วันนี้ (27 พฤษภาคม) ที่บริเวณลานด้านข้างสถานีรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง สถานีวงศ์สว่าง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) จักกพันธุ์ ผิวงาม อดีตรองผู้ว่าฯ กทม., ภิมุข สิมะโรจน์ อดีตรองหัวหน้าพรรคกล้า คณะทำงานสำนักงานเขตบางซื่อ และตัวแทนภาคเอกชน ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ว่างเปล่าที่ทางเอกชนมอบให้สำนักงานเขตบางซื่อจัดทำเป็นพื้นที่สวนสาธารณะในเมือง
ชัชชาติระบุว่า วันนี้ที่มาเป็นพื้นที่เอกชน อยู่กลางเมืองใกล้สถานีรถไฟฟ้าวงศ์สว่าง มีข้อมูลว่าทางเอกชนเคยติดต่อให้ กทม. ผ่านสำนักงานเขตบางซื่อใช้งานตั้งแต่ปี 2562 แต่จนปัจจุบันยังไม่มีการปรับปรุงใดๆ จึงตั้งใจมาสำรวจ ฉะนั้นต่อจากนี้ถ้ามีเอกชนรายไหนที่มีพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และต้องการให้ กทม. ได้พัฒนาที่ดินมาทำสวนสาธารณะ ก็สามารถติดต่อกับสำนักงานเขตในพื้นที่ได้ นี่จะเป็นการช่วยกันของหลายฝ่ายให้ได้พื้นที่สีเขียว โดยที่ กทม.ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า โครงการกรุงเทพ 15 นาที ทำสวนสาธารณะใกล้บ้าน อาจต้องใช้ระยะเวลา 5-10 ปีต่อเนื่อง เพื่อจะได้ดูแลต้นไม้ได้เต็มที่ ปรับปรุงพื้นที่ได้สมบูรณ์ ตนคิดว่าวิธีนี้เป็นการแบ่งปันอย่างหนึ่งที่จะทำให้เมืองน่าอยู่เพิ่มมากขึ้น เพราะลำพังแล้ว กทม. ไม่ได้มีงบประมาณมากมายที่จะซื้อที่ดินในการทำสวนสาธารณะกลางเมือง จากนี้ยังเชื่อว่ามีอีกหลายที่ที่ยังไม่ได้นำที่ดินไปทำอะไร เพราะฉะนั้นแล้ววิธีนี้อาจจะดีกว่าการนำที่ดินเอาไปปลูกกล้วย
แม้ว่าการนำที่ดินมามอบให้ กทม. ทำสวนสาธารณะ อาจจะไม่ได้ช่วยลดภาษีที่ดินมาก แต่ก็ขอเป็นทางเลือกแรงจูงใจเล็กๆ ให้เอกชนนำที่ดินมามอบให้ กทม. ระยะแรกในการปรับปรุงพื้นที่อาจจะไม่ได้ใช้เวลานาน เน้นไปที่การปรับให้มีทางเดิน มีแสงสว่าง เรื่องนี้ไม่น่าจะยากเกินไป ไม่ต้องทำให้หรูหรามาก เพียงแต่ทำให้คนสามารถใช้งานได้จริง
ส่วนประเด็นที่มีการนำวัวเข้ามาเลี้ยง ปลูกกล้วยในพื้นที่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะหลายที่มีการปรับใช้งานที่ดินของตนแบบดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของกระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ระบุว่าภาษีที่ดินสำหรับพื้นที่ทำเกษตรกรรมจะอยู่ในอัตราที่ต่ำ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุว่าต้องปลูกอะไร ปลูกจำนวนเท่าไรเป็นขั้นต่ำ ชัชชาติระบุว่า ในเรื่องนี้ กทม. มีอำนาจประเมินภาษี แต่ก็ต้องประเมินตามอำนาจตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น
โดยกฎหมายระบุไว้ให้ท้องถิ่น หรือ กทม. สามารถระบุอัตราภาษีเองได้ แต่ไม่ให้เกินอัตราสูงสุดที่ทางกระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดไว้ ดังนั้นถ้าทาง กทม. เล็งเห็นแล้วว่าพื้นที่ไหนที่ไม่เหมาะกับการทำเกษตร ใช้ปลูกกล้วย กทม. อาจเอาอำนาจตรงนี้ปรับให้สูงกว่าที่กระทรวงการคลังกำหนดได้ อนาคตต้องให้ทีมกฎหมายช่วยดูเพื่อปรับเปลี่ยนให้สมเหตุสมผล ส่วนตัวจึงมองว่ามาตรการภาษีอาจจะเป็นอีกแรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้คนนำที่ดินมามอบให้ กทม. ทำสวนสาธารณะเพิ่ม
ชัชชาติกล่าต่อด้วยว่า บางอย่างเอกชนอาจจะต้องช่วยลงทุนด้วย เพราะถ้าหมดสัญญาที่ให้ กทม. ทำสวนสาธารณะแล้ว ต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างก็จะตกเป็นของเอกชน เรื่องนี้ต้องคุยกันอีกครั้งหนึ่ง โดยจะต้องให้เกิดประโยชน์และยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย
ส่วนประเด็นการย้ายศาลาว่าการกรุงเทพมหานครให้ไปอยู่ที่เขตดินแดงเป็นที่เดียว ชัชชาติระบุว่า อาจจะไม่ได้ทำเสร็จสิ้นภายในเดือนหรือสองเดือน เพราะมีสำนักงานเก่าค้างอยู่ แต่ต้องมีการดูพื้นที่จริงจัง โดยชัชชาติกล่าวว่าจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อผลักดันการย้าย แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้เกิดการรวมศูนย์ เพราะแต่ละพื้นที่มีค่าในอนาคตอาจจะทำเป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์ได้
ชัชชาติกล่าวด้วยว่า ทุกอย่างไม่ได้ย้ายได้ภายในพริบตา แต่ก็ต้องมีก้าวแรก อาจจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี เตรียมโครงสร้าง เตรียมพื้นที่ แต่ถ้าไม่เริ่มนับหนึ่ง ไม่มีนโยบาย สุดท้ายก็จะไม่มีคนทำ
สำหรับปัญหาข้อร้องเรียนของกลุ่มเจ้าหน้าที่สังกัด กทม. ยอมรับว่าได้รับจดหมายมาบ้างแล้ว ปัญหาที่ชัดเจนจะมีเรื่องของสวัสดิการที่น้อย การเบิกจ่ายเงินล่วงหน้ากรณีรักษาคนในครอบครัว การทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวมานานแต่ไม่ได้รับการบรรจุ หรือแม้แต่เรื่องกระบวนการแต่งตั้งที่ไม่ยุติธรรม ซึ่งชัชชาติระบุว่าต้องเข้าไปจัดการแก้ปัญหาและสร้างขวัญกำลังใจกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะถ้าไม่มีคนช่วยทำความสะอาด กทม. เมืองก็จะสกปรกไปกว่านี้