วานนี้ (27 มีนาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณี ‘สวนชูวิทย์’ ของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นหนังสือให้ตรวจสอบเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ว่าได้รับรายงานจาก ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวยังไม่ได้เป็นที่สาธารณะ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่ได้มีส่วนร่วมเข้าไปปรับปรุงให้เป็นพื้นที่สาธารณะแต่อย่างใด ยังเป็นที่ดินเอกชนอยู่ และมีการจ่ายภาษีที่ดินต่อเนื่องตามกฎหมาย
ทั้งนี้การยกที่ดินให้เป็นสาธารณะ เกิดขึ้นในกระบวนการชั้นศาลฎีกา ซึ่งได้มอบหมายให้ปลัด กทม. ทำหนังสือขอคัดลอกคำพิพากษาหรือคำให้การในศาลฎีกา ว่ามีปฏิบัติทางกฎหมายอย่างไร
สำหรับเนื้อหาในหนังสือสอบถามที่ศรีสุวรรณยื่นไว้ก่อนหน้านี้ ระบุว่า ตามที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อมกราคม 2559 ในคดีรื้อบาร์เบียร์ บริเวณสุขุมวิทซอย 10 เมื่อปี 2546 โดยตัดสินลงโทษจำคุกชูวิทย์ และพวก 2 ปี ลดจาก 5 ปีที่ศาลอุทธรณ์เคยพิพากษาไว้ อันเนื่องจากศาลฎีกาเห็นว่าหลังเกิดเหตุ ชูวิทย์กับพวกได้ร่วมกับจำเลยอื่นชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายไปบางส่วนแล้ว และยังมีการนำที่ดินพิพาทไปทำประโยชน์เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปใช้ได้ โดยไม่ได้นำที่ดินไปทำธุรกิจแสวงหาผลกำไรอีก บ่งบอกว่าจำเลยรู้สึกสำนึกผิด นับว่ามีเหตุปรานี เห็นสมควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสม พิพากษาแก้ว่าจากจำคุก 5 ปี ให้เหลือแค่ 2 ปี ไม่รอลงอาญา
สำหรับที่ดินที่ชูวิทย์นำไปยื่นศาลเพื่อขอลดโทษนั้น ถูกนำไปสร้างเป็นสวนสาธารณะ เรียกว่า สวนชูวิทย์ เป็นไปตามเงื่อนไขที่ให้ไว้ต่อศาล ที่จะยกที่เป็นสาธารณประโยชน์ แต่ทว่าล่าสุด สวนดังกล่าวไม่มีแล้ว เมื่อพื้นที่สวนดังกล่าวกำลังก่อสร้างเป็นอาคารสูงโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ อันเป็นที่สงสัยและวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมกันอย่างมากว่า การอุทิศที่ดินของชูวิทย์ให้เป็นสวนสาธารณะโดยมิได้นำไปจดทะเบียนนั้นจะถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 โดยไม่จำต้องนำไปจดทะเบียนการให้ต่อเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 525 นั้น จะถือว่ามีผลโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วหรือไม่ หากมีผลสมบูรณ์แล้ว เป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย