×

กทม. แถลงผลงานครบรอบ 30 วัน มุ่งเน้นความโปร่งใส ลงลึกรายละเอียดเส้นเลือดฝอย ด้านผู้ว่าฯ เผย ขอให้ประชาชนช่วยประเมิน รับมีหลายเรื่องต้องปรับปรุง

โดย THE STANDARD TEAM
07.07.2022
  • LOADING...

วันนี้ (7 กรกฎาคม) ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) เอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกกรุงเทพมหานคร, ต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ วิลาวัลย์ ธรรมชาติ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าวสืบเนื่องจากครบรอบการทำงานของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ครบ 1 เดือน ‘30 วัน กทม. สร้างความร่วมมือทุกมิติ โปร่งใสสำหรับทุกคน’

 

เอกวรัญญูเริ่มต้นกล่าวถึงส่วนของการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. ที่จะมุ่งเน้นการเข้าถึงง่าย ติดดิน และเป็นตัวของตัวเอง เหตุผลที่ตลอดระยะเวลาการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กเวลาลงพื้นที่ เพราะเชื่อว่าเมื่อไลฟ์แล้วหากพบปัญหา ปัญหาที่เกิดขึ้นจะได้รับการแก้ไขโดยไม่ต้องผ่านการสั่งการจากเจ้าหน้าที่ กทม. หลายขั้นตอน 

 

ในส่วน 216 นโยบายที่กำหนดไว้ นโยบายที่ต้องใช้งบประมาณจัดการ ทีมทำงานได้ผูกรวมให้เข้ากับโครงการต่างๆ ของ กทม. ที่มีอยู่แล้วตั้งแต่ชุดเดิม เพราะถ้าไม่ผูกเข้าโครงการต่างๆ จะไม่สามารถผลักดันได้ เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ และในโครงการของปีงบประมาณ 2565 และงบประมาณ 2566 ที่กำลังจะดำเนินการ ขณะนี้ส่งให้สภา กทม. พิจารณาแล้ว

 

เอกวรัญญูกล่าวถึงนโยบายเร่งด่วน 4 ด้าน ที่ประกอบด้วยการแก้ปัญหาน้ำท่วม / ความปลอดภัยบนท้องถนนและทางม้าลาย / หาบเร่แผงลอยปัญหา และสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

 

ในส่วนการแก้ปัญหาน้ำท่วม ในเบื้องต้นได้ให้ความสำคัญเรื่องการขุดลอกท่อในพื้นที่รอบ กทม. จากข้อมูลที่มี ท่อทั้ง กทม. มีความยาวรวมกันที่ 6,564 กิโลเมตร ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2565 ตั้งเป้าจะทำให้ได้ 3,390 กิโลเมตร จากข้อมูลล่าสุดเมื่อ 2 กรกฎาคม พบว่าขุดลอกท่อไปแล้ว 2,387 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 70.4% ฉะนั้นอีกภายใน 2 เดือนจะสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกรมราชทัณฑ์ 

 

เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนและทางม้าลาย ในส่วนของทางม้าลายที่มีอยู่ 2,591 จุด กทม. สำรวจแล้วพบปัญหา 1,620 จุด ภายในเดือนกันยายนนี้มีแผนที่จะดำเนินการติดตั้งเสาสัญญาณข้ามทางม้าลาย 80 จุดให้สำเร็จ นอกจากนี้สำนักเทศกิจจะเร่งทำทางม้าลาย และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลใกล้ชิดตามโครงการ School Care จากเดิมมีเจ้าหน้าที่ดูแลประจำโรงเรียนอยู่ 346 โรง ทั้งสังกัด กทม. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่ในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ ผู้ว่าฯ กทม. มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เทศกิจเข้าดูแลโรงเรียนในสังกัด กทม. ให้ครบทั้ง 437 โรง ทั้งส่วนการจราจร ความสะดวก และความปลอดภัยของเด็กนักเรียน

 

ปัญหาพื้นผิวจราจร ทางผู้ว่าฯ กทม. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งคืนพื้นผิวจราจร อำนวยความสะดวกให้ประชาชน และพัฒนาทางเท้าซึ่งเป็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนเป็นอันดับ 2 ในระบบ Traffy Fondue ให้เร็ว ส่วนเรื่องที่สำคัญอย่างเรื่องการจัดการสายไฟและสายสื่อสาร ที่ก่อนหน้านี้ กทม. ได้หารือกับ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จะต้องจัดการตัดสายตายหรือสายที่ไม่ได้ใช้งานออก จัดเก็บให้เรียบร้อยให้แล้วเสร็จ 800 กิโลเมตร

 

ส่วนเรื่องหมวกนิรภัยสำหรับเด็ก ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากสมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มอบหมวกนิรภัยให้เด็กนักเรียน กทม. ได้ใช้ 126,117 ใบ เรื่องนี้ทางผู้ว่าฯ กทม. เองเล็งเห็นว่าหากนโยบายใดที่ไม่มีงบประมาณครอบคลุม เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มาทำกิจกรรม CSR ร่วมกัน

 

ในประเด็นการแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย จากเดิมมีหาบเร่แผงลอยที่ประกาศอย่างถูกกฎหมาย 55 จุด กทม. จึงเห็นชอบประกาศพื้นที่เพิ่มอีก 31 จุด และให้แต่ละเขตไปสำรวจพื้นที่สาธารณะเพิ่มเติมอีก 198 จุด และพื้นที่ภาครัฐและเอกชนอีก 124 จุด เพื่อทำให้ผู้ประกอบการและชาวบ้านมีพื้นที่ทำมาหากิน 

 

โดย กทม. จะจัดระเบียบให้ผู้ประกอบการลงทะเบียนที่เป็นระบบ ซึ่งจะครอบคลุมถึงการช่วยจัดระเบียบความเรียบร้อย และการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ยังมีมาตรการลดราคาค่าเช่าแผงค้าในตลาดของ กทม. 50% เป็นเวลา 3 เดือน และลดดอกเบี้ยโรงรับจำนำของ กทม.

 

เรื่องสุดท้ายของนโยบายเร่งด่วน เอกวรัญญูกล่าวว่า ถึงการจัดการสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ล่าสุดจากการหารือกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ได้ข้อสรุปว่าสัญญาเดินรถส่วนต่อขยายทั้ง 2 ส่วนจะมีมติเก็บค่าโดยสาร เพื่อนำเงินมาจ่ายค่าดอกเบี้ยและค่าเดินรถเอกชน และเรื่องที่สองคือการตั้งใจที่จะเปิดเผยสัญญาให้ประชาชนได้ทราบ

 

ส่วนนโยบาย Open Bangkok คือความตั้งใจหลักที่จะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส โดยเริ่มจาการเปิดรายละเอียดร่างงบประมาณให้ประชาชนได้ทราบจำนวน 79,000,000,000 บาท ว่าไปใช้ทำอะไรบ้าง เพราะที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม. ต้องการดำเนินงานให้โปร่งใส ประชาชนตรวจสอบได้

 

ทั้งนี้การจะทำงานให้สำเร็จได้ ทางผู้ว่าฯ กทม. ได้เน้นย้ำให้ทำงานแบบประสานงานร่วมมือกันเป็นหัวใจหลัก ซึ่งในระยะเวลา 1 เดือน กทม. ได้หารือร่วมกับหน่วยงานรัฐบาล 29 หน่วย, เอกชน 15 หน่วย, องค์กรศึกษาและวิจัย 8 หน่วย, ภาคประชาสังคม 5 หน่วย และต่างประเทศ14 ประเทศ ความสำเร็จที่เห็นจากการประสานงานคือ นโยบายต้นไม้ล้านต้นภายใน 1 เดือน มียอดปลูกแล้ว 1,300,000 ต้น เป็นความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน และนโยบายผู้ว่าฯ สัญจร เป็นหนึ่งในการประสานงาน เพราะการประสานในที่นี้คือการรับเรื่องร้องเรียนปัญหาและลงพื้นที่แก้ไข

 

ในส่วนแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนแล้ว 60,750 เรื่อง เฉลี่ยใน 1 วัน มี 2,025 เรื่อง ปัญหาร้องเรียนมากสุดคือเรื่องถนน หน่วยงานที่รับเรื่องแก้ไขแล้วมากที่สุดคือสำนักการโยธา ปัญหาทั้งหมดแก้ไขแล้ว 27,937 เรื่อง

ทั้งนี้ เอกวรัญญูกล่าวสรุปภาพรวมการทำงานของ กทม. ใน 30 วันว่า ผู้ว่าฯ กทม. เน้นย้ำเรื่องการทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ แก้ไขคอร์รัปชัน และเน้นการประสานงาน ที่ 30 วันที่ผ่านมาประสานงานไปแล้วกว่า 100 หน่วยงาน และสุดท้ายคือการสื่อสารภายในองค์กรที่จะมุ่งเน้นไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง

 

ในช่วงท้ายของการแถลง ต่อศักดิ์กล่าวว่า ความยากของการทำงานคือ ใน 1 เดือน โครงการต่างๆ ใช้เงินน้อยมาก สิ่งที่ยากสุดคือเรื่องการเชื่อมนโยบาย เพราะงบประมาณมีจำกัด ต้องสามารถขับเคลื่อนทุกอย่างไปด้วยกันได้ ต่อมาคือเรื่องการจัดการภายใน ที่ช่วงเดือนแรกต้องปรับให้ข้าราชการเข้าใจรูปแบบการทำงานของผู้ว่าฯ กทม.

 

ต่อศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับใครที่ห่วงเรื่องปัญหาสุขขภาพของผู้ว่าฯ กทม. ขอบอกว่าไม่ต้องห่วง เพราะที่ผ่านมาทำแบบนี้เป็นปกตินานกว่า 30 ปีแล้ว การจะทำงานกับผู้ว่าฯ กทม. สิ่งสำคัญคือต้องทำมากกว่า 100% เพราะผู้ว่าฯ ตั้งแต่สมัยเรียนไม่เคยสอบได้ที่ 2 การที่เราทำได้ 100% นั่นหมายความว่าอาจจะได้เพียง 90% ของผู้ว่าฯ และที่สำคัญคือไม่ชอบคนเดินตาม ถ้าไม่ได้เกี่ยวข้องกับงาน เพราะจะไม่ได้ทำงานที่ควรทำ

 

ด้านวิลาวัลย์ยอมรับว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อผู้ว่าฯ กทม. ไปลงพื้นที่และจะมีคนเข้ามาร้องเรียน ในช่วงแรกที่ยังไม่มีงบประมาณมาก กทม. ต้องดึงเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยการทำ CSR ส่วนตัวกล่าวว่าชัชชาติภาคภูมิใจมาก มุ่งมั่นตั้งใจจริง จำได้ทุกรายละเอียด

 

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ชัชชาติช่วงก่อนเข้าร่วมประชุมสภากรุงเทพมหานครวันนี้ โดยถามถึงเรื่องการแถลงผลงาน ชัชชาติกล่าวว่า ได้ทำเต็มที่นะ แต่ก็มีข้อที่ควรปรับปรุงเยอะ หลายเรื่องที่ยังไม่ก้าวหน้าก็มี คงต้องประเมินอย่างเป็นจริงว่าอะไรไม่ก้าวหน้าก็ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น ส่วนตัวอยากจะฟังคำติเยอะๆ จะได้นำไปปรับปรุง 

 

ชัชชาติกล่าวว่า ตอนนี้ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินเอง เพราะประชาชนเป็นผู้เลือกเรามา เราคงตัดสินตัวเองไม่ได้หรอก เรื่องนโยบาย หลักแล้วคือเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง อะไรที่ช่วยให้ประชาชนหายจากความทุกข์ยากได้ก็ทำ และปีงบประมาณนี้ของเราเต็มๆ แล้ว ต้องทำให้ดี ต้องลงรายละเอียดเส้นเลือดฝอยให้มากขึ้น และพร้อมเดินหน้าลุยอย่างเต็มที่

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X