วันนี้ (15 กรกฎาคม) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ร่วมชมงาน RoboCup 2022 จัดโดยมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) พร้อมด้วย สหพันธ์โรโบคัพ และบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยงานเป็นการแข่งขันหุ่นยนต์หลากหลายรูปแบบ ประชันด้วยความอัจฉริยะของระบบ รวมถึงมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานสินค้าสิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์
ชัชชาติกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะสำหรับงาน RoboCup 2022 ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 25 แล้ว ซึ่งประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็นเจ้าภาพงานครั้งแรก วันนี้คาดว่ามีผู้เข้าร่วมงานกว่า 3,000 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก รวมถึงผู้เข้าแข่งขันหุ่นยนต์อีกหลายร้อยทีม
ดังนั้นจึงถือว่าเป็นโอกาสดีที่มาดูกิจกรรมหุ่นยนต์ต่างๆ ที่มีตั้งแต่ระดับเด็กจนถึงผู้ใหญ่ หลากหลายประเภท เช่น หุ่นยนต์แข่งฟุตบอล หุ่นยนต์ที่ใช้โปรแกรมมิง หุ่นยนต์กู้ภัย หุ่นยนต์ในบ้านเพื่อการบริการ ฉะนั้นการจัดงานนี้ขึ้นมาส่วนตัวมองว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี
ชัชชาติกล่าวต่อว่า ในอนาคตโลกเราหนีหุ่นยนต์ไม่พ้นแน่นอน แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับการมาถึงของหุ่นยนต์ สำหรับเทคโนโลยีหุ่นยนต์มีข้อดีคือ สามารถทำงานซ้ำๆ ได้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ส่วนตัวเองมองว่าหุ่นยนต์เหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ เช่น นำไปสอดส่องเรื่องความปลอดภัยด้วยการนำโดรนที่มีระบบพิกัด GPS บินสำรวจสภาพการจราจรหรือจุดที่ไฟส่องสว่างชำรุดบนท้องถนนแทนการใช้กำลังคน รวมถึงการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรูปแบบต่างๆ เช่น ช่วยเหลือเรื่องการดับเพลิงและการค้นหาผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในจุดอับสายตา
อย่างไรก็ตาม ชัชชาติกล่าวว่า ตนไม่ได้หมายความว่าจะให้หุ่นยนต์มาทำงานแทนคนทั้งหมด เพราะยังต้องมีคนคอยกำกับดูแล หุ่นยนต์เพียงแค่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของคนเท่านั้น ความจริงแล้วมีคำที่เราเรียกว่า AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ แต่สำหรับตนเองชอบคำว่า IA (Intelligent Assistant) มากกว่า คือให้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นผู้ช่วยที่ชาญฉลาด
นอกจากนี้ชัชชาติได้กล่าวต้อนรับผู้มาร่วมงานบนเวทีใจความว่า ในฐานะผู้ปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีดูแลเมือง ให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ
- ต้องยึดประชาชนเป็นที่ตั้งในการให้บริการ นำปัญหาของคนมาเป็นโจทย์แล้วให้หุ่นยนต์ตอบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
- ต้องระมัดระวังในการใช้เทคโนโลยี โดยต้องมั่นใจว่าเมื่อนำมาใช้แล้วจะทำให้โลกดีขึ้น ไม่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำกว่าเดิม เพราะคนที่มีเทคโนโลยีจะกลายเป็นคนที่มีอำนาจในมือมากขึ้น
- แนวทางการพัฒนาให้หุ่นยนต์ทำการตัดสินใจบนฐานความคิดว่าด้วยคุณธรรมจริยธรรม เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อน ต้องหาคำตอบกันต่อไป