วันนี้ (29 มิถุนายน) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เข้าหารือและรับหนังสือข้อเสนอแนะจากตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภค สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค และภาคประชาชน ถึงประเด็นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS
ภายหลังการหารือ สารีกล่าวว่า การพบผู้ว่าฯ กทม.วันนี้ เพื่อต้องการให้ กทม. รับฟังปัญหาของผู้บริโภคที่เป็นคนกรุงเทพฯ ว่าต้องเจอความยากลำบากในการใช้บริการรถไฟฟ้า BTS โดยเฉพาะปัญหาเรื่องราคาค่าโดยสารแพง
โดยวันนี้ได้ยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ คือ
- ขอให้ยกเลิกราคา 59 บาท เพราะจะทำให้เกิดเพดานราคาสูง ทำให้คนไม่สามารถใช้ได้ทุกวัน ซึ่งถ้าให้เป็นราคาตลอดสาย อาจส่งผลต่อการเข้าถึงการใช้บริการของผู้บริโภค
- ขอให้ กทม. เก็บค่าโดยสารที่ 44 บาทตลอดสาย ทั้งสองฝั่งของส่วนต่อขยาย เพื่อดูแลบริษัทรับสัมปทาน และเพื่อเป็นต้นแบบให้กับรถไฟฟ้าสายอื่นต่อไป เนื่องจากไม่มีประเทศไหนที่คิดค่าบริการประชาชนเท่ากับเงินที่ลงทุนไป เพื่อให้เป็นมิตรกับผู้บริโภคที่จะสามารถใช้บริการได้ แต่รัฐบาลจะต้องเข้ามาสนับสนุนค่าบริการบางส่วน
- ขอให้มีการแก้ไขสัญญาการเดินรถที่ต่อสัญญาไปถึงปี 2585 ซึ่งเป็นการทำสัญญาเกินสัญญาสัมปทาน เพราะสัญญาสัมปทานจะหมดในปี 2572 จึงขอให้หาทางแก้ปัญหานี้ หากยกเลิกการเดินรถที่เกินสัญญาสัมปทานได้ เชื่อว่าจะทำให้ผู้บริโภคได้ราคาที่เป็นมิตรมากขึ้น
- สนับสนุนให้ กทม. ไม่ต่อสัญญาสัมปทาน และขอให้ใช้วิธีการประมูลแข่งขันการทำสัญญากับเอกชน
- เสนอว่าหลังหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ราคาค่าบริการควรอยู่ที่ 25 บาท และขอให้กลับมาใช้ตั๋วรายเดือนและตั๋วนักเรียน พร้อมเปิดเผยสัญญาสัมปทานใหม่
ด้านชัชชาติกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อนั้น เรื่องค่าบริการ 59 บาท กับ 44 บาท เบื้องต้นจะลองพิจารณากรอบราคา 44 บาท ว่าถ้าใช้ราคาเท่านี้ กทม. ต้องชดเชยเงินเท่าไร และถ้า 59 บาท ต้องชดเชยเงินเท่าไร แล้วจะนำมาให้สภาผู้บริโภคฯ พิจารณาอีกครั้ง
ซึ่งการกำหนดราคา 59 บาท เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ตามข้อเสนอแนะของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งปัจจุบันการให้บริการรถไฟฟ้า BTS ในพื้นที่ส่วนที่เป็นในเมืองเดิมก็คิดราคา 44 บาทอยู่แล้ว หากคิดราคาตลอดสายรวมส่วนต่อขยายในราคา 44 บาทเท่าเดิม การวิ่งส่วนต่อขยายส่วนที่ 1-2 เท่ากับ กทม. ไม่ได้เงินเลย ดังนั้นต้องไปดูความเป็นไปได้ว่าจะต้องจ่ายเงินชดเชยเท่าไร และต้องไปเปรียบเทียบกับค่าโดยสารสายอื่นด้วย
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ในส่วนการเปิดเผยสัญญาสัมปทานนั้น ในข้อสัญญามีข้อตกลงว่าห้ามเปิดเผย ดังนั้นต้องดูข้อกฎหมายว่าจะเปิดได้หรือไม่อีกที ซึ่งวันนี้เป็นการรับข้อเสนอ ส่วนตัวถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและจะต้องดูให้สมดุล มีทั้งคนที่ใช้รถไฟฟ้า BTS และไม่ใช้รถไฟฟ้า BTS ซึ่งจะต้องดำเนินการส่วนนี้ด้วย
ทั้งนี้ สัญญาว่าจ้างเดินรถที่ลงนามไว้แล้วจากปี 2572 ไปสิ้นสุดปี 2585 คือปัญหาหลักที่เจอ ทำให้การตัดสินใจของ กทม. เป็นไปได้ยาก เพราะมีการลงนามไปแล้ว และในส่วนค่าใช้จ่ายกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ต้องไปดูว่าทำอย่างไรให้สัญญาการจ้างเดินรถไม่ต้องถึงปี 2585 และหากได้กลับมาหมดสัญญาสัมปทานปี 2572 ก็จะทำให้เกิดการประมูลใหม่ มีการแข่งขันที่เป็นธรรมขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประเด็นภาระหนี้สินที่ กทม. ยังติดค้างจ่ายเอกชนค่าจ้างเดินรถและหน่วยงานรัฐจากหนี้โครงสร้างพื้นฐาน ชัชชาติกล่าวว่า หากต้องจ่ายจะต้องมีความชัดเจนว่าหนี้ที่มีนั้นที่มาที่ไปของภาระหนี้ที่เกิดขึ้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะจากเอกชน และจะต้องพิจารณาด้วยว่าเงินที่จะนำมาชำระมาจากแหล่งเงินกู้ใด ซึ่งหากกู้เงินจากหน่วยงานรัฐ ดอกเบี้ยก็จะถูกกว่าเอกชน และส่วนใดที่รัฐบาลจะเข้ามาสนับสนุน กทม.