วันนี้ (27 มิถุนายน) ที่ห้องประชุมและวางแผน (War Room) อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ประชุมผู้บริหาร กทม. ครั้งที่ 10/2565
โดยภายหลังการประชุมชัชชาติกล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเกี่ยวกับการถอดบทเรียนเหตุไฟไหม้ใหญ่ในกรุงเทพฯ เรื่องแรกที่หารือคือ เหตุไฟไหม้ที่บ่อนไก่ สรุปแล้วสาเหตุเกิดจากบ้านหลังแรกที่ไฟช็อต จากนั้นไฟลุกลามไปจุดอื่นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ติดไฟง่าย
ขณะที่เกิดไฟไหม้มีหลายหน่วยงานเข้ามาปฏิบัติงาน เหตุการณ์เริ่มจากมีการแจ้งมายังอาสาสมัครในชุมชนเวลา 13.07 น. แต่ไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิง อาสาสมัครชุมชนจึงเข้าไปในพื้นที่ พบว่าไฟไหม้ไปหลายจุดแล้ว ซึ่งพยายามใช้ถังดับเพลิงแต่ดับไม่ได้ เวลาผ่านไปแล้ว 5 นาทีสถานีดับเพลิงจึงได้รับแจ้งเหตุ และรถดับเพลิงถึงจะเข้าพื้นที่ ดังนั้นจะเห็นว่าเรื่องการแจ้งเหตุมีปัญหา
จุดนี้เป็นบทเรียนให้กับชุมชน และการประสานงานที่ไม่ได้แจ้งไปยังสถานีดับเพลิง ทำให้เกิดความล่าช้า กว่าที่รถดับเพลิงจะมาถึงจุดเกิดเหตุจึงลุกลามเป็นวงกว้าง ประกอบกับสายไฟฟ้าเก่าและชำรุด ชุมชนเกิดความสับสนไม่รู้ว่าไฟไหม้ต้องไปจุดไหน การฝึกซ้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจริงๆ ชุมชนมีประปาหัวแดงเพียงพอ แต่มีปัญหาเรื่องแรงดันน้ำ
อีกปัญหาสำคัญคือ การบัญชาการเหตุการณ์มีปัญหา ควรต้องปรับปรุง เพราะไม่มีผู้บัญชาการเหตุการณ์ ผู้ปฏิบัติงานที่ลงพื้นที่ชุมชนไม่มีความคุ้นเคยในพื้นที่ ทำให้เสียเวลาในการปฏิบัติงาน ดังนั้น ต้องซักซ้อมการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น มีกรอบการทำงานที่ชัดเจน ผู้อำนวยการเขตและผู้ปฏิบัติงานต้องทำงานร่วมกัน ต้องประสานกับอาสาสมัครจากหน่วยงานต่างๆ ให้ดี
รวมทั้งอุปกรณ์ที่ขาด ผู้อำนวยการเขตต้องมาดูแลผู้ได้รับความเสียหาย และทำบัญชีและการให้บริการในส่วนต่างๆ เช่น ให้บริการห้องอาบน้ำ สุขา การเตรียมปั๊มน้ำสำหรับห้องอาบน้ำ การทำรายการผู้เสียหาย การเตรียมฟูกที่นอนให้เด็กๆ เตียง พัดลม รายละเอียดทุกส่วนควรอยู่ในลิสต์ที่ต้องเตรียมพร้อม รวมทั้งการแยกผู้ประสบภัยจากประชาชนทั่วไปให้ชัดเจน จะทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น ทุกอย่างต้องสรุปออกมาและต้องนำไปปฏิบัติให้ได้
ส่วนบทเรียนของผู้ปฏิบัติงานการจัดตั้งศูนย์บัญชาการสั่งการในจุดที่เกิดเหตุ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว และผู้บัญชาการเหตุของ กทม. ต้องเข้าถึงพื้นที่เร็วกว่าอาสาสมัคร เพราะต้องมีคนบัญชาการตั้งแต่ต้น โดยจะเร่งทำแผนเพื่อให้เกิดความร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งนี้ จะสำรวจจุดหนาแน่น จุดเสี่ยงในกรุงเทพฯ และสำรวจความพร้อมของประปาหัวแดง เพราะเมื่อเกิดเหตุสามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัว
ส่วนกรณีไฟไหม้ที่ย่านการค้าสำเพ็ง บทเรียนที่สรุปได้มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือ สาเหตุการเกิดไฟไหม้ เกิดจากหม้อแปลงร้อนและระเบิด ประกอบกับจุดดังกล่าวมีสายไฟสายสื่อสารที่รกรุงรัง และจุดที่ไฟไหม้อยู่ใกล้ตัวอาคารที่มีพลาสติกจำนวนมาก
เบื้องต้นได้ประสานการไฟฟ้าให้สำรวจหม้อแปลงขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในแล้ว พบว่ามีอยู่กว่า 400 หม้อแปลง จึงขอให้ตรวจสอบสภาพหม้อแปลงและอายุการใช้งาน ส่วนสายสื่อสารจะเร่งนำลงดินเพื่อจัดการความรุงรัง
โดยล่าสุดได้ประสานไปที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้ว ส่วนประชาชนเองต้องระมัดระวังอัคคีภัย หรือการใช้ไฟในบ้านเรือนตัวเองให้ดี หมั่นตรวจสอบระบบไฟฟ้า ก็จะช่วยแก้ปัญหาไฟไหม้ได้
ส่วนที่ 2 ที่ต้องเข้าไปดูคือ การเข้าเผชิญเหตุ เป็นเรื่องการประสานงานระหว่างหน่วยอาสากับผู้บัญชาการเหตุการณ์ สิ่งที่ต้องแก้ไขปัญหาคือ ใครเป็นผู้บัญชาการเหตุ และรถน้ำควรฉีดอย่างไร เหตุการณ์ที่ผ่านมาอาจจะเป็นวิธีการที่ไม่ได้ถูกต้องตามหลักการ เพราะทุกหน่วยงานรุมกันฉีดน้ำเข้าไปที่อาคาร แต่หลักที่ควรทำคือ ควรหาต้นเพลิงและฉีดน้ำไปที่ต้นเพลิงมากกว่า
ดังนั้น ต่อไปนี้ควรมีการประสานงานกันระหว่างหน่วยอาสาและผู้บัญชาการเหตุการณ์ อาจจะต้องจัดระเบียบให้ดีขึ้น ต้องพัฒนาศักยภาพร่วมกันเพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ หรืออบรมร่วมกันเพื่อให้เกิดการทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ต้องทำด้วยกัน ดังนั้น กทม. จะเร่งทำแผนในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
ส่วนค่าตอบแทนและค่าเสี่ยงภัยของอาสาสมัครนักดับเพลิง ได้ทำแผนร่างไว้และเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา หากมีอุปกรณ์และมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมจะทำให้การบังคับบัญชาเหตุการณ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น รวมถึงการจัดคลังเพื่อผู้ประสบภัยที่ยังขาดแคลน เพราะหากสามารถจัดคลังได้ก็จะไม่ต้องเปิดรับบริจาคทุกครั้ง โดยปัจจุบันมีคลังอยู่ที่วัดดวงแข แต่อุปกรณ์ทุกอย่างยังไม่ครบ
สำหรับวันพรุ่งนี้ (28 มิถุนายน) จะมีการหารือร่วมกัน ทั้งการไฟฟ้านครหลวง กทม. และตำรวจ