×

‘ชัชชาติ’ ร่วมหารือมูลนิธิกระจกเงา ย้ำคนไร้บ้านต้องไม่ไร้โอกาสและไม่ไร้สิทธิ ผลักดันบ้านอิ่มใจ จ้างงานสร้างคุณค่า

โดย THE STANDARD TEAM
20.07.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (20 กรกฎาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมด้วย ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. หารือร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน ทั้งในส่วนที่อยู่อาศัยและการจ้างงาน พร้อมเดินดูการบริหารจัดการขยะที่เปลี่ยนสิ่งของบริจาคให้เป็นมูลค่า และการสร้างโอกาสให้กับผู้สูงอายุ 

 

โดยระหว่างที่ชัชชาติเดินเยี่ยมกลุ่มผู้สูงอายุที่ทำงานกับมูลนิธิกระจกเงาจากกลุ่ม ‘จ้างวานข้า’ บริเวณที่มีการคัดแยกขยะจากกล่องเพลงและแผ่นซีดี ชัชชาติได้เล่นงัดข้อกับ สุเทพ จันทร์กิมฮะ อายุ 77 ปี อาสาสมัครมูลนิธิกระจกเงา เพื่อทดสอบความแข็งแรงของกลุ่มผู้สูงอายุ

 

ชัชชาติกล่าวว่า คนไร้บ้านต้องไม่ไร้โอกาสและไม่ไร้สิทธิ ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะต้องทำบ้านอิ่มใจให้กับคนไร้บ้าน และถือเป็นมิติที่ดีของภาคประชาสังคมที่นอกจากจะได้เห็นมิติของคนไร้บ้านแล้ว ยังเห็นการสร้างความภูมิใจในชีวิต ทำให้ผู้สูงอายุมีสังคม มีมิติของการจัดการขยะ ซึ่ง กทม. จะต้องเรียนรู้การจัดการ เพื่อช่วยเสริมการสร้างงานและจัดการขยะให้กับเมือง

 

ส่วนการแก้ปัญหาคนจนเมืองและคนไร้บ้าน ไม่ใช่แค่เอาเงินไปให้ เพราะไม่มีทางแก้ปัญหาได้ ถมเท่าไรก็ไม่เต็ม สิ่งที่ดีคือการจ้างงานที่มีศักดิ์ศรี มีตลาดที่ต้องการจริงๆ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่จ้างงานเพราะความสงสาร แต่จะต้องสร้างความภาคภูมิใจให้พวกเขา 

 

ดังนั้น บางส่วน กทม. อาจจะต้องเริ่มไปเทรนนิ่งเพิ่มเติมในบางจุด เช่น การนวดแผนไทย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุและตลาด เรื่องนี้ไม่ง่ายที่รัฐจะไปจ้างงานโดยตรง เพราะรัฐไม่ได้เข้าใจหน้างาน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความร่วมมือของภาคเอกชนและภาครัฐด้วย เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าร่วมมือกันได้ก็จะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่

 

“หลังจากนี้คาดว่าจะมีความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาในอนาคต ทั้งคนจนเมือง คนไร้บ้าน การจัดการขยะ และการสร้างงานในอนาคต เพราะคนไร้บ้านก็คือประชาชนเหมือนเรา เขาควรจะมีสิทธิและโอกาสเหมือนพวกเราทุกคน บางทีเราอาจจะมีทัศนคติเป็นลบนิดหน่อยที่ไปกลัวเขา แต่จริงๆ คนไร้บ้านที่มีปัญหาจิตเภทมีแค่ 1-2%” ชัชชาติกล่าว

 

ชัชชาติกล่าวอีกว่า ทางแก้ที่ดีคือต้องรีบนำเข้าสู่การรักษาเพื่อไม่ให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ทั้งนี้ กทม. เองอาจจะไม่ได้มีเงินที่จะไปสร้าง แต่จะรวมข้อมูลและหาพันธมิตรในการขยายผล ส่วนตัวอยากบอกไปถึงประชาชนด้วยว่าหากมีของเหลือที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่าโยนทิ้ง ให้จัดส่งมาที่มูลนิธิคนไร้บ้านเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไปได้ เพราะถ้าทิ้งจะถูกนำไปฝังกลบไม่เกิดประโยชน์

 

ด้านศานนท์กล่าวว่า สิ่งที่จะทำหลังจากนี้คือจะต้องมีการเปิดบ้านอิ่มใจ เป็นการเรียนรู้สวัสดิการ ต้องเปิดบ้านก่อนแล้วค่อยให้สวัสดิการ และได้หารือเรื่องการแยกขยะ ซึ่ง กทม. ต้องมาดูว่าอัตราการจ้างงานของ กทม. ที่มีหลายส่วน จะทำอย่างไรในการที่จะจ้างงานคนไร้บ้าน โดยจะจ้าง 4 วันต่อสัปดาห์ ให้มีงาน มีบ้าน และมีสวัสดิการ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่ กทม. ต้องทำ

 

และขณะนี้อยู่ระหว่างหาพื้นที่สำหรับทำบ้านอิ่มใจ อาจจะเป็นใต้ทางด่วนหรือพื้นที่ของการรถไฟฯ ซึ่งจะต้องเป็นพื้นที่ที่ใกล้แหล่งงานด้วย โดยเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับคนไร้บ้านในระยะยาว แต่ในระยะสั้นจะเปิดพื้นที่ให้มีจุดดรอปสำหรับให้คนไร้บ้านได้อาบน้ำและซักผ้าเป็นระยะ

 

ส่วนการจ้างงานคนไร้บ้าน กทม. อยู่ระหว่างการหารือเช่นกัน โดยจะดูตำแหน่งงานลูกจ้างที่ว่างของ กทม. ให้คนไร้บ้านได้มีโอกาสทำงาน ซึ่งที่ผ่านมามีตำแหน่งแล้วและเคยประกาศรับสมัครไปแล้ว แต่ไม่มีใครมาสมัคร ดังนั้นจึงต้องหาวิธีใหม่ว่าจะดึงคนไร้บ้านเหล่านี้เข้ามาทำงานได้อย่างไร เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ กทม. จะต้องดำเนินการให้เกิดผลโดยเร็วที่สุด

 

ด้าน สมบัติ บุญงามอนงค์ อดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า มูลนิธิได้เห็นปัญหาคนไร้บ้าน คนจนเมือง และกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการงานบางส่วน และออกแบบงานบางประเภทให้กับคนจนที่ต้องการทำงาน เพื่อให้คนเหล่านี้ไม่สูญเสียความสามารถ สามารถพึ่งพาตัวเองได้และไม่เป็นปัญหาสังคม ซึ่งเชื่อว่าหากนำคนสูงอายุและคนไร้บ้านมาช่วยแยกขยะและจัดการสิ่งของได้ ก็จะทำให้เกิดการจ้างงานและขับเคลื่อนสังคม เปลี่ยนภาระให้กลายเป็นพลัง

 

ส่วนการจ้างงานคนไร้บ้านกับคนจนเมืองของมูลนิธิกระจกเงา ขณะนี้มี 150 คนต่อเดือน แบ่งเป็นงานอาสาสมัครทำงานในที่สาธารณะ ช่วยงานในมูลนิธิ จัดการแยกสิ่งของ และประชาชนมาจ้างมูลนิธิไปใช้แรงงาน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เขามีค่าแรงไปหาเช่าที่พักอาศัย โดยจะมีของใช้เริ่มต้นให้ด้วย เพื่อให้คนไร้บ้านได้กลับมาเป็นคนปกติอีกครั้ง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising