วันนี้ (7 เมษายน) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมีผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต หัวหน้าหน่วยงานร่วมประชุม ก่อนเริ่มประชุมชัชชาติได้กล่าวถึงกรณีที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) สนธิกำลังบุกจับหัวหน้าฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตราชเทวี เรียกรับผลประโยชน์ ว่าขออย่าให้ข้าราชการน้ำดีเสียกำลังใจ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล ยืนยันว่า กทม. ให้ความสำคัญกับคำที่ว่า ‘ไม่ส่วย ไม่เส้น’ เพราะเรื่องของการทุจริตเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และขอฝากเตือนถึงข้าราชการทุกคน
ชัชชาติกล่าวภายหลังการประชุมนานกว่า 4 ชั่วโมงว่า ที่มีปัญหาเรื่องความโปร่งใสในแต่ละเขตได้เน้นย้ำให้ผู้อำนวยการเขตให้ความสำคัญเรื่องนี้ คนที่ไม่ดีมีจำนวนไม่มาก และขอให้ขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ จึงต้องกรองคนไม่ดีออกไป ส่วนทางคดีหลังจากนี้ก็จะต้องขยายผลต่อ
ทาง กทม. ก็จะมีมาตรการป้องกัน โดยจะต้องลดการใช้วิจารณญาณในการประเมินรายได้ของฝ่ายรายได้ และเอาเทคโนโลยีมาช่วย ก็จะช่วยทำให้ลดการใช้วิจารณญาณลง ทำให้กระบวนการเรียกสินบนและค่าตอบแทนใต้โต๊ะลดลงได้ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะเมื่อก่อนภาษีโรงเรือนคิดตามการประเมินรายได้ แต่พอเปลี่ยนมาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คิดตามราคาประเมินของกรมธนารักษ์
รวมถึงจะให้ฝ่ายตรวจสอบภายในลงไปช่วยดูกระบวนการจัดเก็บเงิน เพื่อให้ลดการใช้วิจารณญาณโดยคนใดคนหนึ่ง เป็นการตรวจสอบอีกชั้น ทำให้เรามั่นใจในกระบวนการมากขึ้น
ส่วนกระบวนการขอใบอนุญาตต่างๆ หลักการจะทำให้เป็นออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพื่อลดการเจอตัวกับผู้ให้ใบอนุญาตกับประชาชน และการพิจารณาจะใช้การพิจารณาเป็นกลุ่มคณะกรรมการแทนคนคนเดียว เพื่อให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า กรณีการจับคนทุจริตครั้งนี้เป็นเคสที่ 3 แล้ว กทม. ก็ลงโทษขั้นเด็ดขาด โดยเริ่มต้นจากการโยกข้าราชการที่มีปัญหาเข้ามา จากนั้นสั่งพักงานแล้วตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัยร้ายแรงภายในกรอบ 30 วัน ส่วนที่ต้องโยกมาเพื่อให้คนไปแทนได้ ดีกว่าเสียตำแหน่งไป
“ทั้งนี้ ยืนยันว่า กทม. เอาจริงเอาจังแน่นอน โดยเฉพาะผู้บริหาร กทม. ชุดนี้ เราไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะถ้ามีคงไม่กล้าดำเนินการเด็ดขาดแบบนี้ ส่วนการขยายผลผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นหน้าที่ของตำรวจในการสืบสวนดำเนินการต่อ โดย กทม. ให้ความร่วมมือเต็มที่ ส่วนในพื้นที่เขตพญาไทจะมีความผิดด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานของตำรวจ แต่หัวใจสำคัญคือการอุดช่องโหว่ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร” ชัชชาติกล่าว
ด้าน จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานเขตส่วนรายได้จะต้องไปประเมินตรวจสอบ ถ้าไม่มั่นใจสามารถส่งให้คณะกรรมการดำเนินการได้ แต่กรณีที่เกิดขึ้นของสำนักงานเขตราชเทวี สำนักงานเขตมีการประเมินและพิจารณาดำเนินการจัดเก็บเอง จึงต้องให้หน่วยตรวจสอบภายในลงไปช่วยตรวจสอบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม