วันนี้ (21 พฤศจิกายน) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้เผยแพร่คลิป เนื้อหาเกี่ยวกับการชี้แจงภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยระบุว่า
“คนเราจะอดทนกับการแบกหนี้ได้นานแค่ไหน…ทำงานแต่ไม่ได้เงิน ต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกวัน…ผู้มีอำนาจโยนไปโยนมา ไร้การตัดสินใจ ถึงเวลาเข้ามาจัดการปัญหา อย่าหนีปัญหา…อย่าปล่อยให้เอกชนสู้เพียงลำพัง ถึงเวลาจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 40,000 ล้าน #ติดหนี้ต้องจ่าย”
ซึ่งในคลิปวิดีโอได้ปล่อยเสียงสัมภาษณ์ของ คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวว่า อย่าเพิ่งพูดเรื่องสัมปทาน จ่ายเงินที่ท่านควรจ่าย มัน 3 ปีกว่าแล้ว ตัวเงินถึงสี่หมื่นกว่าล้าน ใครก็รับไม่ได้
เพราะเอกชนผู้ลงทุนจ่ายทุกวัน พนักงานก็ต้องจ่าย ค่าไฟต้องจ่าย ทุกอย่างต้องจ่ายหมด ผู้ที่มีอำนาจ ผู้ที่บริหารประเทศอยู่ ไม่ว่าจะเป็น กทม. หรือการเมืองของประเทศต้องเข้ามาดูได้แล้ว
ดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน ท่านใดที่อยู่ในอำนาจควรคิดได้แล้วว่า ดอกเบี้ยที่ต้องเสียไป อย่างไรก็ต้องจ่ายผม มันเป็นสิ่งที่ใครเสียหาย ผมเชื่อว่าประชาชน ภาษีเราเสียหาย อย่าปล่อยให้มันลอยไปลอยมาอย่างนี้ จะเอาอย่างไร เพราะสิ่งหนึ่งที่เราไม่ทำอยู่อย่างเดียวก็คือว่า
เราไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ผมรับปากกับประชาชนกับทุกท่านว่าผมจะไม่ยอมหยุดรถ เพราะหยุดรถนี่ความเสียหายเกิดกับประชาชน ไม่ได้เกิดกับผมอย่างเดียว ไม่ได้เกิดกับนักการเมืองคนไหน
ผมเชื่อว่าผู้โดยสารของผม ผมต่อสู้ให้ท่านถึงทุกวันนี้ คงเข้าใจผมนะครับ
ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังจากประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า เรื่องนี้ทั้งหมดมีอยู่ 1 ประเด็นคือ กรุงเทพมหานครทำสัญญากับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) และทางเคทีได้สัญญากับเอกชนเพื่อจัดการเดินรถ ในข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครมีการระบุไว้ชัดเจนว่า การที่ กทม. จะไปสร้างภาระหนี้ผูกพันของงบประมาณใดๆ จะต้องผ่านทางสภากรุงเทพมหานครก่อน
ดังนั้นจะเห็นว่าการทำสัญญาในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ทางผู้บริหารไม่เห็นการอนุมัติจากสภา กทม. ทั้งที่การทำส่วนต่อขยายที่ 2 จัดอยู่ในภาระหนี้ผูกพันเพราะต้องจ่ายต่อเนื่องทุกปี จึงจะเห็นได้ว่ากระบวนการส่วนนี้ไม่สอดคล้องกับข้อบัญญัติ รวมถึงกระบวนการซื้อรถ ขบวนรถ ทางผู้บริหารจึงได้ทำหนังสือสอบถามกลับไปทางสภา กทม. ว่า ในส่วนนี้เคยผ่านการอนุมัติจากสภา กทม. หรือไม่ ถ้าปรากฏว่าไม่มีจะต้องมีการดำเนินการทำสัญญาใหม่ให้เรียบร้อย
แต่ในส่วนของการเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ไม่มีปัญหาอะไรเพราะผ่านที่ประชุมสภา กทม. เรียบร้อยแล้ว โครงการนั้นทางสภา กทม. เห็นชอบ และมีการก่อหนี้ผูกพันผ่านทางเคทีและเอกชน
ชัชชาติกล่าวต่อว่า ปัญหาอยู่ที่ขั้นตอนบางส่วนขาดหายไป ส่วนตัวมองว่า กทม. ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการเป็นหนี้และต้องชำระหนี้ แต่หนี้นั้นจะต้องผ่านกระบวนการถูกต้องตามกฎหมาย เช่นเดียวกันกับการรับโอนทรัพย์สินมาจากกระทรวงคมนาคม มิติที่มองเรื่องนี้ก็คือการก่อหนี้ผูกพัน เพราะการรับทรัพย์สินมาเท่ากับการรับหนี้มา
อย่างไรก็ตามถ้าสภา กทม. ไม่มีการอนุมัติผ่านเรื่องมาก็จำเป็นต้องทำให้ถูกกฎหมาย อาจจะต้องมีการทำสัญญาใหม่หลังจากนี้ ต่อเนื่องไปในอนาคต ทั้งนี้ ตอนที่ตนได้พิจารณาเรื่องนี้สืบสวนดูขณะที่ทำสัญญาเรื่องดังกล่าว มีความเห็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งบอกว่าเรื่องดังกล่าวต้องผ่านสภา กทม. อีกส่วนบอกว่าไม่ต้องผ่าน แต่ในความเห็นของคณะผู้บริหารมองว่าการมอบหมายงานคือการสร้างหนี้ แล้ว ตามหลักการคือต้องให้สภา กทม. ทำการเห็นชอบก่อน