×

“หากจะขับเคลื่อนประเทศ ต้องขับเคลื่อนกรุงเทพฯ” ชัชชาติร่วมบรรยายโครงสร้าง หลักการบริหารเมือง ย้ำหัวใจของเมืองคือคน

โดย THE STANDARD TEAM
16.08.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (16 สิงหาคม) ที่หอประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เขตดินแดง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยายหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) โดยเริ่มต้นการบรรยายด้วยเรื่องโครงสร้างการบริหารของ กทม. ว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีโครงสร้างการบริหาร 2 ส่วน คือ สภากรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  

 

ในหัวข้อความท้าทายของเมือง ชัชชาติกล่าวว่า กทม. ถือเป็นเมืองโตเดี่ยว หรือเอกนคร (Primate City) คือ เมื่อเทียบจำนวนประชากร ขนาด หรือความเจริญต่างๆ จะมีความแตกต่างกันกับเมืองอื่นๆ ภายในประเทศหลายเท่าตัว จากหัวข้อการบรรยายกรุงเทพฯ ขับเคลื่อนประเทศไทย จึงเป็นคำที่ค่อนข้างถูกต้องว่า หากจะขับเคลื่อนประเทศ ต้องขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ให้ได้ก่อน ซึ่งหัวใจของเมืองอยู่ที่คน อนาคตเมืองแข่งกันที่เมืองไหนดึงดูดคนเก่งได้ เพราะคนเก่งนั้นมีทางเลือก ความท้าทายของเมืองคือการดึงคนเก่งให้อยู่ในเมืองให้ได้ โดยเมืองคือ Labor Market หรือตลาดแรงงาน หากเมืองไม่มีงานที่ดึงดูดคนเก่งได้ เมืองก็จะอยู่ไม่ได้

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความหนาแน่นต่ำ แต่ความแออัดสูง จะสังเกตได้ว่าคนมักจะซื้อบ้านชานเมืองหรือนอกเมืองกระจายกันออกไป เพราะมูลค่าที่อยู่อาศัยไม่แพงเท่าใจกลางเมือง จึงทำให้ความหนาแน่นของประชากรถูกกระจายตัว แต่แหล่งงานอยู่ใจกลางเมือง ทำให้มีความแออัดสูง เมื่อที่อยู่อาศัยอยู่ชานเมืองหรือนอกเมือง คนจะต้องเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง แม้จะมีรถไฟฟ้าในหลายเส้นทาง แต่การจะเดินทางจากบ้านไปยังรถไฟฟ้าก็ต้องใช้รถใช้ถนน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรแออัดตามมา

 

อีกหนึ่งความท้าทายคือข้อจำกัดในเรื่องอำนาจ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีหลายหน่วยงานที่ข้องเกี่ยวในด้านต่างๆ ร่วมกัน เช่น การคมนาคมขนส่ง มีทั้ง ขสมก., BTS, MRT, เรือ และรถไฟ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจึงไม่ง่าย หน้าที่ กทม. จึงต้องเป็นเจ้าภาพและประสานกับหน่วยงานต่างๆ ในแต่ละเรื่อง

 

ชัชชาติกล่าวด้วยว่า การจะขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ต้องมียุทธศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย 1. Diagnosis (การวิเคราะห์) 2. Guiding Policies (แนวทางนโยบาย) และ 3. Coherent Action Plans (แผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกัน) โดยยุทธศาสตร์ที่แท้จริงจะต้องมี Action Plans หากไม่มีจะเป็นเพียงแค่สโลแกน ซึ่งมี 2 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ คือ CEO และ Manager โดย CEO คือผู้ที่วางยุทธศาสตร์ รู้ว่าจะต้องทำอะไรตอนที่ไม่มีอะไรให้ทำ แต่เมื่อรู้ว่าจะต้องทำอะไรแล้ว จะต้องมี Manager ซึ่งเป็นผู้ที่มีกลยุทธ์ รู้ว่าจะต้องทำอะไรเมื่อมีสิ่งที่ต้องทำ นำแผนยุทธศาสตร์ไปทำให้เกิดผลสำเร็จ 

 

สำหรับแนวทางนโยบายมีหลักการสำคัญดังนี้ 1. Sustainability ความยั่งยืน โดยคำนึงถึงอนาคต ไม่นำทรัพยากรของลูกหลานในอนาคตมาใช้จนหมดในปัจจุบัน 2. Inclusive ครอบคลุมทุกคน เช่น คนทั่วไป คนพิการ ผู้สูงอายุ เด็ก เป็นต้น 3. Fair & Empathy มีความยุติธรรมและความเข้าอกเข้าใจ

 

“กรุงเทพฯ คล้ายกับระบบเส้นเลือดที่มีเส้นเลือดใหญ่กับเส้นเลือดฝอย โดยเส้นเลือดใหญ่หมายถึงโครงสร้างของเมืองและโครงการต่างๆ ส่วนเส้นเลือดฝอยหมายถึงเรื่องทั่วๆ ไป ที่ต้องเอาใจใส่ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องน้ำท่วม ซึ่งหลายคนจะนึกถึงอุโมงค์ยักษ์ว่าจะช่วยในการระบายได้น้ำได้รวดเร็ว แต่แท้จริงแล้วหากท่อระบายน้ำตัน เส้นเลือดฝอยตีบ น้ำจะไปสู่อุโมงค์ยักษ์ไม่ได้  

 

เรื่องรถไฟฟ้า ซึ่งเปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ แต่จากรถไฟฟ้าเข้าบ้านจะต้องอาศัยเส้นเลือดฝอย ได้แก่ ทางเท้าที่ปลอดภัย สามารถเดินเข้าบ้านได้, เรื่องโรงพยาบาลที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ แต่อยู่ไกลบ้าน กับศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอย หากสามารถทำให้คนไว้ใจเส้นเลือดฝอย เส้นเลือดฝอยมีความแข็งแรง การรักษาจะไม่ไปกระจุกตัวอยู่แค่โรงพยาบาล การดูแลผู้ป่วยก็จะทั่วถึง ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นหัวใจของกรุงเทพฯ คือการดูแลและให้ความสำคัญตั้งแต่เส้นเลือดฝอย” ชัชชาติกล่าว

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า กรุงเทพฯ มีตัวเลขที่น่าสนใจ ได้แก่ 1 และ 98 โดยกรุงเทพฯ เป็นอันดับ 1 ของเมืองน่าเที่ยวที่สุดในโลกหลายปีซ้อน แต่เป็นเมืองน่าอยู่อันดับที่ 98 จาก 140 เมืองทั่วโลก (จากดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ หรือ The Global Liveability Index ของ Economist Intelligence Unit: EIU) จึงเป็นแนวคิดในการทำนโยบายโดยมีวิสัยทัศน์ (Vision) ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน เราจึงคิดออกมาเป็น Guiding Policy ซึ่งได้มาเป็น 9 ด้าน 9 ดี ได้แก่ ปลอดภัยดี, สร้างสรรค์ดี, สิ่งแวดล้อมดี, เศรษฐกิจดี, เดินทางดี, สุขภาพดี, โครงสร้างดี, เรียนดี, บริหารจัดการดี และแตกย่อยออกมาเป็น Action Plans หรือแผนปฏิบัติการ จำนวน 216+ ข้อ 

 

ซึ่งปัจจุบันเราสามารถใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในการรวบรวมนโยบายต่างๆ ได้โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวน ดังนั้นนโยบายที่อยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์มจึงเป็นนโยบายอย่างละเอียดที่ตอบโจทย์คนเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ได้หลากหลายกลุ่มและครอบคลุมมากขึ้น

 

ตัวอย่าง Traffy Fondue ซึ่งเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มาทลายไซโล (การทำงานแบบแยกส่วน) ทลายการทำงานระบบท่อ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้การทำงานล่าช้า แพลตฟอร์มจึงเป็นการทำงานบนกระดานออนไลน์ คือ ทุกคนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชน มองเห็นปัญหาเหมือนกัน ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในการแก้ปัญหา ไม่มีระบบเส้นสาย และปัญหาจะได้รับการแก้ไขเหมือนกัน โดยผู้บริหารจะสามารถเห็นผลการดำเนินการแก้ปัญหา และสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลงานของหน่วยงานได้ ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมใช้ Traffy Fondue ทำให้การบูรณาการการทำงานต่างๆ ระหว่างภายในและภายนอกหน่วยงานมีความไร้รอยต่อมากขึ้น แก้ปัญหาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นการมอบอำนาจให้ประชาชนได้มีส่วนในการทำให้เมืองน่าอยู่

 

ชัชชาติยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการสื่อสารนโยบายว่า ต้องสื่อสารให้เป็น อย่างแรกคือต้องรู้จักสงสัยว่าสิ่งที่เรามีนั้นอัปเดตหรือไม่ อยากมีความรู้ และหาสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งมาจากแนวคิด Think Again ของ อดัม แกรนต์ รวมถึงการตั้งคำถาม 3 คำถามในการทำงาน ได้แก่ 

 

  1. คุณเชี่ยวชาญเรื่องอะไร การจะสื่อสารได้ เราต้องรู้ให้ลึก รู้ให้จริง หากเรารู้ไม่รอบจะต้องหาผู้ร่วมงานที่รู้เข้ามา ดังคำกล่าวของ เซอร์ไอแซก นิวตัน ที่ได้กล่าวถึงการยืนบนบ่ายักษ์ ซึ่งแปลความได้ว่า เขาเก่งกาจได้ถึงขนาดนี้เพราะความรู้จากนักคิดเก่าแก่ก่อนหน้าเขาเป็นฐานให้เขายืน

 

  1. สิ่งที่เราทำปัจจุบันยังเกี่ยวข้องกับโลกหรือไม่ Relevant ชีวิตต้องเอ๊ะบ้าง อย่าอืออย่างเดียว เมื่อเราเอ๊ะจะเกิดการ Think Again ทำให้เกิดทางออกใหม่ๆ 

 

  1. ยังสนุกอยู่ไหม เมื่อคุณสนุกกับการทำงาน คุณจะมีพลังในการออกมาแก้ปัญหาต่างๆ ต่อไป  

 

“ความก้าวหน้าจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยคนที่ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดได้จะไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งอื่นได้เลย ซึ่งเป็นแนวคิดของ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ พร้อมยกตัวอย่างแนวทางการหาเสียงใหม่ๆ เช่น ลดขนาดป้ายหาเสียง การนำป้ายไวนิลมาเปลี่ยนเป็นกระเป๋า การจะชนะใจคนอื่นได้ต้องเป็นคนที่ใช้การสื่อสารสันติ สังเกตความรู้สึกและความต้องการของตนเอง และสังเกตความรู้สึกและความต้องการของคนอื่น สังเกตและฟังโดยไม่ตัดสิน ซึ่งเราอาจมีบางอย่างแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันก็มีเยอะ ฉะนั้นให้ดูที่สิ่งที่เหมือนกัน อย่าไปดูที่ข้อแตกต่าง แล้วนำจุดร่วมมาเป็นหลักในการทำงาน” ชัชชาติกล่าวในที่สุด 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X