วานนี้ (30 กรกฎาคม) ที่สภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวระหว่างการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 5) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุม
ชัชชาติกล่าวว่า ในที่ประชุมเป็นการเสนองบประมาณรายจ่ายประจำของปี 2568 ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งหลักการของ กทม. จะไม่มีการกู้เงิน แต่จะใช้เงินให้เท่ากับการประมาณการรายรับของ กทม. ซึ่ง กทม. อาจจะใช้เงินเกินงบประมาณฯ เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องของรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ต่อเนื่องมา
สำหรับการของบประมาณในปีนี้จะเน้นเรื่องของการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับเส้นเลือดฝอย จะเห็นได้จากการจัดสรรงบประมาณไปสู่สำนักงานเขตกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพราะว่าชีวิตของพี่น้องประชาชนจะเกี่ยวข้องกับสำนักงานเขตในพื้นที่เป็นหลัก เช่น น้ำท่วม ไฟฟ้าแสงสว่าง การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังมีการเสนอของบประมาณในโครงการขนาดใหญ่ของ กทม. เช่น การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ การก่อสร้างเขื่อน โรงงานกำจัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นการของบประมาณในโครงการที่ต่อเนื่อง
ชัชชาติกล่าวต่อว่า สำหรับการแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณ กทม. พ.ศ. 2568 ที่จะมีการเสนอบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถในการพิจารณางบประมาณ และมีประสบการณ์ในการตรวจสอบทุจริต เข้าไปเป็นคณะกรรมการนั้น ทางผู้บริหารกรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายถูกตรวจสอบ
ดังนั้นหาก กทม. ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบัญญัติ และข้อบังคับต่างๆ ถูกต้อง ไม่มีการทุจริต ก็พร้อมที่จะให้ตรวจสอบ และไม่ขัดข้องในการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ แต่ตามขั้นตอนต้องเป็นเรื่องของสภากรุงเทพมหานครในการตกลงกัน ซึ่งการจัดสรรงบประมาณฯ ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชน โดยสะท้อนผ่านสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เป็นหลัก ในการนำเสนอความต้องการของประชาชน สู่การแปรงบประมาณฯ
ซึ่งต้องร่วมมือกันระหว่างผู้บริหารกรุงเทพมหานครและฝ่ายนิติบัญญัติ ให้มีความโปร่งใสโดยยึดความต้องการของประชาชนเป็นหลัก และเป็นเรื่องดีที่ทุกฝ่ายมีความตื่นตัวในการตรวจสอบเรื่องความโปร่งใสร่วมกัน