วานนี้ (30 สิงหาคม) ที่ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือกับ ‘กลุ่มชุมชนร่วมผู้ว่าชัชชาติทำงาน’ ซึ่งเป็นเครือข่ายชุมชนในกรุงเทพฯ นำโดย สมพงษ์ พัดปุย เลขาธิการเครือข่ายพลเมืองเพื่อธรรมาภิบาล และเครือข่ายผู้ประสานงานชุมชนจาก 20 เขต เพื่อนำเสนอกลไกพัฒนานโยบายผู้ว่าฯ กทม. เพื่อชุมชนเข้มแข็งและพัฒนาอย่างยั่งยืน
ตัวแทนเครือข่ายกล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนชุมชนในกรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้นกว่า 2,000 ชุมชน แต่ละชุมชนได้รับเงินอุดหนุนรายเดือนจำนวน 5,000 บาท 7,500 บาท และ 10,000 บาท ตามขนาด เล็ก-กลาง-ใหญ่ แต่ชุมชนส่วนใหญ่ยังคงอ่อนแอ และมีส่วนร่วมกับ กทม. น้อย ทำให้ขาดพลังในการแก้ปัญหาชุมชน
เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายผู้ว่าฯ กทม. 216 ข้อสู่การปฏิบัติได้จริง เครือข่ายชุมชนในกรุงเทพฯ จึงนำเสนอ 3 มาตรการพัฒนานโยบายเชิงโครงสร้างส่งเสริมชุมชนกรุงเทพฯ สู่ความเข้มแข็ง ดังนี้
- คือการมีส่วนร่วมและส่งเสริมธรรมาภิบาล กทม. ปัจจุบัน การมีส่วนร่วมของชุมชนต่อ กทม. และสำนักงานเขตอยู่ในระดับต่ำ สำนักงานเขตในฐานะเป็นผู้รับ ขาดบทบาทสร้างสรรค์เนื่องจากไม่มีข้อมูลเพียงพอ และข้าราชการไม่เปิดโอกาสเสนอความเห็นในเป้าหมายและวิธีทำงานของฝ่ายราชการ สำนักงาน ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ได้จัดตั้งภาคประชาชนเป็นกลไกส่งเสริมธรรมาภิบาลและตรวจสอบการทุจริต กทม. ทำให้ภาคประชาชนมีช่องทางเข้าร่วมสร้างธรรมาภิบาลหน่วยงาน กทม. และป้องกันการทุจริตในโครงการต่างๆ ได้
- ให้ชุมชนจัดทำแผนพัฒนารายปีโดยเงินอุดหนุนจาก กทม. ซึ่งในปัจจุบัน กทม. จัดงบประมาณอุดหนุนชุมชนรายเดือนตามขนาด เล็ก-กลาง-ใหญ่ (5,000 บาท 7,500 บาท 10,000 บาท) พบอุปสรรคไม่ตรงความต้องการของชาวบ้าน เนื่องจากมีระเบียบติดขัดในการนำไปใช้ สร้างปัญหาให้กรรมการชุมชน โดยต้องสำรองจ่ายไปก่อนแล้วเบิกย้อนหลังล่าช้า หลายรายการเบิกไม่ได้ หรือเขียนใบเสร็จไม่ตรงกับความเป็นจริง นำสู่ความไม่โปร่งใส หลายชุมชนไม่ทำเบิกเนื่องจากไม่มีเงินสำรอง ทำให้ชุมชนเสียสิทธิ
- ให้จัดตั้งสภาประชาคม โดยในปัจจุบันสำนักงานเขตเป็นผู้สร้างกลุ่มที่มีการจัดตั้งโดยภาครัฐ เช่น กรรมการชุมชน อสส. อปพร. ได้เข้าร่วมกับภาคราชการได้รับบริการและได้รับประโยชน์ แต่คนส่วนใหญ่ที่มีความหลากหลายขาดการจัดตั้งไม่ได้รับรู้งาน กทม. ทำให้ประชาชนมีบทบาทที่เฉื่อยชา อุปสรรคสำคัญคือขาดองค์กรประสานงานกับกลุ่มที่ไม่เป็นองค์กรจัดตั้งที่ภาครัฐรับรอง
นอกจากนี้ เครือข่ายชุมชนฯ ได้เสนอตัวอย่างการเข้าร่วมในการนำนโยบาย ทะลวงเส้นเลือดฝอย เพื่อแก้ไขปัญหาของแต่ละชุมชน อาทิ
เขตคลองเตย ให้ตรวจสอบการรุกล้ำคูคลอง เป็นเหตุน้ำท่วมชุมชนและถนนพระรามที่ 4 ติดตั้งประปาหัวแดงวางระบบป้องกันอัคคีภัยในชุมชน โดยเสนอให้จัดระบบป้องกันอัคคีภัยชุมชนเป็นระบบ ได้แก่ จัดทำแผนทางหนีไฟในชุมชน ติดตั้งก๊อกหัวแดง ตรวจสายไฟเก่า ฝึกอบรมอาสาป้องกันภัยชุมชน พื้นที่นำร่อง 12 ชุมชนในเครือข่ายฯ การซ่อมบำรุงถนน ทางเข้าชุมชน
เขตวัฒนาให้การส่งเสริมอาชีพหาบเร่-แผงลอย โดยหาสถานที่เหมาะสมให้หาบเร่ เทศกิจไม่รีดไถ นำร่องโครงการยกระดับผู้ค้า Street Food หรือผู้ค้าหาบเร่ริมถนนให้มีมาตรฐาน นำเสนออาหารที่ถูกต้องตามโภชนาการและอนามัย
เขตคลองสามวา ที่มีปัญหาเรื่องคูคลอง การฟื้นฟูถนน เขื่อนทรุด สะพานข้ามคลองพัง โดยชุมชนสำรวจปัญหาถนนและประสานงานกับสำนักงานเขตคลองสามวา กำหนดชุมชนเป้าหมาย 5 ชุมชน
เขตสายไหม เสนอให้สำนักงานเขตและสำนัก มีแผนบูรณาการสอดคล้องกันในพื้นที่เป้าหมาย และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำงาน เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า
โครงการฝายกั้นคลื่นและฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ซึ่ง กทม. ดำเนินงานใช้งบประมาณจำนวนมากในการจัดทำเขื่อนไม้ไผ่กันคลื่น แต่ไม่เกิดผลคุ้มค่า ชุมชนเสนอให้ตรวจสอบความโปร่งในโครงการฝายกั้นคลื่น และเสนอการพัฒนายั่งยืน โครงการปลูกป่าชายเลน เสนอเขตบางขุนเทียนเป็นตัวอย่างฟื้นฟูคูคลองเป็นเส้นเลือดฝอยจากคลองสู่อ่าวไทย ฟื้นฟูการประมง พัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมถึงปัญหาขาดแคลนศูนย์อนามัยเขตบางขุนเทียน โดยเสนอให้เพิ่มศูนย์สาธารณสุขในพื้นที่รอบนอก ยกระดับศูนย์สาธารณสุขเป็นหน่วยพยาบาลท้องถิ่น ฟื้นฟูศูนย์สุขภาพชุมชนเชื่อมโยงกับศูนย์สาธารณสุข การจัดระเบียบสายไฟ และฟื้นฟูคูคลองระบายน้ำชุมชน
ด้านชัชชาติกล่าวว่า เบื้องต้นในส่วนของการร่วมทำนโยบาย คือเรื่องธรรมาภิบาล เรื่องงบประมาณ ได้จัดสรรงบประมาณปี 2566 ให้ชุมชนละ 200,000 บาท ส่วนเรื่องสภาประชาคมซึ่งจะมาแทนสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) จะตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาร่วมกัน เพื่อให้ครอบคลุมทุกปัญหา และสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงเป้าหมาย