชาติกล่าวว่า หัวใจของการประสบความสำเร็จในชีวิต ส่วนหนึ่งคือการบริหารเวลาที่เรามีเท่ากันทุกคนอย่างไร ซึ่งความแตกต่างในชีวิตมาจากการบริหารเวลา โดยยกตัวอย่างเรื่องโถแห่งชีวิต (Jar of Life) ชีวิตของคนเราทุกคนเหมือนโถแก้วว่างเปล่า 1 ใบ หน้าที่ของเราคือจะต้องนำสิ่งของ 3 สิ่งใส่ลงไป ได้แก่ หินก้อนใหญ่ แทนสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต กรวด แทนสิ่งที่สำคัญรองลงมา และทราย แทนสิ่งที่ไม่สำคัญในชีวิต ถ้าเราใส่ทรายลงไปในโถแก้วก่อน แล้วค่อยใส่กรวดและหิน เราอาจไม่มีที่ว่างเหลือสำหรับหิน แต่ถ้าเราใส่หินก่อน ตามด้วยกรวดและทราย กรวดจะแทรกตามช่องว่างของหินและทรายแทรกลงในช่องว่างที่เหลือ ดังนั้น เราต้องกำหนดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต และจัดลำดับความสำคัญก่อนหรือหลังให้ดี ต้องจัดความสมดุลให้กับชีวิต และรู้จักแบ่งเวลาให้ดี
“ชีวิตเราก็คือ เวลา ถ้าชีวิตมีค่ามหาศาล เวลาแต่ละวินาทีก็มีค่ามหาศาลเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าให้เวลาผ่านไปโดยไม่มีประโยชน์” ชัชชาติกล่าว
2. ระเบียบวินัยทำให้เรามีอิสระในการเลือกทางเดินในชีวิต
ต่อมาเป็นเรื่องการมีวินัยในชีวิต โดยสร้างวินัยในตนเอง จัดสรรเวลาในชีวิตให้ดี ดังคำกล่าวของ เอเลียด คิปโชเก นักวิ่งชาวเคนยา ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า “คนที่มีระเบียบวินัยในตัวเองเท่านั้นถึงจะมีอิสระในชีวิต” ถ้าไม่มีระเบียบวินัยเราจะต้องเป็นทาสของอารมณ์และความรู้สึก
3. เอาใจเขามาใส่ใจเรา
จากนั้นชัชชาติได้ให้ข้อคิดว่า ปัญหาของโลกคือเราเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ได้คิดถึงคนอื่น ไม่ได้คิดถึงสาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่ค่านิยมจะเน้นที่ตัวเอง (Self) การจะประสบความสำเร็จในอนาคตได้ต้องคิดถึงคนอื่นด้วย คือมีความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) เอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่าเอาตนเองเป็นที่ตั้ง ความสุขจะเกิดขึ้นได้เมื่อเรามีความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เรามีอนาคตที่ดีขึ้นได้ด้วย
4. เคารพความคิดเห็นของคนอื่น
ต่อมาชัชชาติได้บรรยายถึงปัญหาที่เจอในสังคม คือการรีบตัดสินคนจากสิ่งที่เราเห็น เพราะเราไม่รู้ว่าชีวิตเขาผ่านอะไรมาบ้าง เรื่องราวในชีวิตคนทุกคนล้วนมีเบื้องหลัง อย่าวิจารณ์ด่าคนอื่น ถ้าอยากชนะใจเพื่อนต้องหาจุดร่วม เปรียบเหมือนการเต้นรำเป็นจังหวะเดินไปด้วยกัน ไม่ใช่การฟันดาบที่ค่อยๆ ขยับ เราควรสังเกตว่าเพื่อนต้องการอะไร หาข้อดีของเพื่อน ชื่นชมเพื่อน รอยยิ้มคือสิ่งที่สร้างไมตรีจิตได้ ฟังเพื่อนให้เยอะๆ แล้วเราจะมีเพื่อนมากขึ้น และมีศัตรูน้อยลง
5. Growth Mindset เราเป็นเจ้านายของชะตาชีวิต
เรื่องสุดท้ายคือ ‘ความฝัน’ ชัชชาติบอกว่า การจะเดินตามความฝันได้ มันเป็นเรื่องที่ใจและความคิดต้องเดินคู่กัน เพราะจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว ต้องสร้าง Mindset ให้เชื่อว่าความฉลาดไม่สำคัญเท่ากับความขยันและความพยายาม ตนเคยอ่านหนังสือของ แครอล เอส ดเว็ค ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า Mindset (กรอบความคิด) ประกอบด้วย Fixed Mindset และ Growth Mindset โดย Fixed Mindset คือความเชื่อว่าคนเราเก่งมาแต่กำเนิด คนกลุ่มนี้มักเชื่อว่าความฉลาดเป็นเรื่องพรสวรรค์ ปรับปรุงไม่ได้ ซึ่งเป็นกรอบที่ยึดติด ขณะที่ Growth Mindset เชื่อว่าทุกอย่างสามารถปรับปรุงและพัฒนาได้
“เราควรที่จะมี Growth Mindset เชื่อในความพยายาม ซึ่งจะมีความสำคัญในระยะยาวและมีผลกับความสำเร็จในชีวิต อย่าคิดว่าโชคชะตากำหนดชะตาชีวิต เพราะเราจะเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของเราเอง” ชัชชาติกล่าวในช่วงท้ายของการบรรยาย
สำหรับการประชุมสัมมนาผู้ปกครองและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนต่อ อันนำไปสู่การวางแผนการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ ตลอดจนการพัฒนาด้านความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ความฉลาดทางคุณธรรมและจริยธรรม (MQ) และความฉลาดทางสังคม (SQ) ในยุคดิจิทัล