×

ผู้ว่าฯ กทม. นำแถลงปมทุจริตจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ชี้ว่าปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ พร้อมให้ตรวจสอบเต็มที่ ไม่มีฮั้วเลือกบริษัท-ปั่นราคา

โดย THE STANDARD TEAM
06.06.2024
  • LOADING...

วันนี้ (5 มิถุนายน) ที่หน้าห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยตัวแทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT) ร่วมแถลงข่าวข้อสงสัยในการซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายของศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ และศูนย์กีฬาวารีภิรมย์

 

ชัชชาติกล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่เราเน้นย้ำเรื่องความโปร่งใสซึ่งเป็นนโยบายของเรา โดย กทม. มี 3 ส่วน มีฝ่ายบริหาร ฝ่ายประจำ และฝ่ายนิติบัญญัติ ทำงานร่วมกัน ซึ่งตาข่ายที่ช่วยเรื่องการป้องกันคอร์รัปชันมี 4 ขั้นตอน +1 ที่ต้องทำงานกันอย่างสอดคล้อง คือ 1. งบประมาณที่จะต้องดูให้รอบคอบ 2. กระบวนการเข้าสภานิติบัญญัติที่จะต้องช่วยกันตรวจสอบ ซึ่งเราเป็นอิสระ ไม่มีทีมในสภา 3. พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เป็นฝ่ายประจำที่ดูแล ตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง และ 4. การตรวจรับงาน และสุดท้ายคือกระบวนการทางภาคเอกชนที่มีส่วนอย่างมาก เช่น เว็บไซต์ ACT AI

 

อย่างไรก็ตามในส่วนของข้อบัญญัติที่เข้าสภาจะต้องเพิ่มความละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น ขณะที่ฝ่ายประจำจะต้องชี้แจงได้ การตรวจรับงานต้องเข้มข้นขึ้น การปรับปรุงต้องเป็นไปทั้ง 4 กระบวนการ ซึ่งกระบวนการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ต้องขอบคุณ ACT ที่มีข้อสังเกตขึ้นมา และทั้ง 3 ฝ่ายของ กทม. ต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ต้องยอมรับว่าปัญหานี้ไม่ได้หมดไป แต่มีอยู่ เราต้องเดินหน้าตรวจสอบและปรับปรุง ซึ่งเรามีคณะกรรมการป้องกันเรื่องการทุจริตอยู่แล้ว และสั่งให้ตรวจสอบทันทีที่ทราบเรื่องเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันในการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ตั้งแต่ 2 เดือนที่ผ่านมา เราเอาจริงจังและไม่ยอมรับการทุจริต ซึ่งประชาชนก็รับไม่ได้ ถ้าราคาสูงเกินไปต้องมีผู้รับผิดชอบ

 

ชัชชาติกล่าวอีกว่า เราต้องยอมรับว่าเรื่องความไม่โปร่งใสเป็นเรื่องใหญ่ของทุกองค์กร หากพบต้องขยายต่อ ซึ่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง จะต้องมีการปรับปรุงในอนาคต ยืนยันว่าผิดก็คือผิด ไม่ใช่ถูก ไม่ใช่บอกว่าเคยทำมาแล้วจะสามารถทำได้ ดังนั้นกระบวนการตรวจสอบราคากลางต้องเข้มข้นและตอบสังคมได้ พร้อมยืนยันว่าฝ่ายบริหารไม่มีกรอบในการกำหนดให้เอาเจ้าไหน จะไปปั่นราคาแบบใดทั้งสิ้น ต้องทำตามระเบียบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราชการและประชาชน หากมีคนทำผิดต้องไม่เอาไว้และดำเนินการให้เต็มที่ ซึ่ง สตง. ก็ทำหน้าที่ไป และคณะกรรมการตรวจสอบของเราก็จะทำหน้าที่คู่ขนานกันไป

 

ผิดคือผิด ผู้ว่าฯ ต้องรับผิดชอบ

 

เมื่อถามว่า กทม. ทราบว่ามีการทุจริตในช่วงใด ชัชชาติกล่าวว่า ตนเพิ่งทราบข่าว เพราะไปร่วมการประชุมผู้ว่าฯ โลก และเมื่อทราบก็ไม่สบายใจ ยังไม่รู้รายละเอียด ไม่อยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ต้องปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น เข้าใจว่าในการจัดซื้อจัดจ้างจะนำราคาที่เคยซื้อเป็นฐาน แต่ต้องมีการปรับปรุงระบบ ไม่ใช่แค่ กทม. แต่เป็นทั้งประเทศ และไม่ใช่เฉพาะเคสนี้ ซึ่งในแง่ของความไม่ดีก็มีข้อดีที่ทำให้เราเห็นปัญหาและขยายผลในเชิงโครงสร้าง

 

“ยอมรับว่ายังมีเรื่องไม่โปร่งใสอยู่ ถ้าเราไม่ยอมรับปัญหา เราแก้ปัญหาไม่ได้ มีก็ต้องมี ปรับปรุงได้แน่นอน ทางผมไม่เคยกลัว เพราะเราไม่เคยสั่งอะไรผิด ไม่เคยบอกว่าทำอะไรไม่ดี เรายินดีให้ตรวจสอบ ยืนแก้ผ้าให้ดูได้เลย เราไม่เคยกลัว ผิดก็ต้องผิด เพราะเราไม่เคยสั่งให้ทำผิด เราไม่กลัวที่จะไปตอบทุกคน ฝ่ายบริหารยืนยันไม่เคยไปสั่งให้ทำไม่ดี เรามีแต่สั่งให้โปร่งใส แต่ผมเป็นผู้ว่าฯ ผมต้องรับผิดชอบ ปฏิเสธไม่ได้ ถ้าบอกว่า กทม. โปร่งใส คือโกหก” ชัชชาติกล่าว

 

ส่วนโครงการนี้เริ่มตั้งแต่ผู้ว่าฯ คนเก่าหรือไม่ ชัชชาติกล่าวว่า ไม่ใช่ผู้ว่าฯ คนเก่า แต่โครงการนี้เป็นโครงการที่เราใส่เพิ่มจากโครงการอื่นที่โดนตัดเพื่อให้ผ่าน เพราะไม่อยากให้งบหายไป เพื่อให้สภากรุงเทพมหานครอนุมัติ ทำให้ไม่มีเวลาดูอย่างละเอียดเหมือนโครงการชุดแรก และจำนวนงบประมาณยังอยู่ในกรอบของโครงการ ฉะนั้นเราโทษคนอื่นไม่ได้ ยอมรับว่าทุกอย่างไม่ได้เพอร์เฟกต์ 100% การจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายมีมาหลายสมัย ในกรณีนี้พูดว่าแพง-ไม่แพงไม่ได้ แต่มีข้อสงสัย ประชาชนเอ๊ะ ถ้าเราไม่เอ๊ะก็บ้าแล้ว พร้อมย้ำว่าไม่เห็นโครงการนี้มาก่อน แต่เมื่อเห็นแล้วจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ซึ่งดีที่ประชาชนร่วมตรวจสอบ แต่จะหวังพึ่งประชาชนทั้งหมดไม่ได้ และเชื่อว่าปัญหานี้ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่หยั่งรากลึกมา 10-20 ปี ไม่ใช่แค่ กทม. แต่เป็นทั้งประเทศ เป็นข้อมูลจุดพลังที่ฉายไปในที่มืด

 

ชัชชาติกล่าวด้วยว่า ตามหลักอุปกรณ์ในศูนย์ต้องใช้ได้ ส่วนกรณีที่หม้อแปลงระเบิดทำให้ไม่สามารถใช้ได้นั้น ตนไม่ทราบ ยืนยันว่าจะตรวจสอบทุกโครงการของ กทม.

 

“หากพบว่ามีการทุจริตจริงจะต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา เราเชื่อมั่นว่าไม่ได้สั่งการ ดำเนินการตามกฎหมาย ถ้ามีการฮั้วเกิดขึ้น เชื่อว่ามีกฎหมายรุนแรงอยู่แล้ว” ชัชชาติกล่าว

 

พร้อมให้ความร่วมมือ สตง.

 

ด้านวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้ให้ข้อมูลทั้งหมดกับ สตง. ไปแล้ว และพร้อมให้ความร่วมมือ และผลการตรวจสอบเป็นอย่างไรก็พร้อมเปิดเผยให้ทราบ

 

กทม. ไม่ได้ตั้งราคาขึ้นเอง

 

ด้านสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กล่าวว่า เครื่องออกกำลังกายทุกศูนย์ขณะนี้ยังสามารถใช้งานได้และให้บริการอยู่ ยืนยันว่าประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการได้ทุกศูนย์ และตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ระบุว่า ให้คณะกรรมการต้องไปสืบราคาจากท้องตลาดไม่น้อยกว่า 3 ราย และนำราคาต่ำสุดมาเป็นราคากลาง และต้องเป็นบริษัทที่ขายเครื่องออกกำลังกาย ซึ่ง กทม. ไม่ได้ตั้งราคาขึ้นเอง โดยดำเนินการตาม e-bidding ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งหน่วยงานจะไม่ทราบคนประมูล จะทราบภายหลังการประมูลจบ ซึ่งราคาที่ได้มาหากไม่เกินราคากลางจะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง จึงอยากเชิญชวนให้เข้าร่วมประมูล

 

“กรุงเทพมหานครไม่ตั้งใจซื้อ 300,000-400,000 บาทแบบในโซเชียล ถ้าซื้อ 30,000 บาทได้ก็ดี 100,000-200,000 บาทได้ก็ยิ่งดี ถ้าเขายอมรับในความเสี่ยงและเงื่อนไข เครื่องออกกำลังกายของสำนักฯ ใช้ต่อเนื่อง 8 ชั่วโมง เพราะบริษัทจะต้องมาเปลี่ยนอุปกรณ์ทันที ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ต้องยกเครื่องออก บริษัทต้องยอมรับความเสี่ยงในเรื่องนี้ด้วย เพราะเราเปิดให้บริการประชาชนทุกวัน” สมบูรณ์กล่าว

 

สมบูรณ์กล่าวอีกว่า ซึ่งการสืบราคาจากบริษัทที่มั่นคง มีมาตรฐานว่าจะไม่ทิ้งงาน ไม่ทิ้งบริการหลังการขาย ของต้องมีคุณภาพ ซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคากลางแต่ละโครงการจะไม่ตรงกัน ทั้งนี้ขอให้รอการตรวจสอบ หากคณะกรรมการกำหนดราคากลางทำผิด ทุจริต ก็ต้องถูกลงโทษอยู่แล้ว
ส่วนคนที่จะประมูลได้ต้องมีหนังสือผลงานในการประมูลหรือไม่นั้น สมบูรณ์กล่าวว่า ถ้าไม่ใช้ก็จะเป็นประเด็นที่น่าห่วงที่จะนำของมาให้บริการประชาชน ซึ่งหากมีความจำเป็น คณะกรรมการกำหนดราคากลางสามารถกำหนดผลงานได้ไม่เกิน 50% ซึ่งเป็นระเบียบของกรมบัญชีกลาง กทม. ไม่ได้ตั้งขึ้นเอง

 

มีระบบตรวจสอบย้อนหลังจากเอกชน

 

ศานนท์กล่าวว่า ในรายละเอียดของโครงการมีจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ครบถ้วน จึงต้องมีผ่านประชาชนเข้ามาตรวจสอบ สิ่งที่เราพยายามทำมาตลอด ให้ประชาชนสามารถเข้ามาดูทุกสัญญาและข้อบัญญัติงบประมาณได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างข้อบัญญัติปี 2568 ซึ่งหากแล้วเสร็จจะเปิดให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบได้ และทุกโครงการจะเข้าไปในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ e-GP ที่กรมบัญชีกลางให้กรอกทุกโครงการที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง

 

ศานนท์กล่าวอีกว่า อยากให้มีระบบ AI เข้าไปตรวจสอบว่าหากการจัดซื้อใกล้กับราคากลางมากเกินไป หรือการ e-bidding ที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลงานน้อยกว่าปกติ หรือราคาที่ต่ำกว่า 40% จะมีธงขึ้นเตือน อย่างไรก็ตามจากข้อมูลเว็บไซต์ ACT AI พบว่าบริษัทที่ชนะประมูลเข้ามาตั้งแต่ปี 2565 เป็นปีที่เริ่มก่อนที่ทีมจะเข้ามาทำหน้าที่ และเป็นเจ้าเดิมที่ทำงานกับ กทม. มาก่อนแล้ว มีราคาลู่วิ่งที่เสนอมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ประมาณ 600,000 บาท และมีการจัดซื้อในปี 2566 และ 2567 ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนหลังไปได้

 

ขณะที่ตัวแทน ACT ระบุว่า ประชาชนต้องมีข้อมูลเพื่อสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ ซึ่งในเว็บไซต์ ACT AI เป็นข้อมูลที่ดึงมาจาก e-GP ของกรมบัญชีกลาง มีความน่าเชื่อถือได้ มีทั้งหมด 36 ล้านโครงการ งบประมาณทั้งหมด 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในกรณีของเครื่องออกกำลังกายตรวจเช็กได้ว่ามีผู้เสนอโครงการเพียงแค่ 2 ราย มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริต นอกจากนี้ในระบบยังสามารถตรวจสอบผู้ชนะประมูล รวมถึงชื่อกรรมการบริหารบริษัทว่าเป็นใคร ทำให้สามารถตรวจสอบการรับงานของบริษัทดังกล่าวได้

 

เพจดังพบความผิดปกติ 9 โครงการ กทม.

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก ‘ชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย’ เผยแพร่ข้อมูลระบุว่า กทม. จัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ศูนย์กีฬา กทม. จำนวน 9 โครงการ ประกอบด้วย

 

  • ศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ 4,999,990 บาท
  • ศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ 4,998,800 บาท
  • ศูนย์กีฬามิตรไมตรี 11 ล้านบาท
  • ศูนย์กีฬาอ่อนนุช 15.6 ล้านบาท
  • ศูนย์นันทนาการวัดดอกไม้ 11.5 ล้านบาท
  • ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 12.1 ล้านบาท
  • ส่วนนันทนาการ สำนักงานนันทนาการและส่งเสริมการเรียนรู้ 17.9 ล้านบาท
  • ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) 11.1 ล้านบาท
  • ครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกายผู้สูงอายุ 24 ล้านบาท
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X