×

‘ชัชชาติ’ ลงตรวจสองฝั่งเจ้าพระยา เสริมการป้องกันน้ำเหนือ-น้ำหนุน ย้ำมวลน้ำไม่มากเท่าปี 54 แต่กังวลฝนตกหนักเดือนกันยายน

โดย THE STANDARD TEAM
27.08.2024
  • LOADING...

วันนี้ (27 สิงหาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือและน้ำฝนของกรุงเทพมหานคร พร้อมลงเรือตรวจสอบความพร้อมแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากท่าเรือส่วนการท่องเที่ยว ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เขตพระนคร ถึงวัดสร้อยทอง เขตบางซื่อ 

 

วิศณุกล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ทางภาคเหนือมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และอาจส่งผลกระทบให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กรุงเทพมหานครได้ติดตามสถานการณ์และประสานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อยู่เป็นประจำ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครได้

 

สำหรับสถานการณ์น้ำเหนือ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสัก เปรียบเทียบ ณ วันและเวลาเดียวกัน (25 สิงหาคม 2566 กับ 25 สิงหาคม 2567) พบว่า ปีนี้ดีกว่า และยังสามารถรองรับน้ำได้เพิ่ม

 

ทั้งนี้ ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิดจากมวลน้ำที่มาจากแม่น้ำยม ซึ่งจะไม่ไหลเข้าเขื่อนหลักและระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมวลน้ำไหลลงมาถึงจังหวัดสุโขทัย และคาดว่าจะมาถึงกรุงเทพมหานครใช้เวลาประมาณ 6 วัน (2 กันยายน 2567)

 

โดยอัตราการระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระวังก่อนถึงกรุงเทพมหานครคือที่สถานีบางไทร ซึ่งอัตราการระบายน้ำที่สถานีบางไทร ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 989 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) โดยอัตราการระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ที่ 2,500 ลบ.ม./วินาที

 

วิศณุกล่าวต่อว่า กทม. เตรียมพร้อมการบริหารจัดการน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมต่างๆ และตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ ความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร ซึ่งหลังจากปี 2554 เป็นต้นมา ได้เสริมแนวคันกั้นน้ำถาวรริมเจ้าพระยาสูงขึ้นตลอดแนวที่ระดับ 2.80-3.50 ม.รทก. และเรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำตามจุดต่างๆ 

 

รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 96 สถานี และบ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งในช่วงน้ำทะเลขึ้น พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังประจำจุด เครื่องสูบน้ำสำรอง เรือผลักดันน้ำ วัสดุอุปกรณ์ กระสอบทราย ตลอดจนเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) และอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมปฏิบัติการและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันทีเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ในส่วนชุมชนนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ได้สั่งการให้สำนักงานพื้นที่ ประกอบด้วย เขตดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และเขตคลองสาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชน และให้เตรียมขนย้ายสิ่งของให้อยู่ในที่สูง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง นอกจากนี้ได้สั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้สำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินต่างๆ อย่างทันท่วงที

 

วิศณุระบุว่า ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2567 ในเดือนสิงหาคม มีปริมาณอยู่ที่ 208.5 มิลลิเมตร มีค่าน้อยกว่าปี 2566 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ 224 มิลลิเมตร และปริมาณฝนสะสมในปี 2567 อยู่ที่ 842.5 มิลลิเมตร มีค่าใกล้เคียงกับปี 2566 อยู่ที่ 811.50 มิลลิเมตร 

 

การรับมือสถานการณ์ฝนของ กทม. ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดคือ การลดระดับน้ำรองรับสถานการณ์ฝน เช่น พร่องน้ำในคลอง สร้างธนาคารน้ำ (Water Bank) แก้มลิง การเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ โดยล้างทำความสะอาดและบำรุงรักษา อุโมงค์ระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำ แล้วเสร็จ 100% ทุกจุด รวมถึงการเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ ทำให้น้ำท่วมขังหลังฝนตกหนักในปีนี้ลดลงเร็ว

 

ด้านชัชชาติกล่าวเสริมว่า สถานการณ์ที่น่ากังวลที่เกิดกับภาคเหนือคือปริมาณน้ำฝนมีมากสูงสุดถึง 200 มิลลิเมตร ในส่วนนี้ถือว่าน่ากังวล เพราะปริมาณน้ำฝนดังกล่าวถ้ามาตกในกรุงเทพฯ ที่ท่อระบายน้ำออกแบบให้รับน้ำฝนได้ 60 มิลลิเมตร อาจจะทำให้น้ำท่วมขัง

 

แต่ทั้งนี้เชื่อว่าในหลายจุดของกรุงเทพมหานครน้ำระบายเร็วขึ้น อาจจะมีท่วมขังบ้าง แต่ในถนนสายหลักมีการจัดการให้ระบายน้ำได้เร็วมากขึ้น ส่วนที่อยู่ในซอยย่อยก็จะนำจุดเหล่านั้นมาเป็นบทเรียน

 

สถานการณ์น้ำปัจจุบันไม่มีอะไรเทียบเคียงกับปี 2554 แต่อนาคตก็ไม่แน่นอน เพราะเราไม่ทราบว่าเดือนหน้าจะมีฝนตกมากแค่ไหน แต่ปีนี้ย้ำว่าสถานการณ์น้ำต่างจากปี 2554 โดยสิ้นเชิง

 

ชัชชาติกล่าวต่อว่า ปี 2554 มวลน้ำไม่ได้มาจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาที่กรุงเทพฯ โดยตรง แต่ว่าเป็นน้ำจากประตูกั้นน้ำที่แตก ผ่านเข้ามาตามทุ่งและส่งตรงมายังกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้ กทม. มีการทำแนวกั้นที่คลองรังสิตเสร็จแล้ว สถานการณ์น่าจะดีขึ้น ไม่น่ากังวล

 

สิ่งที่กังวลมากกว่าน้ำเหนือ คือปริมาณน้ำฝนที่ตกมาก ส่วนหนึ่งมาจากภาวะโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ส่วนนี้ต้องมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ระบบสูบน้ำเคลื่อนที่ที่ต้องบริการประชาชนได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าในเดือนกันยายนนี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำฝนในปริมาณมาก

 

ขณะนี้ปริมาณน้ำที่ผ่านจุดวัดปริมาณน้ำบางไทรและจังหวัดนครสวรรค์อยู่ในระดับ 1 ใน 3 ถ้าฝนตกใต้เขื่อนเจ้าพระยาน้ำจะเข้ามาที่กรุงเทพฯ โดยตรง ฉะนั้นจะต้องคอยติดตามที่จุดบางไทร แต่ทั้งนี้กรมชลประทานยังมีแก้มลิง 12 แห่งที่เตรียมพร้อมเอาไว้แล้ว

 

ชัชชาติกล่าวย้ำว่าไม่ต้องกังวลใจ สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่ได้เกินกำลังของ กทม. แต่ได้เสริมคันกั้นน้ำพร้อมไว้แล้วเพื่อความไม่ประมาท

 

ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำและฝนอย่างใกล้ชิดรวดเร็ว ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร สามารถติดตามสถานการณ์น้ำและฝนได้ที่ Facebook และ X ของกรุงเทพมหานคร, ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร, เว็บไซต์ www.prbangkok.com และ http://dds.bangkok.go.th/ แจ้งเหตุเดือดร้อนและขอรับความช่วยเหลือจาก กทม. ได้ที่ Traffy Fondue, Facebook และศูนย์ประสานงานน้ำท่วม กทม. สายด่วน โทร. 1555 ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 0 2248 5115

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising