วันนี้ (14 มิถุนายน) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8/2565 ณ ห้องประชุมและวางแผน (War Room) อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
ชัชชาติเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า สำหรับผลการประชุมเรื่องงบประมาณรายจ่ายปี 2566 ในวงเงิน 79,000 ล้านบาท ที่ได้หารือวันนี้จะต้องนำส่งให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณาภายในวันที่ 20 มิถุนายน ตามกฎหมายที่ต้องส่งล่วงหน้า 3 เดือน ก่อนเริ่มปีงบประมาณวันที่ 1 ตุลาคม
โดยรายละเอียดการจัดสรรงบประมาณ หลายส่วนเป็นโครงการที่ตั้งมาแล้ว ส่วนโครงการที่อยู่ในนโยบายปีนี้ยังไม่สามารถนำเข้างบประมาณได้ คาดว่าจะต้องนำไปใส่ในวาระ 2-3 ที่จะปรับงบประมาณอีกครั้ง
ทั้งนี้เป็นข้อสังเกตว่า กทม. มีงบผูกพันอยู่จำนวนกว่า 126 โครงการ วงเงินรวม 98,710 ล้านบาท โดยปี 2566 มีงบผูกพัน 14,722 ล้านบาท และปี 2567 วงเงิน 24,854 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวที่จะต้องให้เป็นไปตามระเบียบงบประมาณ
ในส่วนงบลงทุนใหม่ปี 2566 มีทั้งหมด 1,695 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 2.15% ของงบประมาณทั้งหมด ชัชชาติกล่าวว่าจะพยายามผลักดันนโยบายให้มากที่สุด โดยมี 2 รูปแบบ คือนโยบายบางส่วนมีบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติราชการอยู่แล้วก็จะผลักดันต่อ ส่วนที่ไม่มีก็ต้องบรรจุเข้าแผนปฏิบัติราชการ ซึ่งจะนำมาหารือในวาระที่ 2 ส่วนตัวมองว่าขั้นตอนในวาระ 2 น่าจะเสนอแผนเข้าไปได้ เพราะนโยบายบางส่วนไม่ต้องใช้เงิน
สำหรับโครงการที่ต้องใช้งบประมาณลงทุนเยอะ คือการติดตั้งส่วนงานระบบจราจร เพื่อควบคุมสัญญาณไฟจราจรในภาพรวม ที่ก่อนหน้านี้ได้ไปหารือร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ไว้ เรื่องนี้จะต้องดูว่ามีงบส่วนไหนเข้ามาดำเนินการได้หรือไม่ ส่วนเรื่องการปรับปรุงซ่อมแซม ทางเท้า ท่อระบายน้ำ ถนนต่างๆ มีเงินที่ค้างอยู่ยังใช้ไม่หมดของปี 2565 ที่นำมาใช้ได้
โดยชัชชาติยอมรับว่า งบผูกพันถือเป็นข้อจำกัดในการจัดสรรงบประมาณ นอกจากนี้ยังกังวลเรื่องการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ลดหย่อนให้เก็บภาษีในอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่งกลับมาจัดเก็บเต็มอัตราในปีนี้ ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ที่ 12,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันยังคงจัดเก็บได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงต้องมีการเร่งรัดเพราะเป็นรายได้หลักของ กทม.
ส่วนประเด็นที่กองทัพบกจัดกิจกรรมดนตรีในสวนช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ชัชชาติกล่าวว่าอยากขอบคุณทางทหารที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ ส่วนตัวได้แจ้งไปที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) ให้ช่วยจัดการประชาสัมพันธ์ให้กับกองทัพบกด้วยแล้ว และถ้าในอนาคตมีโอกาสตนก็จะไปร่วมกิจกรรมด้วย เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน และยังมีอีกหลายคนที่เสนอตัวมาอยากจะช่วยเล่นดนตรีด้วย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่ากรุงเทพฯ สามารถเปลี่ยนได้
ชัชชาติกล่าวย้ำว่าไม่เคยมีการพูดเปรียบเทียบหรือเกิดดราม่า กับกระแสการตอบรับจากประชาชนที่แตกต่างกัน ส่วนตัวรู้สึกดีใจด้วยซ้ำที่ได้ทราบข่าวว่ามีงานนี้เกิดขึ้น แต่คิดว่ากระแสตอบรับที่เห็นอาจจะยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง ซึ่งต่อไปนี้ กทม. จะรับหน้าที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้เอง ทั้งนี้การจัดงานดนตรีในสวนไม่ใช่การลอกกัน เพราะกิจกรรมนี้มีมาตั้งนานแล้วตนเองก็ไปนำมาปรับใช้เช่นกัน สุดท้ายนี้กิจกรรมทั้งหมดไม่ใช่การทำแข่งกัน แต่เป็นการทำเพื่อมอบความสุขให้คนกรุงเทพฯ
สำหรับนโยบายนี้ชัชชาติกล่าวว่า ได้สอบถามไปที่รองผู้ว่าฯ กทม. ศานนท์ ที่เป็นผู้ดูแลกิจกรรมโดยตรงว่าสนุกไหม ซึ่งได้รับคำตอบว่านี่เป็นงานที่ใฝ่ฝันในชีวิตว่าอยากจะทำเป็นการทำกิจกรรมให้กับชุมชน ตนเองเลยรู้สึกดีใจที่ถือว่าเลือกคนทำงานได้ถูก
สำหรับกรณีภาพกราฟฟิตี้ใบหน้าของชัชชาติปรากฏบนกำแพงและกลายเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์ ชัชชาติกล่าวว่ายังไม่เห็นรายละเอียดของเรื่องนี้ แต่หลังจากที่ทราบก็คิดว่าหลังจากนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ กทม. จะจัดพื้นที่ไว้สำหรับการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะ ให้ประชาชนมาแสดงความสามารถ ซึ่งลักษณะของนโยบายนี้จะคล้ายกับการจัดดนตรีในสวน แต่เปลี่ยนให้เป็นงานอาร์ตแทน
โดยพื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่ให้ศิลปินได้มาแสดงออก ในอนาคตก็อาจจะปรับเปลี่ยนให้สามารถเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวได้ด้วย ชัชชาติกล่าวว่า มองเห็นว่า กทม. เป็นเมืองที่มีพลังและมีการสร้างสรรค์ แต่ทั้งนี้การจะทำงานศิลปะหรือแสดงออกใดๆ ก็ยังคงต้องดูความถูกต้องของกฎหมายร่วมด้วย
ส่วนประเด็นการจัดพื้นที่ค้าขายกับกลุ่ม ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ชัชชาติกล่าวว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องพิจารณา ซึ่งขณะนี้มีคำสั่งให้จัดตั้งคณะกรรมการย่อยตรวจสอบและรายงานความคืบหน้าเรื่องนี้โดยเฉพาะ จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันกรุงเทพฯ มีปัญหาพื้นที่หาบเร่แผงลอยอยู่ประมาณ 80 จุด ทั้งนี้กำหนดให้ภายในสัปดาห์นี้มีการนัดประชุมรายละเอียดว่าจุดไหนเป็นอย่างไร และจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญทั้งในฝั่งของผู้ใช้ถนนและกลุ่มผู้ค้า
โจทย์สำคัญของเรื่องนี้ คือจะต้องให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งในอนาคตอาจมีการจัดทำพื้นที่ศูนย์กลางให้กลุ่มผู้ค้าเข้าไปค้าขายในจุดนั้น ตนมองว่าพื้นที่ศูนย์อาหารลุมพินีเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่จะทำเป็นพื้นที่นำร่อง รวมไปถึงจะต้องขอความร่วมมือกับเอกชนที่มีพื้นที่หน้าอาคารให้กลุ่มผู้ค้าเหล่านี้ได้ขยับเข้าไปในพื้นที่
ชัชชาติกล่าวต่อว่าปัญหานี้มีหลายรูปแบบและวิธีที่จะจัดการ แต่ระเบียบต่างๆ ที่จะกำหนดมาจากนี้จะต้องมีความรอบคอบและรัดกุมยิ่งขึ้น
ส่วนการจัดการปัญหาเทศกิจเรียกรับเงินจากผู้ค้า ชัชชาติยืนยันว่าจากนี้ต้องไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น
นอกจากนี้ชัชชาติกล่าวว่าได้เริ่มเตรียมโครงการผู้ว่าฯ กทม. สัญจร ควบคู่กับการตรวจเยี่ยมสำนักงานเขตทุกสัปดาห์แล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างแผนงาน ซึ่งรูปแบบจะเป็นการลงพื้นที่ทุกวันอาทิตย์ เพื่อให้ไม่เบียดเบียนเวลาทำงานตามปกติของสำนักงานเขต และยังเป็นวันที่ประชาชนหยุดอยู่บ้าน การได้พบเจอเพื่อที่จะได้พูดคุยรับฟังสภาพปัญหาไปในตัว ซึ่งจะเริ่มวันแรก 19 มิถุนายนนี้ ที่เขตคลองเตยที่แรก