×

“ผังเมืองต้องเป็นหัวใจที่รวมข้อมูลของเมือง” ชัชชาติย้ำ ต้องเปิดเผยมากกว่าปกปิด เพื่อสร้างประสิทธิภาพให้ กทม.

โดย THE STANDARD TEAM
28.11.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (28 พฤศจิกายน) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมติดตามปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) ในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ณ ห้องประชุมชั้น 4 สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง เขตดินแดง ว่าผังเมืองต้องเป็นหัวใจที่รวมข้อมูลของเมือง ในแง่ของข้อมูลที่เป็นดิจิทัล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในอนาคตผังเมืองต้องมีหน้าที่ในการสร้างประสิทธิภาพให้เมือง ถ้าเรามีฐานข้อมูลให้ชัดเลยว่าตึกอยู่ตรงไหน ความสูงเท่าไร ความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร เอกชน ประชาชน สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปขยายผลต่อได้ ไม่ต้องทำข้อมูลใหม่ 

 

หน้าที่ของผังเมืองคือต้องสร้างประสิทธิภาพให้เมือง โดยต้องทำฐานข้อมูลให้พร้อม นโยบายของผังเมืองอนาคต ต้องเปิดทุกข้อมูล ยกเว้นที่จำเป็นต้องปิด ที่ผ่านมาปิดทุกข้อมูลยกเว้นที่จำเป็นต้องเปิด เราจะเปลี่ยนแนวใหม่เป็น Open Data เพื่อนำข้อมูลนี้ไปพัฒนาประสิทธิภาพของเมืองให้ได้ วันนี้เป็นโอกาสดี เป็นความสำคัญที่เราจะให้กับผังเมือง ถ้ามีข้อมูลที่ดี เป็น Open Data ตนเชื่อว่าเอกชน ประชาชน จะนำข้อมูลนี้ไปพัฒนาได้ดีขึ้น

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า วันนี้ได้มาเยี่ยมสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองเป็นสำนักแรก ซึ่งเป็นสำนักที่สำคัญมากๆ ลำดับต้นๆ เพราะว่าเป็นเหมือนธรรมนูญเมือง เป็นตัวแม่บทที่ต้องมาร้อยกับเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับตรงนี้มาก เรามองผังเมืองเป็นแค่ผังสี ดูเรื่องกำหนดว่าสร้างอะไรได้ไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วผังเมืองเป็นตัวกำหนดทิศทางของเมือง วันนี้ได้คุยในหลายเรื่อง เริ่มจากเรื่องบุคลากร จริงๆ แล้วผังเมืองมีนักวิจัยอยู่หลายคน ซึ่งจะนำเอานักวิจัยรุ่นใหม่มาเป็นตัวขับเคลื่อน โดยจะให้มีการหารือนำผลงานวิจัยที่ทำเรื่องเมืองและทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ที่ผ่านมาทำไว้แต่อาจจะไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง ซึ่งเรายังขาดนักเศรษฐศาสตร์เมือง ที่ผ่านมาจะมี Urban Planner คือคนวางผังเมือง แต่ที่เรายังขาดคือ Urban Economics หรือนักเศรษฐศาสตร์เมือง หากเราดูเฉพาะ Planner เราจะมองว่าจะสร้างตึกได้สูงสุดเท่าไร เราไม่รู้ว่าความต้องการเป็นเท่าไร นักเศรษฐศาสตร์เมืองจะช่วยดูความต้องการว่า เมืองนี้ต้องการที่อยู่อีกกี่ยูนิต จะเพิ่มอย่างไร จะปรับแนวคิดอย่างไร ซึ่งจะนำนักเศรษฐศาสตร์ที่มีอยู่แล้วมาพูดคุย และให้ความสำคัญกับนักเศรษฐศาสตร์เมืองมากขึ้น มีตำแหน่งที่ขาดคือนักโบราณคดี เรามีนักโบราณคดีที่มาดูแลจากกรมศิลปากร ประมาณเกือบ 40 แห่ง จะมีปัญหาตรงที่เราไม่มีคนรู้เรื่องโบราณคดีจริงๆ สุดท้ายสรุปว่า ให้หาความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ ดีกว่าที่จะนำนักโบราณคดีมาอยู่กับเรา เพราะไม่เช่นนั้นเขาจะไม่มีอนาคต นอกจากนี้ยังมีการเสนอความคิดให้มีนักผังเมืองประจำเขต เลยคิดว่าน่าจะเป็นประจำโซนมากกว่า กทม. มี 6 กลุ่มเขต ให้มีคนผังเมืองที่เชี่ยวชาญแต่ละกลุ่มเขตให้คำปรึกษาแต่ละเขตได้ ทั้งหมดคือภาพรวมของการบริหารจัดการด้านบุคคล 

 

ชัชชาติยังได้กล่าวในเรื่องของผังเมืองรวมว่า ปัจจุบันต้องทบทวนใหม่เพราะว่ามีการแก้ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 ทำให้ผังเมืองแนบท้ายมีปัญหา เพราะว่าทำประชาพิจารณ์ไม่ครบ ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่จะปรับแก้ เพราะมองว่าผังเมืองต้องเป็นตัวที่ตอบโจทย์เมืองในปัจจุบัน ผังเมืองที่ผ่านมาคล้ายกับว่าเป็นตัวกำหนดว่าสร้างสูงสุดได้แค่ไหนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งกลายเป็นตัวกำหนดราคาที่ดิน ดังนั้นในอนาคตผังเมืองต้องบอกความน่าจะเป็นของเมืองด้วย อาจจะอยู่ในรูปของการให้โบนัสเมือง ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับนโยบาย เช่น อยากให้มีที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีรายได้น้อยในเมือง จะทำอย่างไรให้เขามีโอกาสหาที่อยู่ได้ไม่แพง หรือแม้กระทั่งหาบเร่แผงลอย เราอยากทำ Hawker Centres ในเมือง เป็นไปได้หรือไม่ ตึกไหนมี Hawker Centres ก็ให้เป็นโบนัสไป หรือเป็นข้อกำหนดเลยว่าอาจจะมีที่กินอาหารสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมืองด้วย นี่คือสิ่งที่เราจะต้องปรับปรุง ดังนั้นโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครในครั้งที่ 4 ให้ทันสมัย เป็นสิ่งที่เราจะต้องเร่งทำ สุดท้ายแล้วต้องผ่านอีกหลายกระบวนการ ซึ่งจะต้องทำให้จบภายในปีหน้าให้ได้ 

 

ปัญหาหลักอย่างหนึ่งของผังเมืองรวมก็คือจะมีแผนถนนแนบท้าย แต่แผนถนนมีหลายสิบเส้นที่ไม่ได้ดำเนินการตามแผน กลายเป็นว่าเราเปลี่ยนสีเมืองไปก่อน แต่ถนนเราไม่ได้ทำตาม ทำให้หลายคนโดนริดรอนสิทธิด้วยซ้ำ เพราะว่ามีแนวถนนอยู่แล้ว การก่อสร้างทำได้ยากขึ้น เนื่องจากอยู่ในแนวเวนคืน ต้องปรับสำนักอื่นในการวางแผนถนนให้สอดคล้องกับผังเมืองด้วย เช่น ต้องทำถนนผังเมืองให้มากที่สุดตามแนวผังเมือง เพราะว่ามันคือไกด์ไลน์ ฉะนั้นต้องมีการประสานกับสำนักการโยธาเรื่องการสร้างถนนตามผังเมืองให้สอดคล้องกัน มีข้อบัญญัติเรื่องผังเมืองจำนวนมากที่ล้าสมัย ก็ต้องปรับปรุง ปัจจุบันมีการยกเลิก 11 ฉบับ ก็ปรับปรุงเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับโจทย์คน เช่น แถวลาดกระบังมีการนำพื้นที่มาวางตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งส่วนนี้ไม่ได้ควบคุมเพราะเขาไม่ได้สร้างสิ่งปลูกสร้าง แต่ปรากฏว่ามันส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตคนแถวนั้น กรณีนี้กฎหมายผังเมืองจะทำให้ทันสมัยได้อย่างไร เรื่องคลังสินค้าซึ่งมีกระจายอยู่ทั่ว กฎหมายผังเมืองอาจจะตามตรงนี้ไม่ทัน ผังเมืองก็จะปรับตรงนี้ให้ทันกับความต้องการของเมืองด้วย

 

สำหรับนโยบายเกี่ยวกับผังเมืองมีอยู่ 2 เรื่อง คือ การทำผังเมืองพิเศษเฉพาะเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดการกระจายของเมืองไปในทิศทางที่เราต้องการ ซึ่งตรงนี้เรามอง 2 จุด คือ เขตลาดกระบังกับเขตบางขุนเทียน ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการหาที่ปรึกษา อาวุธอีก 2 อย่างที่เราไม่ได้ใช้ คือ การจัดรูปที่ดินกับทำผังเมืองเฉพาะ ซึ่งจะสอดคล้องกับที่จะดำเนินการที่ลาดกระบังกับบางขุนเทียน ว่าเราสามารถนำแนวทางจัดรูปที่ดินมาใช้ได้หรือไม่ การจัดรูปที่ดินคือการนำที่ดินแต่ละแปลงมารวมกันและวางผังใหม่ โดยเจ้าของเดิมก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่ว่าตรงนี้ทำสวนแต่คนทำสวนไม่ได้ประโยชน์เลย ไม่มีมูลค่า คนทำที่อยู่อาศัยได้ประโยชน์เยอะ เอาทั้งหมดมารวมเป็นแปลงเดียวกันและเฉลี่ยผลประโยชน์ ทำให้ที่ดินแปลงใหญ่มีสิ่งต่างๆ ครบถ้วนได้ ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น 

 

สำหรับกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองในวันนี้ มีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร, ผู้บริหารสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง, ที่ปรึกษาโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4), บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด, เทิดศักดิ์ พ่วงจินดา (ผู้จัดการโครงการ), รศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมือง) และ ธนิชา นิยมวัน (ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมและขนส่ง) เข้าร่วมประชุม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X