×

ชัชชาติรับน้ำท่วม กทม. เป็นอุทาหรณ์แผนจัดการ ขณะนี้ลาดกระบังท่วมหนักกว่าปี 54 แจงอุโมงค์ยักษ์ไม่ตอบโจทย์ปัญหาทั้งหมด

โดย THE STANDARD TEAM
12.09.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (12 กันยายน) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในกรุงเทพมหานครว่า เรื่องสถานการณ์น้ำท่วม ปัญหามาจากปริมาณน้ำฝนที่มามาก ทำให้ประสิทธิภาพความจุของคลองเต็ม ทั้งคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว และคลองประเวศบุรีรมย์

 

ที่คลองประเวศบุรีรมย์มีผลกระทบทำให้ฝั่งลาดกระบังมีปัญหา เพราะจะต้องระบายออกคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ซึ่งคลองนี้จะมีกรมชลประทานดูแล มีหลายคนแนะนำว่าให้ระบายน้ำออกทางนี้ แต่การจะผันน้ำออกจำเป็นต้องดูพื้นที่รอบนอกด้วย 

 

ทั้งนี้ กรมชลประทานอาจจะคิดว่าจังหวัดฉะเชิงเทรามีน้ำสูงอยู่จึงผันออกไม่ได้ ดังนั้น กทม. ก็ต้องผันน้ำมาทางคลองพระโขนงแทน ระยะทางกว่า 40 กิโลเมตร จึงทำให้น้ำไหลช้า และหากเปิดประตูระบายน้ำเร็วเกินไป มวลน้ำจะเข้ามากดดันบริเวณเขตสวนหลวง สะพานสูง และพระโขนง ได้รับผลกระทบเช่นกัน

 

ชัชชาติยอมรับว่า จากข้อมูล คลองประเวศบุรีรมย์มีระดับน้ำสูงมากกว่าปี 2554 โดยปี 2554 เขตลาดกระบังไม่ได้ท่วมหนักมากเพราะเป็นพื้นที่ปลายน้ำ แต่ปีนี้ลาดกระบังน้ำท่วมหนักและการระบายทำได้ยาก เพราะน้ำท่วมพื้นที่โดยรอบ ดังนั้น กทม. ยังมีปัญหาหลักคือคลองประเวศบุรีรมย์ที่น้ำระบายออกช้า จึงต้องค่อยๆ ทยอยดันน้ำ

 

จากนี้เมื่อฝนทิ้งช่วงก็สามารถทำให้ระบายน้ำได้ดี เมื่อคืนที่ผ่านมาสามารถระบายน้ำคลองลาดพร้าวได้ 50 เซนติเมตร ทำให้พื้นที่วงเวียนบางเขนแห้ง ส่วนรามอินทราซอยเลขคี่ยังมีน้ำอยู่บ้าง 

     

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า กทม. เปิดประตูระบายน้ำลาดกระบัง และกระทุ่มเสือปลา เร่งระบายน้ำจากเขตลาดกระบังแล้ว เดิมหวังจะให้อุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนมาช่วยแบ่งเบา แต่เมื่อยังไม่เสร็จอาจต้องคิดหาทางลัดน้ำ ซึ่งเป็นโครงการระยะกลางและระยะยาวที่ไม่สามารถทำได้ภายในเดือนเดียว เพราะต้องคุยกับกรมชลประทานด้วย 

 

ส่วนกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า กทม. ตั้งรับมากกว่าเชิงรุก มองว่าสามารถทำเชิงรุกได้ แต่ปัญหาแบบนี้เกิดจากฝนที่ตกหนัก และกำลังในการเอาน้ำออกไม่พอ ทำให้แผนแก้ระยะสั้นไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องทำแผนระยะยาวทำให้คลองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งกำลังเดิมของคลอง อุโมงค์อย่างเดียว ก็ไม่ตอบโจทย์ เพราะฝนตกหลายพื้นที่ 

 

“สิ่งสำคัญคือระบบลำเลียงน้ำไปถึงอุโมงค์ เดิมงบประมาณทุ่มไปที่อุโมงค์หลายหมื่นล้าน อาจต้องปรับมาพัฒนาคลองให้เข้มแข็ง ยกตัวอย่าง เครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำพระโขนง 45 เครื่องเป็นเครื่องเก่า ระยะยาวคงต้องปรับให้ทันสมัยขึ้น” ชัชชาติกล่าว

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ถือเป็นอุทาหรณ์ที่ต้องคิดระบบภาพรวม ซึ่งแนวคิดอุโมงค์อาจจะต้องกลับมาคิดใหม่ ในการทำประตูระบายน้ำ ทำเขื่อน และต้องดูแลชุมชนริมคลองให้ขึ้นมาจากคลอง เพราะอนาคตต้องเพิ่มประสิทธิภาพคลอง

 

ทั้งนี้ กรณีที่ชาวจังหวัดปทุมธานีไม่พอใจที่ กทม. ผันน้ำไปคลองรังสิตประยูรศักดิ์เพื่อออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ชัชชาติกล่าวว่า บริเวณรังสิต ทาง กทม. ไม่ได้ระบายออก เพราะประตูระบายน้ำไปคลองรังสิตเป็นของกรมชลประทาน กทม. เพียงแค่ประสานว่าถ้าดึงได้ช่วยดึง ถ้าดึงไม่ได้ไม่เป็นไร ทั้งนี้ ในแง่บริหารจัดการน้ำก็ต้องเคารพกรมชลประทาน ส่วนตัวยังไม่ได้คุยกับผู้ว่าฯ ปทุมธานี หลังจากนี้อาจจะต้องคุยกับท่านในเรื่องอื่นๆ แต่เรื่องน้ำจะมีกรมชลประทานเป็นผู้ประสาน เป็นตัวกลางในการบริหารจัดการ 

   

ด้าน วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ปัญหาน้ำเหนือยังไม่น่ากังวล เพราะมวลน้ำไหลผ่านที่อำเภอบางไทร อยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีจุดเตือนภัยอยู่ที่ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้ ได้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด ในปี 2565 มีปริมาณฝนที่เกิน 120 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง จำนวน 10 วัน ขณะที่ปี 2564 มีเพียง 4 วันที่ฝนตกเกิน 120 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง 

 

ที่ผ่านมา กทม. มีมาตรการเตรียมการปรับปรุงสถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำ ขุดลอกคลอง 32 คลอง เปิดทางน้ำไหลได้มากกว่า 1,665 กิโลเมตร ทำความสะอาดท่อไปแล้ว 3,357 กิโลเมตร ส่วนช่วงวิกฤตในคลองลาดพร้าว เพิ่มการระบายน้ำออกคลองบางเขนและคลองบางซื่อ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในคลองสามเสน เร่งระบายลงสู่อุโมงค์บึงมักกะสัน 

 

ส่วนคลองเปรมประชากร ใช้เครื่องผลักดันน้ำตั้งแต่เขตดอนเมืองถึงเขตบางซื่อ 18 เครื่อง และคลองบางเขน 2 เครื่อง, คลองแสนแสบ ยกระดับประตูระบายน้ำ, คลองบางชัน เพิ่มการระบายน้ำจากพื้นที่ภายนอกคันกั้นน้ำ เช่น เขตคลองสามวา หนองจอก และมีนบุรี ส่วนคลองประเวศ ยกระดับบานประตูสถานีกระทุ่มเสือปลา เพื่อเร่งระบายน้ำจากเขตลาดกระบังสู่คลองพระโขนง และเร่งสริมกระสอบทรายในคลองประเวศบุรีรมย์ชั้นในด้วย

 

วิศณุกล่าวด้วยว่า ส่วนคลองย่อย เช่น คลองที่อยู่ใกล้กับซอยรามอินทราเลขคี่ เพิ่มกำลังเครื่องสูบน้ำที่คลองกะเฉด ทำทำนบกั้นน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำ และทยอยสูบน้ำบริเวณคลองบางนาไปยังสถานีสูบน้ำวัดบางนานอก ทั้งนี้ กทม. ได้รับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากกรมชลประทาน 21 เครื่อง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 15 เครื่อง กระจายไปตามจุดเปราะบางทั่วกรุงเทพฯ 

 

และได้หารือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เน้นย้ำให้ขุดลอกท่อระบายน้ำบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อป้องกันการอุดตัน และการคืนพื้นผิวจราจร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising