วันนี้ (10 พฤศจิกายน) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และลานคนเมืองสู่พิพิธภัณฑ์เมือง กทม. ว่าจากแนวคิดที่จะย้ายที่ทำการไปอยู่ที่ศาลาว่าการ กทม. 2 (ดินแดง) เพื่อให้การติดต่อสื่อสารการทำงานสะดวกขึ้น
เนื่องจากปัจจุบัน กทม. มีที่ทำการ 2 แห่ง อาจจะทำให้การติดต่อดำเนินงานลำบาก และเพื่อเป็นการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่ามากขึ้น รวมถึงศาลาว่าการ กทม. 1 (เสาชิงช้า) มีอายุการใช้งานกว่า 60 ปีแล้ว เป็นพื้นที่ใหญ่ อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งถือเป็นแหล่งรวมประวัติศาสตร์ จึงจะนำมาพัฒนาพื้นที่เป็นพิพิธภัณฑ์
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 ชุด โดยชุดแรกจะดูเรื่องข้อกำหนดในการย้าย เพราะหน่วยงานที่อยู่ กทม. เสาชิงช้า มีทั้งหมด 8 หน่วยงาน และมีพนักงานกว่า 2,500 คน จะต้องพิจารณาในแง่การทำพื้นที่รองรับหน่วยงานเหล่านี้ด้วย
คณะกรรมการชุดที่สองคือดูเรื่องเนื้อหาว่าศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า และลานคนเมือง จะใช้เป็นพื้นที่ทำอะไร โดยคณะกรรมการชุดนี้จะเชิญบุคคลนอกเข้ามาหารือด้วย เพื่อให้เกิดการตั้งคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ทั้งการย้ายเพื่ออะไร ย้ายไปแล้วจะมีผลกระทบกับชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวรอบๆ หรือไม่ เพราะถือเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญที่ปัจจุบันจะมีข้าราชการ กทม. ไปจับจ่ายใช้สอย
ชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า มีการตั้งคำถามว่าหากเป็นพิพิธภัณฑ์แล้วจะเป็นสิ่งที่ไม่มีความเคลื่อนไหว ไม่มีคนเข้ามา เหมือนที่เคยมีหรือไม่ ซึ่งก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า เมืองควรเป็นแหล่งเรียนรู้ หรือพิพิธภัณฑ์ของเมือง เหมือนในจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และหลายเมืองทั่วโลก ที่คนเป็นศูนย์กลางของความเป็นเมือง หรือ People District ที่ไม่ใช่แค่พิพิธภัณฑ์ แต่เป็นการแสดงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของคน เพราะเมืองไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง แต่เป็นคน จึงเป็นเหมือนการรวมคนมาอยู่ในพิพิธภัณฑ์นี้
ดังนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการตื่นตัว และกระตุ้นความเชื่อมโยงกับบริบทพื้นที่รอบๆ อีกทั้งจะต้องเป็นสถานที่ที่ทำแล้วเป็นหมุดหมายสำคัญที่คนต้องมา ให้มีความน่าสนใจ น่าตื่นเต้น และมีชีวิตชีวา รวมถึงจะต้องเป็นที่ที่ทำให้คนมาทำกิจกรรมและมีส่วนร่วมได้ด้วย ตามนโยบายของ กทม. ที่ว่าต้องทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
ชัชชาติยอมรับว่าถือเป็นโจทก์ที่ยาก อุปสรรคยังมีอีกมาก เพราะไม่ใช่เรื่องงาน แต่ก็เป็นเรื่องที่สนุกและตื่นเต้น และเป็นความหวังของคณะกรรมการทุกคนที่จะทำให้เป็นรูปธรรมได้ โดยมีกำหนดระยะเวลาของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด เป็นระยะเวลา 2 ปี แต่เชื่อว่า 1 ปีก็จะเริ่มเห็นไทม์ไลน์ที่ชัดเจนขึ้นแล้ว
“สิ่งที่ผมกังวลคือแรงต่อต้านภายในจากพนักงานของ กทม. ที่ไม่อยากย้าย แต่ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดาของการทำงาน และข้าราชการ พนักงาน กทม. ก็ต้องเสียสละเพื่อให้ประชาชนได้มีหมุดหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่าข้าราชการ พนักงาน กทม. จะเข้าใจ ส่วนข้อกังวลของร้านค้ารอบๆ นำมาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาด้วย” ชัชชาติกล่าว
ชัชชาติกล่าวด้วยว่า การย้ายคนของ กทม. คงต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน แต่เชื่อว่าจะสามารถย้ายได้ทันในสมัยของตนเองแน่นอน เพราะอย่างน้อยจะต้องมีส่วนหนึ่งที่ย้ายได้